SCGC โชว์ศักยภาพฐานการผลิตอาเซียนสู่ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในภูมิภาค - Forbes Thailand

SCGC โชว์ศักยภาพฐานการผลิตอาเซียนสู่ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในภูมิภาค

SCGC ชูวิสัยทัศน์เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ตอกย้ำจุดแข็งการมีผลิตภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในภูมิภาคที่มีฐานการผลิตในไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม พร้อมพัฒนานวัตกรรมและสินค้า HVA เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์มา 40 ปี ตั้งแต่ยุคบุกเบิกธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทย และได้ขยายการลงทุนในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค ที่มุ่งสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน” ด้วยหลักดำเนินการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่​ การมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าและผู้บริโภคด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ การมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ในปัจจุบัน SCGC จัดจำหน่ายสินค้าในกว่า 120 ประเทศทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่โมโนเมอร์ต้นน้ำและพอลิเมอร์ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โดยมีกำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ณ เดือนธันวาคม 2564) 19% หรือเกือบ 1 ใน 5 “หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของ SCGC คือ การมีฐานผลิตใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 440 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน มีสัดส่วนรายได้จากอาเซียน คิดเป็นประมาณ 21% โดยประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตหลัก ส่วนในอินโดนีเซียเป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) และในเวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Long Son Petrochemical Complex) ซึ่งบริษัทถือเป็นรายแรกที่เข้าไปลงทุน (first mover)” ธนวงษ์ย้ำถึงศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียประมาณ 5-6% ต่อปีภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ทั่วโลกเกือบเท่าตัว “นอกจากนี้ อัตราการใช้พอลิเมอร์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน (ณ 31 ธันวาคม 2564) อยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2-3 เท่า ตลาดอาเซียนจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์ประมาณ 75% และอินโดนีเซียประมาณ 50% เนื่องจากมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นโอกาสของ SCGC ที่จะใช้ความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้รวดเร็วกว่า” ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และธุรกิจของ SCGC ถือว่ามีศักยภาพและโอกาสการเติบโตทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อน และได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลกและภูมิภาคอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) รวมไปถึงการพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวมของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 สำหรับพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Reduce, Recyclable, Recycle และ Renewable เช่น การพัฒนา SMX Technology ทำให้เม็ดพลาสติกแข็งแรงทนทานขึ้น 20% สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต การพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin : PCR) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบการตรวจสอบย้อนกลับสากล โดยร่วมกับเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำหลายราย เป็นต้น “นวัตกรรมเคมีภัณฑ์อยู่รอบตัวและเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของทุกคน โดยบริษัทส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงให้กับลูกค้า เพื่อนำไปผลิตสินค้าให้กับผู้บริโภคปลายทาง ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย ทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น กล่องใส่อาหาร กล่องนม ฝาขวดน้ำดื่มและน้ำอัดลม หน้ากากอนามัย เป็นต้น และการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ พลาสติกสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติกทางการแพทย์ และ พลาสติกเพื่องานโครงสร้าง เช่น ท่อทนแรงดันสูง PE 112 สำหรับส่งก๊าซหรือน้ำประปา เป็นต้น” นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ตลอดซัพพลายเชน โดยนำ Data Technology หรือเทคโนโลยีด้านข้อมูลรวมกับ Operational Technology หรือเทคโนโลยีด้านการปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับ Operational Excellence รวมทั้ง การนำระบบแมชชีน เลิร์นนิ่ง มาใช้เพื่อคาดการณ์ราคาวัตถุดิบ การใช้ Optimization Model เพื่อใช้ในการตัดสินใจเดินเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบ Realtime Performance Management เพื่อให้เห็นข้อมูลการเดินเครื่องจักรอย่างรวดเร็วสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนระบบ Digital Reliability Platform (DRP) ช่วยดูแลการบริหารจัดการประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เราสามารถเดินเครื่องจักรได้ดี บำรุงรักษาเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบ Digital Commerce Platform (DCP) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายและทำให้ตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้าง "โครงการ LSP" ในเวียดนามขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างตามแผน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี โดยได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินเครื่องจักร เช่น การเตรียมสัญญาซื้อขายวัตถุดิบในระยะยาว การทำตลาดล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบ Flexible Cracker สามารถเลือกวัตถุดิบที่หลากหลายเข้ามาใช้ในการผลิตได้มากขึ้นและมีที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขาย 2.38 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.71 หมื่นล้านบาท แม้ปัจจุบันธุรกิจเคมีภัณฑ์จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม โดย SCGC เชื่อมั่นว่า ความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาสินค้า HVA เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG รวมทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม PVC ฯลฯ จะทำให้บริษัท ก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนั้น การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่วางไว้ โดยบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนและเตรียมแผนการขยายเพิ่มเติมทั้งในเวียดนาม และอินโดนีเซีย อ่านเพิ่มเติม: นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ รุกตีตลาดโครงการบิ๊กอสังหาฯ ตั้งเป้า ปี 2565 โกยยอดขาย 1,500 ล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่ เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine