ShopBack สู่ประเทศไทยแบ่งเปอร์เซ็นต์สร้างความต่างจาก Affiliate Marketing - Forbes Thailand

ShopBack สู่ประเทศไทยแบ่งเปอร์เซ็นต์สร้างความต่างจาก Affiliate Marketing

ShopBack เปิดตัว เว็บไซต์ให้เงินคืนสำหรับนักช้อปออนไลน์เชื่อมระหว่างร้านค้าชั้นนำจากในและต่างประเทศ ชูการแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้กับลูกค้าเป็นเงินจริง

กวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประจำประเทศไทย อดีตพนักงาน Lazada Thailand และ Uber เผยถึงรูปการให้ส่วนลดในรูปแบบเป็นเงินคืนครั้งแรกในประเทศไทย จากการซื้อค้าภายในเว็บไซต์ของ ShopBack ที่เชื่อมต่อเข้ากับเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งเป็นพันธมิตรกว่า 1,300 รายทั่วโลก “เงินคืนนี้จะโอนเข้าสู่ E-wallet ในเว็บไซต์ของ ShopBack ซึ่งนักช้อปสามารถนำสิทธิประโยชน์เหล่านี้เปลี่ยนเป็นการโอนเงินเข้าสู่บัญชีธนาคารของลูกค้าเองได้ ShopBack ได้จ่ายเงินคืนให้กับนักช้อปในภูมิภาคนี้รวมกันถึงมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว” กวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประจำประเทศไทย กล่าว กวิน กล่าวถึงภาพรวมของ ธุรกิจ e-commerce ที่ปัจจุบันต่างต้องการสร้างความแตกต่างเพื่อดึงดูดนักช้อปออนไลน์ การรวบรวมเว็บไซต์ต่างๆ และเชื่อมต่อผ่านหน้าเว็บไซต์ผสานกับกลยุทธ์ Affiliate Marketing ในการแบ่งค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับจากเว็บไซต์ต่างๆ มาชูเป็นจุดเด่น อาทิเช่น Lazada, Sephora หรือแม้กระทั่งการใช้บริการ Grab หรือ Uber ผ่าน ShopBack  ซึ่งสำหรับพันธมิตรร้านค้าออนไลน์ที่เข้าร่วมกับ ShopBack ในประเทศไทย กวินคาดที่ปลายปีนี้มากกว่า 100 ร้าน และตั้งเป้าคืนเงินให้กับลูกค้าราว 10 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากการช้อปสินค้าผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของตน “กลไกการคืนเงินของ ShopBack จะแยกออกจากส่วนลด บัตรกำนัล โค้ดส่วนลด หรือข้อเสนอต่างๆ จากร้านค้า คอนเซ็ปต์การคืนเงินของ ShopBack จะแตกต่างจากเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์อื่นๆ หรือโปรโมชั่นเงินคืนของบัตรเครดิต ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดมากมาย ในขณะที่เงินคืนที่ได้จาก ShopBack นั้น สามารถโอนเข้าสู่บัญชีธนาคารของนักช้อปได้โดยตรง” ทั้งนี้กลไกการให้เงินคืน (Cashback) ได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา สำหรับการเปิดตัว ShopBack ในประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 6 ในภูมิภาคนี้ โดยเปิดตัวที่ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักใหญ่ เมื่อปี 2557 และเปิดตัวใน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และประเทศไทย โดยประเทศที่ทำรายได้มากที่สุดคืออินโดนีเซียซึ่งเป็นไปตามกลไกจำนวนประชากร ทั้งนี้ ShopBack ได้รับเงินลงทุนจาก Accel-X และ East Ventures เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ