Next Station: Service-Based Economy - Forbes Thailand

Next Station: Service-Based Economy

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Dec 2015 | 10:45 AM
READ 5393
โลกของเราได้เข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจฐานสินค้า (product-based economy) สู่ เศรษฐกิจฐานบริการ (service-based economy) ในภาวะที่ผู้บริโภคไม่จับจ่ายใช้สอย และการค้าสินค้าเริ่มอิ่มตัว เศรษฐกิจฐานบริการ ถูกเชื่อว่าเป็นเศรษฐกิจรูปแบบเดียวที่จะสามารถฟื้นฟู (revive) เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งแน่นอน น่าจะเป็นคำตอบสาหรับการสร้างเศรษฐกิจไทย
 
บริษัท Apple Inc ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจฐานสินค้าเป็นธุรกิจฐาน บริการ ย้อนกลับไปเมื่อช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว Apple ได้เปิดตัว iTunes ที่พลิกโฉมวัฒนธรรมการฟังเพลงของคน จากการฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น CD หรือ MP3 สู่การบูรณาการความบันเทิง ทั้งภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และเพลงไว้ในที่เดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของ Apple นั้นถือได้ว่าเป็น disruptive innovation รูปแบบหนึ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เดินตาม ไม่ว่าจะเป็น IBM, Walmart, Uber หรือแม้กระทั่ง Airbnb
 
ดิฉัน ในฐานะที่มีความรับผิดชอบต่อเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน และการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คิดว่าหลักการเรื่อง “เศรษฐกิจฐานบริการ” จะเป็นหลักการสำคัญเพื่อมาดำเนินการเชิงกลยุทธ์ระดับประเทศด้วยเช่นกัน
 
ปัจจุบันภาคบริการของไทยคิดเป็นสัดส่วน GDP ของประเทศถึงร้อยละ 55 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสำหรับรายได้หลักด้านเงินตราต่างประเทศของไทย  กระทรวงพาณิชย์เองจึงมียุทธศาสตร์ที่จะผลักดันภาคบริการอย่างเต็มที่ โดยธุรกิจบริการนี้ เราสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่:
 
1) กลุ่มบริการที่สามารถสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศได้สูง เช่น การท่องเที่ยว ภาพยนตร์ สุขภาพ ความงาม และกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง

2) กลุ่มบริการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากภาคการผลิต และภาคเกษตร ต่อยอดยกระดับบนห่วงโซ่มูลค่า (smile curve) เช่น ธุรกิจค้าปลีก แฟรนไชส์  การทำ branding การทำการตลาด การทำ trading การวิจัยและพัฒนา (R&D) และการบริการหลังการขาย (aftersales service) การส่งเสริมคลัสเตอร์ฮาลาล การทำการตลาด ครัวไทยสู่ครัวโลก การส่งเสริมนวัตกรรมพลังงานสะอาด หรือแม้กระทั่งการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

3) กลุ่มบริการที่มี backward-forward linkage สูง หมายถึงเป็นภาคบริการที่มีการซื้อจากภาคการผลิตสูง มีการจ้างงานสูง และยังมีผลต่อต้นทุนของภาคการผลิตด้วย และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ ทั้งที่รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ การเงิน การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสติกส์ การสื่อสาร ซ่อมบำรุง ฯลฯ
 
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมธุรกิจบริการทั้ง 3 กลุ่ม จะเน้นที่การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในธุรกิจบริการให้ช่วยเป็นนัก รบเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (ease of doing business) ตลอดจนเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับกลุ่มบริการสองกลุ่มแรก ถือเป็นกลุ่มบริการที่กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่โดยตรงในการเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ ตลอดจนเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแบบครบวงจร ส่วนในกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยมีเจ้าภาพดูแลในกระทรวง อื่นๆ อยู่แล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์พร้อมเป็นตัวเชื่อมโยงและสนับสนุนนักลงทุนและผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่และรายเล็กในการพัฒนาและส่งเสริมการทำธุรกิจแบบครบวงจร
 
ทั้งนี้ ดิฉันเชื่อว่า ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จของการพัฒนาภาคบริการ คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตลอดจนดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น เรื่อง e-commerce หรือ e-services อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นการขับเคลื่อนอย่างเป็น cluster และต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมทั้งธุรกิจของทั้ง cluster (cluster ecology) และเชื่อมโยงผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นภาพของการพัฒนาทั้ง คลัสเตอร์ที่เป็นภาพเดียวกัน
 
ยกตัวอย่างเช่น ใน health services cluster เราไม่อาจจะมุ่งเน้นสนับสนุนเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการบริการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กายภาพบำบัด ดูแลคนชรา สปา ลองสเตย์ และเชื่อมโยงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพ เช่น ยาสมุนไพร อาหารเสริม เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบริการสาขาอื่น เช่น ห้องแล็บ การวิจัย และพัฒนาประกันสุขภาพ ร้านขายยาด้วย ตลอดจนเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาบันวิจัย  สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการต่างชาติ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ประกอบการในท้องถิ่น การรวมกลุ่มในชุมชน หรือแม้กระทั่งเกษตรกร
 
ปัจจุบัน นานาประเทศ อาทิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ได้เตรียมตัวเข้าสู่เศรษฐกิจฐานบริการอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจในการเตรียมการ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนา SMEs การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ หรือการให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา (research & development) การปรับเปลี่ยนฐานเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติไปสู่เศรษฐกิจที่ ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยสำหรับประเทศไทยนั้น ความท้าทายของเราไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรมนุษย์เพียงพอหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า “เราพร้อมหรือไม่” ที่จะฉีกตนเอง (disrupt yourself) ออกไปสู่ตลาดโลก และลุยไปข้างหน้าด้วยกัน


อภิรดี ตันตราภรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

อ่านบทความอย่างผู้นำได้ที่ Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine