สตาร์ทอัพกับวิกฤตปี 2020
ปี 2020 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แทนที่ “มาตรฐานโลก ใบเก่า” ด้วย “วิถีความปกติใหม่” อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตของผู้คน สภาพเศรษฐกิจและสังคม วงการธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี
คำถามคือ เมื่อโลกเปลี่ยนอย่างไม่ทันตั้งตัวเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับวงการสตาร์ทอัพ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้ในเชิงตัวเลข ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อาจดูไม่รุนแรงเท่าวิกฤตไข้หวัดหมู หรือสึนามิ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เกิด ความวิตกกังวลไปทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” เกิดได้ยากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ หันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าความต้องการใหม่ๆ ขณะที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอาศัย ภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยประคับประคองให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต NIA มองว่า สตาร์ทอัพต้องรักษากระแสเงินสด เพราะปัญหาใหญ่ของสตาร์ทอัพไทยไม่ได้ล้มตายเพราะขาดไอเดียการทำธุรกิจ แต่เกิดจากการบริหารการเงินที่ผิดวิธี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่รายได้ทุกบริษัทแทบจะติดลบ บริษัทสตาร์ทอัพต้องวางแผนรักษาเงินสดแบบเร่งด่วนทันที และควรมีเงินสดสำรองเพียงพออย่างน้อย 12-18 เดือน เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะกินระยะเวลา แม้วิกฤตการณ์จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังต้องรัดเข็มขัด ประหยัดต้นทุน เนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตอาจทำให้ ข้อตกลงด้านธุรกิจที่เป็นประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับบริษัทล่าช้าไปอย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจนาน กว่านั้น เพราะฉะนั้นบริษัทต้องจัดการกับงบประมาณให้สอดคล้องความเป็นจริงมากที่สุด โดยอาจพักการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่จะไม่ถูกใช้งานและเป็นรายจ่ายในช่วงนั้นทันที ย้ายงบการตลาดมาอยู่บนช่องทางที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เช่น โซเชียลมีเดีย รวมถึงพิจารณามาตรการเพื่อการอยู่รอดอย่างการลดเงินเดือน หรือลดจำนวนพนักงาน
หลังจากจัดระเบียบการบริหารภายในแล้ว ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพยังต้องใช้เวลาช่วงวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการติดอาวุธความรู้เสริมทักษะให้ตัวเอง หาเวลากางงบการเงิน วางแผนการตลาด ปรับปรุงระบบ หลังบ้านต่างๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ทำในสถานการณ์ปกติ ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสที่ไม่เพียงจะทำให้ธุรกิจกลับมาเดินต่อได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่โอกาสใหม่ๆ จากความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤต ด้วยการถอยออกจากกรอบความคิดเดิมๆ หาลู่ทางในการขยับปรับเปลี่ยนธุรกิจบางส่วน ให้เหมาะกับสถานการณ์ ยกตัวอย่าง การนำระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth) หรือแพลตฟอร์ม การเรียนการสอนออนไลน์เข้ามาทดแทน หรือบางสตาร์ทอัพถึงขนาดเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ เช่น Isinnova สตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียน กระโดดมาผลิตเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ช่วยหายใจทางการแพทย์จากนวัตกรรม 3D-printing ของตัวเอง
ขณะเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องจากเงินลงทุนที่ลดลง หรือถูกถอนการลงทุนเนื่องจากพาร์ตเนอร์ธุรกิจ คู่ค้า และกลุ่มนักลงทุนเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จึงควรมองหาแหล่งเงินทุนสำรอง เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือเข้าร่วมการประกวดสำหรับสตาร์ทอัพเพื่อคว้าเงินลงทุนใหม่
ค้นหาโอกาสในวิกฤต สร้างสตาร์ทอัพวิถีใหม่
อ่านมาถึงตรงนี้ คำถามใหญ่ที่ผุดขึ้นในใจเหล่าสตาร์ทอัพที่กำลังรับมือกับวิกฤตอย่างสุดความสามารถคือ แม้จะเชื่อว่าทุกวิกฤตย่อมแฝงไปด้วยโอกาส แต่จะมองหาโอกาสที่สดใหม่เพื่อสร้าง new S-curve ให้ธุรกิจได้อย่างไร โอฬาร วีระนนท์ นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้สรุปเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น และส่งผลต่อสตาร์ทอัพ ดังนี้
1.มนุษย์จะกลับไปโหยหาและยึดโยงกับธรรมชาติ ที่เห็นได้ชัดคือ นวัตกรรมฟินเทคจะถูกพัฒนาให้เชื่อมโยงกับการสร้างเศรษฐกิจแนว BCG (bioeconomy, circular economy, green economy) ที่เน้นความสมดุลและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ นวัตกรรม และธรรมชาติไปพร้อมกัน
2.ความโปร่งใส เชื่อมั่น เข้าถึงได้ คือ หัวใจที่คนต้องการ ขณะที่โลกใบเดิมถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยนวัตกรรม โดยมี “5G data networks” เป็นตัวเร่งความเร็ว และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้คนต้องการความมั่นใจในการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะนวัตกรรมภาครัฐ (GovTech) เช่น การจ่ายเงินชดเชยผ่านแอป กระบวนการธุรกรรมออนไลน์ของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งการลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ฯลฯ หรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง DLT (distributed ledger technology) ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นส่วนหนึ่งจะถูกนำมาใช้มากขึ้นทั้งในระดับประเทศ และย่อย ลงมาถึงภาคธุรกิจและประชาชนในหลากหลายวงการ ทั้งการศึกษา อี-คอมเมิร์ซ อสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาเมืองและชุมชน จะต้องมีความปลอดภัย โปร่งใส และทุกคนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ร่วมกัน
3.เร็ว แต่ไม่ประมาท พลาดได้ แต่ไม่เจ็บหนัก หัวใจในการทำธุรกิจยุคต่อไปของสตาร์ทอัพและบริษัทนวัตกรรมต่างๆ คือ การปรับตัวเพื่อให้สามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ รวมถึงขยายธุรกิจที่ ตอบโจทย์ความต้องการผู้คนได้รวดเร็วขึ้น ขณะที่เทรนด์การทำธุรกิจโดยใช้แนวคิด “คิดเร็ว ทำเร็ว ร่วมมือกัน” ขององค์กรเล็กและใหญ่จะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
4.คุณค่าของชีวิตจะไม่ใช่แค่เงิน แต่คือสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และครอบครัว จากนี้จะเกิดโครงสร้างการทำงานแบบใหม่เพื่อตอบรับการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ “remote work” ที่แม้จะไม่เข้าออฟฟิศก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้ดี รวมถึงกระแส “well-being & HealthTech” ซึ่งมาจากการที่ผู้คนตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพทั้งในการทำงาน ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น
5.โอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่เชื่อมโยงโลกจริงและโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการใช้ AR (augmented reality), VR (virtual reality) และ MR (mixed reality) เพื่อให้ผู้คนเปิดทุกประสาทสัมผัส และได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย จะกลายเป็นเทรนด์ที่นิยมในแทบทุกวงการ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมบันเทิงและเกม แต่ยังรวมถึงวงการการศึกษา สาธารณสุข การเงิน กีฬา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบจากโควิด-19 จะซัดเข้าใส่โลกธุรกิจเข้าอย่างจัง ในอีกมุมกลับก่อให้เกิดนวัตกรรมที่น่าสนใจในยุคความปกติใหม่ ใน 3 มิติ ได้แก่
1.เศรษฐกิจไร้สัมผัส (Touchless Economy) โควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่อยากสัมผัสสิ่งต่างๆ เอื้อให้สังคมไร้เงินสด (cashless society) มาแล้วเร็วกว่าที่คิด นวัตกรรมกลุ่มธุรกิจการชำระเงินออนไลน์ ระบบการจัดส่งสินค้า การรับส่งของแทนกันกลับมีนวัตกรรมในการบริการเพิ่มสูงขึ้นมาก เกิดการอพยพจากเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ไปสู่เศรษฐกิจฐานข้อมูล (data economy) อย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
2.สังคมแห่งความเชื่อถือ (Trust Society) วิถีของฝั่งผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการเข้าถึงข้อมูลได้ลึกและ ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการมีประสบการณ์ร่วมเมื่อได้มีโอกาสทดลองสินค้านั้นๆ ด้วยตนเอง เปิดทางให้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์เรื่องความเชื่อใจ/เชื่อมั่นสินค้าหรือบริการที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งบริการสาธารณะ เช่น การติดต่อหน่วยงานราชการผ่านแชทบอทของระบบคอลเซ็นเตอร์
3.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusiveness) ด้วยนวัตกรรมต่างๆ อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกลที่ช่วยให้คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคติดต่อประมาณ 750,000-1,000,000 คน ออกจากระบบโรงพยาบาลมาใช้แพลตฟอร์ม เทเลเฮลท์ของสตาร์ทอัพไทยในการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อลดความแออัดภายในโรงพยาบาล เครือข่าย ThaiSave และ InfoAid ที่พยายามดูแลคนแก่ ผู้ป่วยติดเตียง คนไข้ที่ไม่มีคนดูแล คนพิการ เด็กด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ
NIA...หนุนสตาร์ทอัพไทยสู้ต่อ
แน่นอนว่าในช่วงวิกฤต NIA มีการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน ซึ่ง NIA มีการสนับสนุนด้านเงินทุนให้เปล่า เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ เพื่ออนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษสำหรับสตาร์ทอัพและ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างตลาดใหม่ และส่งเสริมการเติบโตให้สตาร์ทอัพไทย ด้วยการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดภาครัฐได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างของตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ GPT และแพลตฟอร์ม “YMID Portal” เป็นต้น ขณะเดียวกันยังส่งเสริมความรู้และการพัฒนาสตาร์ทอัพผ่านหลักสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งระดับเยาวชน และสตาร์ทอัพทั่วไป
สิ่งที่น่าภูมิใจคือ แม้จะเป็นปีที่ท้าทาย แต่จากรายงานผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (Gll) ประจำปี 2563 จัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก และครองอันดับ 1 ในฐานประเทศที่มีค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยองค์กรธุรกิจต่างๆ และมีการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ มากที่สุดของโลก
ผลงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ เพียงเร่งเสริมมาตรการที่เป็นจุดด้อยให้ตรงจุด โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์และการวิจัย และการเชื่อมโยงต่อยอด การสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในการสร้างการไต่ระดับพัฒนาการทางนวัตกรรมที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ในบทความต่อไปจะพาไปติดตามไฮไลต์ของวงการสตาร์ทอัพไทยในเชิงเศรษฐกิจช่วงปีที่ผ่านมา จะมี ดาวเด่นในธุรกิจไหน นวัตกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้าง
TAGGED ON