งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปี 2567 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ในช่วง Exclusive Talk ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง : สามมุมมองต่อการพัฒนาเยาวชนสู่สังคมโลก” โดยเชิญ 3 วิทยากร มาให้มุมมอง ความคิด แก่นักศึกษาใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นทางสังคม - คุณแสงเดือน ชัยเลิศ, ประเด็นทางเศรษฐกิจ - คุณเสถียร เสถียรธรรมะ และประเด็นทางการเมือง - คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
“คุณเสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ พร้อมย้อนความหลังเมื่อ 50 ปีก่อน เมื่อปี 2518 ที่เขาได้สัมผัสบรรยากาศวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น คือ ท่านอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ขึ้นกล่าวต้อนรับทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาวธรรมศาสตร์
“สำหรับผม อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไม่ได้เป็นเพียงแต่อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ท่านยังเป็นแบบอย่างของคนดี คนเก่ง คนกล้าที่มีชื่อเสียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสยืนข้างเวที และช่วงเวลาพัก ท่านได้เดินมาทักทายพวกเรา ผมตื่นเต้นดีใจอย่างมากที่ได้พบท่าน ยังจำความรู้สึกนั้นได้มาจนถึงปัจจุบัน”
ถึงวันนี้ “เสถียร” ในวัย 70 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งและเจ้าของ “คาราบาวกรุ๊ป” ซึ่งมียอดขายรวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท ย้อนไปเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว “เสถียร” เข้าเป็นนักศึกษาใหม่ธรรมศาสตร์ ตอนอายุ 21 ปี ซึ่งมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้ผ่านการเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากที่ไหนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่จบการศึกษาแค่ ป.4 ต้องออกไปทำงานตั้งแต่อายุ 11 ปี ได้รับเงินเดือนครั้งแรก 50 บาท
ด้วยความเป็นคนใฝ่เรียน ใฝ่เรียนรู้ เขาพยายามเก็บเงินมาได้เรื่อยๆ จนอายุ 18 ปี จึงไปเรียนกวดวิชาเพื่อจะสอบเทียบ 6 เดือนต่อมาสามารถสอบเทียบได้ ป.7 และอีก 6 เดือนต่อมา สอบเทียบ มศ.3 หลังจากนั้นอีก 8 เดือน จึงสอบเทียบได้ มศ.5 และได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2518
นอกจากอายุที่มากกว่าคนอื่นๆ แล้ว “เสถียร” ระบุว่า หากเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางด้านอื่นๆ เขาถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าเพื่อนส่วนใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขาท้อถอย ตรงกันข้ามกลับทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาในการก้าวไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ “เสถียร” ตัดสินใจหลบหนีภัยเผด็จการเข้าไปอยู่ในป่า พร้อมกับเพื่อนนักศึกษา โดยไปเป็นทหารป่าอยู่ 4 ปีกว่า ก่อนจะกลับออกมาด้วยวัย 24 ปี
“ตอนนั้นผมออกจากป่าด้วยความรู้สึกว่าเป็นคนที่พ่ายศึก แพ้สงคราม สิ่งนี้กัดกร่อนจิตใจของผมไป 3 ปี ที่สำคัญชีวิตผมที่ช้าอยู่แล้วยิ่งช้าลงไปอีก เพราะว่าเพื่อนที่รุ่นเดียวกันหลายคนเรียนดีได้ขึ้นมาเป็นอาจารย์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ อีกหลายคนสอบได้เป็นอัยการ บางคนไปสอบผู้พิพากษา”
แต่ด้วยความเป็นนักสู้ และมานะพยายามของเขา “เสถียร” ได้กลับเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งใน 2 ปีต่อมา ด้วยวัยเกือบ 30 ปี แต่ที่สุดก็ต้องละทิ้งความมุ่งมั่นแต่แรกที่จะเรียนให้จบมหาวิทยาลัย
“ครั้งนั้น ผมต้องปล่อยมันไปทั้งๆ เป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นมาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก การตัดสินใจที่จะไม่กลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกเลยนั้น ผมถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในชีวิตของผม เพราะในยุคสมัย 50-60 ปีก่อน สิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนสถานะของผู้คนในสังคมที่เกิดมายากจน มีแต่การศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ได้เป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชน”
ครั้งนั้น เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อ “เสถียร” ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเปิดร้านโชห่วย ด้วยเงินทุน 12,000 บาท จากการช่วยเหลือของพี่น้องของเขาเอง จนขยับมาเป็น “โรงงานทำตะปู” โดยหุ้นกับเพื่อนๆ และมีโอกาสทำธุรกิจอีกหลายอย่าง
ตลอดเส้นทางเหล่านั้น เขาชี้ว่า “ต้องล้มลุกคลุกคลาน” เคยไม่มีแม้แต่เงินขึ้นรถเมล์ และเคยเดินตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงซอยแบริ่งที่สมุทรปราการ
“ตอนนั้นผมหาเงินเข้าเช็คไม่ทัน เช็คเด้งเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกท้อต่อโชคชะตาตนเองเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่สุดท้ายผมก็ค่อยๆ ลุกยืนขึ้นมาได้ ชีวิตผมช้ากว่าคนอื่น อายุ 36 เพิ่งจะเคยนั่งเครื่องบินครั้งแรก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้คนรู้จักผมว่าทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ต่อเมื่ออายุผมมากกว่า 60 ปีแล้ว”
เจ้าพ่อ “คาราบาวกรุ๊ป” ย้ำว่า เมื่อมองผ่านชีวิตของเขา นักศึกษาใหม่ที่เข้ามาสู่รั้วธรรมศาสตร์ ต่างก็มีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่อายุ เพศ ที่สำคัญสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หลายคนอาจจะเป็นลูกเศรษฐี ขณะที่อีกหลายคนมีพ่อแม่เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ไม่ควรทำให้ใครต้องท้อแท้
“ผมอยากบอกว่า ไม่ว่าฐานะครอบครัวของคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณมีความมานะพยายามจนสอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้ ทุกคนอยู่ในจุดที่เท่ากัน”
“ความเท่ากัน” ในที่นี้หมายถึง จุดที่เท่ากันในการแสวงหาความสำเร็จในชีวิต
เพราะเขาเชื่อว่า ไม่ว่าประเทศชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะทำลายโอกาสของพวกเรา ที่จะสร้างฐานะให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งการที่จะอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ขอแต่ให้มีความมุ่งมั่น โอกาสมีอยู่เสมอ โอกาสจะซ่อนอยู่หลังเป้าหมาย ดังนั้นจงตั้งเป้าหมายและไปหามัน แต่ถ้ายังหาโอกาสไม่เจอ ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา เพราะโอกาสเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ และสามารถสร้างขึ้นมาได้ตลอดชีวิต ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ผมอยากให้ทุกคนจำไว้ว่า เราจะต้องมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือคัมภีร์ที่สำคัญที่จะพัฒนาตัวเราเอง เพื่อจะนำพาชีวิตของเราไปสู่ความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ขอแต่มุ่งมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ผู้ก่อตั้ง “คาราบาวกรุ๊ป” ย้ำว่า สิ่งสำคัญสำหรับทุกคนคือ การได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มีคณาจารย์ที่เก่งๆ มีความรู้ความสามารถในแทบทุกด้าน เป็นโอกาสที่นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้ว่า โลกที่อยู่ทุกวันนี้มีมหาอำนาจมาทุกยุคทุกสมัย คำถามอยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับมหาอำนาจอย่างไร
“นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าทำไมธุรกิจใหญ่ๆ ที่สำคัญๆ ของประเทศไทย จึงถูกผูกขาด ควบคุม โดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย และจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากที่นี่ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ โอกาสที่ทุกคนจะได้สร้างมิตรภาพของชาวธรรมศาสตร์ให้เกิดขึ้นมา ซึ่งมิตรภาพนี้จะผูกพันชีวิตเราไปตลอดชีวิต เหมือนกับที่เมื่อเป็นชาวธรรมศาสตร์แล้ว อุดมการณ์ธรรมศาสตร์จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต
“ไม่ว่าต้นทุนชีวิตของคุณจะเป็นมาอย่างไร จะเคยล้มสักกี่ครั้ง คุณก็สามารถที่จะกลับมาได้ ขอแต่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น” เสถียร กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “เราจะเป็นเบียร์ขั้วที่ 3 แต่ไม่ใช่เบอร์ 3” เปิดยุทธศาสตร์ “กลุ่มคาราบาว” สู้สมรภูมิเบียร์ไทยที่มีเจ้าตลาดครอง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine