ในยุคที่โรคอ้วนกลายเป็นวิกฤตระดับประเทศ และ "พุง" ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของรูปลักษณ์ แต่สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ซ่อนอยู่ลึกกว่าที่คิด บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการรักษาโรคอ้วนจากประเทศเดนมาร์ก จึงไม่เพียงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมการรักษา แต่ยังลุกขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสังคมและภายในองค์กร

"โรคอ้วนไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นวิกฤตระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยตรง" เอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) กล่าว
ปัจจุบัน แนวโน้มโรคอ้วนทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต องค์การอนามัยโลกจัดให้โรคอ้วนเป็น "โรคเรื้อรังที่มีความซับซ้อน" และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพของประชากรโลก โดยคาดว่าในปี 2578 จะมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากถึง 1.9 พันล้านคน หรือราวหนึ่งในสี่ของประชากรโลก โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 380 ล้านคน ขณะเดียวกันประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งจะมีภาวะน้ำหนักเกินหรือตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคอ้วน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนชัดเจนว่าโลก รวมถึงประเทศไทย จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยกว่า 40% มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งพัฒนาไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคไตเรื้อรัง ปัญหานี้ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน แต่ยังกลายเป็นภาระด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและความสูญเสียจากผลิตภาพที่ลดลง อาจสูงถึง 1.2% ของ GDP และอาจพุ่งขึ้นถึงเกือบ 5% ภายในปี 2593 หากไม่เร่งแก้ไข
"เราเคยกังวลว่าอาหารจะเพียงพอสำหรับทุกคนหรือไม่ แต่วันนี้คำถามกลับกลายเป็นว่า...เรากำลังบริโภคมากเกินไปหรือเปล่า" คานัล บรูแลนด์กล่าว "ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ อัตราโรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมบริโภคอาหารพลังงานสูง การขาดกิจกรรมทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมในเมืองที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ"
อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่พบได้ทั่วไป คือการมองว่าโรคอ้วนขึ้นอยู่กับน้ำหนักบนตาชั่ง แต่ในความเป็นจริง "ไขมันสะสมในช่องท้อง" หรือที่เรียกว่า ภาวะไขมันในช่องท้อง (visceral fat) ต่างหากที่เป็นภัยเงียบและตัวการสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases หรือ NCDs) กว่า 200 โรค ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็งบางชนิด
"อาหารไทยอร่อยและหลากหลายก็จริง แต่ปัจจุบันเราบริโภคอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มหวานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวน้อยลง ใช้ชีวิตติดจอ นั่งทำงานนานโดยไม่ขยับตัว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสะสมที่ทำให้โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาหนักในสังคมไทย"

คานัล บรูแลนด์ยังชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนิยามของ "สุขภาพดี" เป็นอุปสรรคสำคัญในการรับมือกับโรคอ้วน หลายคนเชื่อว่าการควบคุมน้ำหนักหรือลด BMI ให้อยู่ในเกณฑ์เพียงพอแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง สุขภาพต้องพิจารณาแบบองค์รวม ทั้งระดับไขมันในเลือด ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการทำงานของระบบเผาผลาญ
การป้องกันและแก้ไขโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่รัฐบาล ภาคเอกชน โรงเรียน โรงพยาบาล ไปจนถึงครอบครัวและชุมชน แนวทางสำคัญประการแรกคือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสม เช่น การอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ การเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และการควบคุมปริมาณแคลอรี่อย่างสมดุล ทั้งยังควรส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การควบคุมน้ำหนักคือการฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรงจากภายในอย่างยั่งยืน
การป้องกันตั้งแต่วัยเด็กเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โรงเรียนควรมีบทบาทในการให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กและเยาวชนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาและกิจกรรมกลางแจ้งอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ครอบครัวเองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในวัยเด็กมักจะติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
"ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างบริษัทเราก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการโรคอ้วนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากการพัฒนายาและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยสนับสนุนผู้ใช้ชีวิตร่วมกับโรคอ้วนให้สามารถควบคุมน้ำหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เรายังร่วมมือกับภาครัฐและสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ผ่านแพลตฟอร์ม Line OA: ObesityConnects และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างสังคมไทยที่มีสุขภาพดี"
คานัล บรูแลนด์กล่าวว่า โนโว นอร์ดิสค์เป็นบริษัทจากเดนมาร์ก หนึ่งในประเทศที่ผู้คนมีความสุขและสุขภาพดีที่สุดในโลก โดยมุ่งมั่นเปลี่ยนภาพจำของโรคอ้วน จากสิ่งที่เคยมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวไปสู่โรคเรื้อรังที่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวานหรือความดันโลหิตสูง
ด้วยประสบการณ์กว่า 100 ปีในฐานะผู้นำระดับโลกด้านยารักษาโรคเบาหวาน บริษัทได้นำความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสรีรวิทยาของโรคอ้วนมาต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมการรักษา หนึ่งในนั้นคือ โมเลกุล GLP-1 ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย
"สิ่งที่เราเชื่อมาโดยตลอดคือ สุขภาพดีไม่ใช่เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่คือความเข้าใจในร่างกายของตัวเองและการได้รับการดูแลในภาพรวม เช่นเดียวกับแนวคิดที่ว่า การลดน้ำหนักที่แท้จริงเป็นมากกว่าตัวเลขบนตาชั่ง การดูแลโรคอ้วนจึงไม่ควรมองเพียงมิติของน้ำหนักเท่านั้น แต่ควรเป็นการดูแลแบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ โภชนาการ การออกกำลังกาย และการสนับสนุนจากสังคม
คานัล บรูแลนด์กล่าวว่า การดูแลโรคอ้วนอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยแนวทางแบบ 360 องศา ทั้งการให้ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ การสนับสนุนด้านโภชนาการ รวมถึงการลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อใช้ชีวิตร่วมกับโรคอ้วน โดยบริษัทสามารถมีบทบาทสนับสนุนในสองมิติหลัก ได้แก่ การให้ความรู้โดยอิงจากประสบการณ์การวิจัยที่ยาวนานกว่า 20 ปี เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องแก่ทั้งสาธารณชนและบุคลากรทางการแพทย์ และการนำเสนอแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม ควบคู่กับการใช้ชีวิตอย่างสมดุล

โนโว นอร์ดิสค์ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำในการจัดการปัญหาโรคอ้วนจากภายนอกองค์กร แต่ยังลงมือสร้าง "สุขภาพดีในทุกมิติ" ภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เคารพความหลากหลาย เปิดกว้าง และเท่าเทียม ผ่านนโยบายที่ให้สิทธิประโยชน์อย่างเสมอภาคสำหรับพนักงาน LGBTQ+ รวมถึงการลาแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน
"สุขภาพพนักงานคือความสำเร็จขององค์กร" คานัล บรูแลนด์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างนโยบายด้านสุขภาวะที่จับต้องได้ เช่น การจัดอาหารสุขภาพฟรี 3 วันต่อสัปดาห์ และการสนับสนุนกิจกรรมชมรมกีฬา ทั้งวิ่ง แบดมินตัน และโบว์ลิ่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง
อีกหนึ่งความโดดเด่นขององค์กรคือการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันกว่า 60% ของผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความเสมอภาคในทุกระดับ
"เราเชื่อว่า สุขภาพดีไม่ควรเป็นเรื่องของใครคนหนึ่ง แต่ควรเป็นวัฒนธรรมร่วมของทั้งองค์กรและสังคมโดยรวม ความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาคสาธารณสุข สื่อ หน่วยงานรัฐ ครอบครัว และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอ้วนในเด็กและเยาวชน เพราะการป้องกันตั้งแต่วันนี้ จะช่วยลดภาระสุขภาพในวันหน้าได้อย่างแท้จริง"
คานัล บรูแลนด์ กล่าวปิดท้ายว่า "สุขภาพคือความมั่งคั่ง" ไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นความจริงที่ทุกสังคมตระหนักมากขึ้นตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เน้นการมีอายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว วันนี้โลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ "คุณภาพชีวิตในแต่ละปี" มากกว่าจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่
"เพราะคงไม่มีใครอยากมีชีวิตยืนยาวแต่ต้องใช้เวลา 15–20 ปีสุดท้ายอยู่กับโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะไตวายหรือโรคหัวใจ หากแลกได้ หลายคนกลับอยากให้ปีสุดท้ายของชีวิตเต็มไปด้วยสุขภาพที่ดีและความสุขที่แท้จริง นี่คือแนวคิดที่เรากำลังผลักดัน ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคม ให้การมีสุขภาพดี กลายเป็นเป้าหมายร่วมกันของเราทุกคน"