สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ไม่เพียงส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้หลายธุรกิจบาดเจ็บจนทนผิดบาดแผล ไม่ไหว ต้องขอโบกมือลาวงการไปตั้งหลัก แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะแวดวงสตาร์ทอัพ
จากข้อมูลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ระบุว่า สถานการณ์โควิด 19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น ที่มุ่งเป็นนักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ เมื่อต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่สุดท้าทาย หลังจากถูกโควิด-19 เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ทำให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากแนวทางเดิมๆ นำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้เกิดความหลากหลายสาขาของวิสาหกิจเริ่มต้นที่พร้อมเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกันให้รอดพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันผ่านการสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในรูปแบบใหม่
พิสูจน์ได้จากตัวเลขการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่เกิดในช่วงวิกฤตและมาพร้อมวิถีใหม่ (New Normal) เกือบ 25 – 50% เป็นวิสาหกิจเริ่มต้นที่เกิดขึ้นใหม่สำรวจภาพรวมวิสาหกิจเริ่มต้น
จากข้อมูลของศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย พบว่า 95 % ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันความผันผวนในตลาด ทำให้ขาดกำลังซื้อจากผู้บริโภคบนช่องทางการขายแบบเดิม ส่งผลให้ธุรกิจไม่มีรายได้เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการประชุมระดมความเห็นกับตัวแทนจากวิสาหกิจเริ่มต้นและหน่วยงานใน ระบบนิเวศจำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่
- สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA)
- สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA)
- สมาคมฟินเทค ประเทศไทย
- สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย
- สมาคมไทยบล็อคเชน
- สมาคมโปรเกรมเมอร์ไทย
- กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการศึกษา
- 8. กลุ่มสตาร์ทอัพด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ
- กลุ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตร
- สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC)
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)
- สื่อด้านเทคโนโลยี
- หน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่ได้รับการรับรอง
เร่งเครื่องช่วยวิสาหกิจเริ่มต้นพ้นวิกฤต
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นโจทย์เร่งด่วนที่ทำให้ NIA เดินหน้าช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่วิสาหกิจเริ่มต้น เสริมสภาพคล่องให้ตลาดใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่เพื่อทดแทนวิสาหกิจเริ่มต้นรายเดิมที่ปิดกิจการไป ผ่าน 6 แนวทาง ดังนี้
1. เพิ่มสภาพคล่องให้วิสาหกิจเริ่มต้นทุกระดับ ในรูปแบบการสนับสนุนเงินให้เปล่าจากภาครัฐ สนับสนุนสินเชื่อและดอกเบี้ยจากธนาคารภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการระดมทุนจาก Venture Capital หรือ Corporate Venture Capital รวมทั้งสามารถเข้าระดมทุนผ่านเครื่องมือในตลาดทุน
2. ฟื้นฟูตลาดและการพัฒนาตลาดใหม่ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้รูปแบบธุรกิจหรือช่องทางการจัดจำหน่ายเดิมของวิสาหกิจเริ่มต้นไม่สามารถดำเนินการได้หรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และวิสาหกิจเริ่มต้นไปสู่ช่องทางการตลาดแบบใหม่ พร้อมทั้งมีมาตรการสนับสนุนทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
และในส่วนของภาครัฐทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้จัดทำโครงการ Startup Marketplace ขึ้นเพื่อสนับสนุน Startup และช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และให้เข้าถึงบริการของสตาร์ทอัพให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า เช่น B2B B2C
3.สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สร้างมาตรการทางภาษีสนับสนุนการใช้งานสตาร์ทอัพไทย ช่วยเจรจากับผู้ให้บริการเรื่องการลดราคาในส่วนที่กระทบกับค่าใช้จ่ายของสตาร์ทอัพในช่วงนี้ ตลอดจนผลักดันกฎหมายเพื่อสนับสนุนการให้บริการของสตาร์ทอัพ
4.ส่งเสริมความรู้และการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่ เพื่อให้วิสาหกิจเริ่มต้นสามารถปรับตัวให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้ได้ จำเป็นต้องเสริมองค์ความรู้การบริหารจัดการองค์กรในสภาวะวิกฤต ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ การบริหารบุคลากร รายได้ และต้นทุนการบริหารจัดการคู่ค้า นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่เพื่อทดแทนวิสาหกิจเริ่มต้นที่ปิดกิจการไป
5.สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับสร้างการรับรองสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพในลักษณะ Thailand National Startup Team เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและการเป็นตัวเลือกในการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสร้างแนวทางให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ
6.เพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวทางเฉพาะด้านให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ เช่น วิสาหกิจเริ่มต้นด้านการศึกษา (EdTech) แนวทางการสอนออนไลน์ทั้งใช้ในการเรียนการสอน การอบรมเพื่อ Re-skill และ Up-skill วิสาหกิจเริ่มต้นด้านสุขภาพ (Health Tech) การผลักดันกฎหมาย เพื่อเร่งให้เกิดแนวทางใหม่ๆ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรกรยอมรับอย่างรวดเร็วขึ้น วิสาหกิจเริ่มต้นกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้สื่อสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าตลาดเติบโต ตลอดจนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรที่จะมาตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกและประเทศ นำผลิตภัณฑ์และบริการเข้าไปตอบโจทย์เชื่อมโยงกับตลาดได้
อีเว้นต์โลกนวัตกรรมเสมือนจริงครั้งแรกของไทย
นอกจากจะช่วยวางแนวทางเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจเริ่มต้น อีกหนึ่งไฮไลท์ของแวดวงสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา ต้องยกให้งาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ซึ่งเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของเหล่าสตาร์ทอัพและนวัตกรรมชั้นนำของไทยที่เข้ามาร่วมกันแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ ในการจัดงานในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริง “Virtual World” ครั้งแรกของประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งนวัตกรรมการจัดงานเสมือนจริงที่สมบูรณ์แบบที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่งของประเทศไทย แต่ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้น จากการรวมหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่ หน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยหรือระดับโลกมารวมกันในงานเดียว เพื่อร่วมพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น

ผลลัพธ์จากการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากสร้างกระแสตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมเพื่อรับมือภาวะวิกฤตในระดับโลกที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคตแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุนมากกว่า 15,000 ราย สร้างเม็ดเงินที่พร้อมลงทุน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการของ 200 สตาร์ทอัพผ่านตลาดสินค้าออนไลน์ กว่า 42,000 ครั้ง คาดว่าจะเกิดการจ้างงานด้านนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 1,500 อัตรา ที่สำคัญยังเกิดสินทรัพย์ใหม่ด้านข้อมูลจากการนำศาสตร์การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) มาใช้ในงานเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสร้างโอกาสทางธุรกิจนวัตกรรม และเกิดการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data driven innovation) โดยก้าวต่อไปของงาน Startup Thailand x Innovation Thailand 2021 จะมุ่งโฟกัสไปที่ DeepTech Rising หรือ เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกปีหน้า
ทั้งหมดนี้คือไฮไลท์สำคัญในเชิงเศรษฐกิจของวงการสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา ในบทความต่อไปจะไปติดตามทิศทางการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ