SCG ประเดิมลงทุนสตาร์ทอัพปีแรก 500 ล้านบาทผ่านหน่วยงานใหม่ Addventures - Forbes Thailand

SCG ประเดิมลงทุนสตาร์ทอัพปีแรก 500 ล้านบาทผ่านหน่วยงานใหม่ Addventures

หลังจากแย้มข่าวการก่อตั้งหน่วยลงทุนในสตาร์ทอัพมาตั้งแต่เดือนก่อน วันนี้เอสซีจีประกาศการก่อตั้งเวนเจอร์แคปิตอลในนาม Addventures อย่างเป็นทางการ โดยจะลงทุนทั้งในแบบ Fund of Funds และการลงทุนทางตรงให้กับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ประเดิมงบปีแรก 2560 ที่ 300-500 ล้านบาท และคาดว่าจะลงทุนทั้งหมด 2,000-3,000 ล้านบาทใน 5 ปี (2560-2564)

ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมีแนวคิดการลงทุนในสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ปีก่อน โดยได้ศึกษากิจกรรมเกี่ยวกับสตาร์ทอัพหลายครั้ง พบว่ามีความน่าสนใจเพราะกลุ่มสตาร์ทอัพมีลักษณะของเจ้าของกิจการที่มีแรงขับเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ตนเองพัฒนาสูง และมีความเร็วในการทำงานจากขนาดองค์กรที่เล็กทำให้คล่องตัวกว่า หลังจากหารือกันภายในเอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอยู่แล้ว ทำให้ตัดสินใจที่จะก่อตั้งเวนเจอร์แคปิตอลชื่อ Addventures ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานช่องทางให้สตาร์ตอัพได้นำเสนอแนวคิดทางธุรกิจและนวัตกรรมให้กับเอสซีจี
ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี
สำหรับปี 2560 เอสซีจีตั้งงบเพื่อลงทุนเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ 300-500 ล้านบาท และคาดว่าจะมีงบรวม 5 ปี (2560-2564) ทั้งหมด 2,000-3,000 ล้านบาท งบลงทุนดังกล่าวถือเป็นส่วนเสริมแยกจากงบการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เอสซีจีตั้งไว้เดิมมูลค่า 1% ของยอดขาย หรือ 4,500 ล้านบาทในปี 2560 สำหรับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรในองค์กรเอง แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือสร้างนวัตกรรมเสริมสมรรถภาพการแข่งขันหรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า HVA (High Value Added) ให้กับเอสซีจี ด้าน จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ Addventures ลงลึกในรายละเอียดการลงทุนสตาร์ทอัพและวิธีการทำงานของเอสซีจีว่า องค์กรเอสซีจีมีธุรกิจที่ค่อนข้างกว้างมากแต่สามารถแบ่งได้เป็น 3 แกนหลักซึ่งสนใจจะทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพเพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ ได้แก่ 1.Industrial ซึ่งมีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น Smart Manufacturing, หุ่นยนต์, ระบบอัตโนมัติ, การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2.Enterprise นวัตกรรมที่เข้าข่าย เช่น e-Commerce, Omni Channel (การหลอมรวมช่องทางติดต่อลูกค้าทุกช่องทางไว้ด้วยกัน), AI หรือปัญญาประดิษฐ์, VR: Virtual Reality เทคโนโลยีความจริงเสมือน จนถึงเทคโนโลยีอย่าง Blockchain 3.B2B เนื่องจากเอสซีจีทำการค้าในแบบ B2B: Business to Business เป็นส่วนใหญ่ จึงต้องการนวัตกรรม เช่น การสร้าง Market Place ที่ตอบโจทย์ B2B, นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ เอสซีจีไม่ได้ปิดกั้นนวัตกรรมรูปแบบอื่น สามารถนำเสนอแนวคิดต่างๆ ได้อย่างเต็มที่หากว่าน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับบริษัทได้
(ขวา) จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ Addventures 
จาชชัวกล่าวต่อว่า รูปแบบการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 1.การลงทุนแบบ Fund of Funds เข้าไปลงทุนในบริษัทที่ถือพอร์ตบริษัทสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่จะเลือกพื้นที่ที่เป็นฮับเทคโนโลยีระดับโลก อาทิ Silicon Valley สหรัฐอเมริกา, กรุง Tel Aviv ประเทศอิสราเอล, Shenzhen ประเทศจีน เป็นต้น 2.การลงทุนทางตรง (direct investment) ในประเทศไทยและต่างประเทศที่เอสซีจีมีฐานธุรกิจอยู่โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ทั้ง 2 รูปแบบจะมีการลงทุนมูลค่า 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/ครั้ง/ราย สำหรับการลงทุนทางตรง Addventures จะเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพในระดับ Post Seed Stage จนถึงระดับ Series A นั่นคือสตาร์ทอัพผ่านการระดมทุนมาแล้ว 1-2 ครั้ง มีความชัดเจนในคอนเซปท์การทำงาน มีโมเดลธุรกิจแข็งแกร่ง และเริ่มต้นทดลองทำธุรกิจมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดของ Addventures คือ You innovate, we scale” เพราะเอสซีจีจะเป็นฐานในการให้ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ เช่น ช่องทางจำหน่ายทั้งในไทยและอาเซียนซึ่งใช้ทดลองนวัตกรรมได้ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของเอสซีจี โดยจะมี 4 ขั้นตอนของการทำงานร่วมกันระหว่าง Addventures และสตาร์ทอัพ คือ Synergy-ศึกษาความเข้ากันได้ของแนวคิดสตาร์ทอัพกับธุรกิจเอสซีจี Commercial Deals-ส่งเสริมด้วยทรัพยากรในมือของเอสซีจีเพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจหรือนวัตกรรม Investing-เริ่มลงทุนในสตาร์ทอัพ และ Scaling-พัฒนาให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาชชัวกล่าวว่า ขณะนี้ Addventures มีการศึกษาการลงทุนใน Fund of Funds อยู่ประมาณ 10 แห่ง และพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจอยู่ประมาณ 5-6 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความคืบหน้าการร่วมมือในระดับ Commercial Deals ประมาณ 2-3 รายภายในปีนี้ ส่วนจะไปถึงขั้นการลงทุนเมื่อไหร่และคืนทุนได้เร็วแค่ไหน ยุทธนา กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนในสตาร์ทอัพคล้ายคลึงกับการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา พิจารณาความคุ้มค่า โดยที่แต่ละดีลใช้เวลาไม่เท่ากัน ในขณะที่ จาชชัว กล่าวเสริมปิดท้ายว่า การลงทุนในสตาร์ทอัพคือการลงทุนระยะยาว เทียบกับการลงทุนปกติก็เช่นเดียวกันที่บางครั้งอาจจะใช้เวลาถึง 8-10 จึงจะคืนทุน แต่ที่สำคัญคือนวัตกรรมบางอย่างอาจจะ disrupt-ปฏิวัติเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจนั้นไปทั้งหมดได้