S&P เตือนธนาคารไทยระวังหนี้สินครัวเรือน - Forbes Thailand

S&P เตือนธนาคารไทยระวังหนี้สินครัวเรือน

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Nov 2014 | 01:44 PM
READ 2375

บริษัทจัดอันดับความเชื่อถือระดับโลก Standard & Poor's เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับระบบการเงินในภูมิภาคอาเซียน "ASEAN Financial Integration: The Long Road To Bank Consolidation" โดยสนับสนุนให้มีการควบรวมในภาคการเงินของภูมิภาคให้เสร็จสิ้นในปี 2020 เพื่อความเข้มแข็งในการต่อกรกับธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลก แม้ว่าความแตกต่างกันในแต่ละประเทศจะเป็นอุปสรรคก็ตาม


 

ทั้งนี้ S&P ได้ประเมินสถานการณ์ธุรกิจธนาคารในประเทศไทยว่า จากวิกฤตทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ธุรกิจธนาคารปล่อยกู้เพียง 1.5%  แม้ว่าในช่วงครึ่้งปีหลังจะฟื้นตัว แต่การเติบโตของสินเชื่อตลอดทั้งปีจะยังต่ำกว่า 8% น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปี แม้รัฐบาลโดย คสช.ได้เพิ่มกรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็น 2.4 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2015-2022 แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้สินเชื่อเติบโตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้ 

 

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ผสมด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และหนี้สินครัวเรือนในระดับสูง อาจบั่นทอนมูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารไทยได้ เนื่องจากต่างรุกหนักในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2012 และต้นปี 2013 ซึ่งเกิดจากนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม  S&P ยังประเมินว่ายอดหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะไม่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใน 12-24 เดือนต่อจากนี้ เพราะเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจกำลังปรับตัว เนื่องจากการเมืองเข้าสู่ความมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้การเสื่อมมูลค่าของสินทรัพย์บรรเทาเบาลง ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารไทยได้เพิ่มความกวดขันมากขึ้น จึงช่วยจำกัดการเกิดหนี้เสียได้ โดยธนาคารส่วนใหญ่ได้เพิ่มวงเงินกันสำรองหนี้สูญไว้แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

สำหรับภาพรวมของธุรกิจการเงินระดับภูมิภาค S&P มองว่า การควบรวมกิจการธนาคารในภูมิภาคที่มีเป้าหมายเสร็จสมบูรณ์ในปี 2020 จะก่อให้เกิดธนาคารขนาดใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับธนาคารใหญ่ระดับโลกได้ และจะช่วยทำให้ระบบการเงินภายในมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้กิจการธนาคารมีความยืดหยุ่น สามารถรับแรงปะทะจากภายนอกภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น แต่การเปิดเสรีในกิจการธนาคารที่เอื้อต่อการควบรวม จะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ย่อมทำให้สถาบันการเงินในแต่ละประเทศไม่ตอบรับนัก 

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 ที่จะเกิด AEC ซึ่งมีผลต่อการเปิดเสรีสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมือ จะทำให้อาเซียนกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลก มี GDP รวมประมาณ 2.4 ล้านล้านเหรียญ อีกทั้งยังมีประชากรถึง 625 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นวัยหนุ่มสาว กำลังเติบโต และช่วยกระตุ้นอัตราการบริโภค และคาดว่า GDP ของภูมิภาค จาก 4.9% ในปี 2014 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% ในปี 2016  ถือว่าเติบโตเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีนเท่านั้น การค้าขายระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้นภายในกลุ่มอาเซียน จะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารในภูมิภาคขยายตัวเพื่อให้บริการลูกค้าของตัวเอง

 

S&P เชื่อว่า หน่วยงานกำกับดูแลกิจการธนาคารในแต่ละประเทศ จะดำเนินการเปิดเสรีทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ธนาคารในประเทศมั่นใจว่ามีความเข้มแข็งในการแข่งขัน ก่อนจะเข้าสู่การเปิดเสรีเต็มรูปแบบ อุปสรรคที่ขัดขวางการควบรวมนอกจากจะเป็นค่าใช้จ่ายในการควบกิจการที่สูงแล้ว ยังขึ้นกับลักษณะเฉพาะของกิจการธนาคารในแต่ละประเทศ เช่นในฟิลิปปินส์เป็นกิจการของครอบครัว ส่วนธนาคารในมาเลเซียก็มีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ทำให้การควบรวมยากลำบากเพิ่มขึ้น

 

S&P ประเมินเครดิตของธนาคารในอาเซียนโดยรวมยังคงที่ ยกเว้นแต่มาเลเซีย โดยคาดหวังว่าธนาคารจะขยายสินเชื่อของตัวเองอย่างรอบคอบในไตรมาสต่อๆ ไป พร้อมกับปรับปรุงวินัยในการปล่อยกู้ ในขณะที่ธนาคารอาเซียนยังมีแหล่งทุนที่มาจากเงินฝากของลูกค้ารายย่อย สะท้อนให้เห็นอัตราการออมที่สูงและข้อจำกัดของรายได้ อย่างไรก็ตามโมเดลระดมทุนผ่านเงินฝากนั้น ถือเป็นเกราะป้องกันธนาคารจากความผันผวนทางการเงินอีกทางหนึ่ง