ดีมานด์แพคเกจจิ้งหนุนรายได้ SCGP ปี'64 เติบโต 9.3 หมื่นล้าน กำไร 6.5 พ้นล้านบาท พร้อมตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านขยายธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า แม้ต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจและการระบาดของโรคโควิด -19 แต่บริษัทสามารถสร้างผลการดำเนินงานของบริษัททั้งปี 2563 เติบโตต่อเนื่อง ด้วยรายได้จากการขาย 9.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน กำไรสุทธิ 6.46 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน และมี EBITDA (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืมตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562) เท่ากับ 1.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน สำหรับการเติบโตดังกล่าวมีปัจจัยจากการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย การบริหารต้นทุน วัตถุดิบ และซัพพลายเชนที่มีการปรับพอร์ตการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การขยายฐานธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) และการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) เพื่อขยายฐานธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนจุดแข็งและสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) กับ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. และ Visy Packaging (Thailand) Limited ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยมีรายได้จากการขาย 2.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 1.49 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 4.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์อาหาร (Foodservice Packaging) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โรคระบาดในบางประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) สินค้าอุปโภคบริโภค การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา SCGP ได้เข้าลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ในประเทศเวียดนาม เพื่อการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำและเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการบูรณาการกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำของ SCGP ในประเทศเวียดนาม และการลงทุนล่าสุดใน Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำ จะส่งผลให้บริษัทสามารถขยายตลาดใหม่ในสหราชอาณาจักร ยุโรปและอเมริกาเหนือ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้การขยายธุรกิจใน SOVI และ Go-Pak จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและเพิ่มรายได้ให้ SCGP กว่า 5 พันล้านบาทต่อปี สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทได้ตั้งงบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะลงทุนขยายธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการขยายกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และโครงการขยายบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ในประเทศไทยจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ ขณะเดียวกันยังวางแผนบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และรองรับภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งคาดว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเพื่อสุขภาพ จะยังคงขยายตัวในปีนี้ และในระยะยาวคาดว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะได้รับปัจจัยบวกจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสินค้ามายังภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มุ่งเน้นดูแลสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคเช่น การพัฒนา R-1 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ที่ผลิตจากฟิล์มประกบหลายชั้น ช่วยปกป้องสินค้าและทนทานแรงกระแทกได้ดี สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและวัสดุอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่ง SCGP ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว (ประเทศไทย) และข้าวตราฉัตร พัฒนา R-1 เป็นถุงข้าวรักษ์โลกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเสนอการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2563 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น ซึ่งรอการอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2564 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 อ่านเพิ่มเติม: “ไซมิส แอสเสท” เปิดแผนปี 64 รุกสู่ผู้นำอสังหาฯ ครบวงจรไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine