แม้การเดินหน้าของการเปิดเสรีกัญชาของไทยจะยังลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งตัวบทกฎหมายและกระแสการต่อต้านจากสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ บูทิค คอร์ปอเรชั่น รู้สึกหวาดหวั่นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ยังมีโอกาสมหาศาล และยังเป็นตัวสร้างการเติบโตใหม่ให้กับกลุ่มบริษัท
การมีนิสัยรักการอ่านของ ปรับ ทักราล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BC) นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ให้กับเขาอยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับปี 2563 วันหนึ่งขณะที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เขาไปสะดุดกับบทความชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกัญชา เขารู้สึกสนใจขึ้นมาทันทีและไม่รอช้าที่จะให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทแปลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งหมดให้เขาได้รับรู้
ต่อมาเขาก็ค้นพบว่าธุรกิจนี้มีโอกาสมหาศาล หากดำเนินงานแบบครบวงจรโดยควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจากการครอบครองใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้กำหนดทิศทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่และยังเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
แม้ BC จะเป็นกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้โมเดลธุรกิจ “สร้าง-ดำเนินการ-ขาย” (Build-Operate-Sell: BOS) และหนึ่งในรายได้หลักมาจากธุรกิจโรงแรม (สัดส่วนรายได้บางปีไม่แน่นอนเพราะรายได้หลักอาจจะมาจากธุรกิจการขายโรงแรมภายใต้รูปแบบ BOS) แต่การเข้าสู่ธุรกิจกัญชาของบริษัท ปรับมองว่าเป็นธุรกิจที่ “น่าท้าทาย” และจะเป็นตัวสร้าง new s-curve ใหม่ให้กับการเติบโตของกลุ่มบริษัทในอนาคต
แล้วความไม่นอนเรื่องตัวบทกฎหมาย ความไม่นอนทางการเมืองล่ะเป็นอุปสรรคไหม จะมีผลกระทบไหมกับธุรกิจที่เราลงทุนไปหรือไม่? เราอดสงสัยไม่ได้จึงตั้งคำถามต่อ ปรับตอบอย่างไร้ความกังวลว่า ช้าเร็วธุรกิจนี้จะค่อยๆ เปิดออกมา โดยเฉพาะธุรกิจกัญชาเชิงการแพทย์เพราะมันมีประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ เป็นแนวทางการรักษาโรคทางเลือกใหม่
อีกทั้งกัญชายังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมยาเพื่อวิจัยผลิตยารักษาโรค และความไร้ความกังวลของปรับนั้นยังมาจากการดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความกังขาของสังคมและลดความเสี่ยงจากการโจมตี ขณะที่การเข้าสู่ตลาดเร็วกว่าบริษัทอื่นๆ ในขณะที่ตลาดโดยรวมยังไม่พร้อม เขามองว่านี่เป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง เพราะบริษัทสามารถลงหลักปักฐานสร้างฐานลูกค้าและช่วงชิงสัดส่วนทางการตลาดได้ง่ายขึ้น
ด้วยความที่เป็นคนคิดเร็วทำเร็ว ปรับจึงตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินธุรกิจกัญชาโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ บริษัท บีสโปค ไลฟ์ ไซเอนซ์ จำกัด (Bespoke Life Science) ในปี 2563 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และปัจจุบันใช้เงินทุนไปแล้ว 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด โดยดำเนินธุรกิจกัญชาครบวงจรตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการมีร้านจำหน่ายเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการด้านกัญชาอย่างครบวงจรตั้งแต่การนำเข้าเมล็ดพันธุ์จนถึงการส่งมอบให้แก่ผู้บริโภค โดยมีใบอนุญาตในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา รวมถึงการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ร่วมกับองค์กรของภาครัฐ อีกทั้งยังมีใบอนุญาตสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้จำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า
การปลูกกัญชาซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำนั้น บริษัทได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (RMUTL) จังหวัดน่าน เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชาในประเทศไทย โดย BC ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว สามารถนำเข้าสายพันธุ์กัญชาได้ถึง 41 สายพันธุ์ จำนวน 398 เมล็ด และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดเพื่อเป็นต้นแบบในการปลูกกัญชาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อเป็นการยืนยันถึงการเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจังพวกเราได้รับการเชื้อเชิญจาก BC เพื่อเข้าเยี่ยมชมฟาร์มปลูกกัญชาที่จังหวัดน่าน ที่นั่นพวกเราได้เห็นการปลูกกัญชาในระบบปิด โดยมีการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ทั้งมีการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานสากลจากนักวิจัยชาวไทยและต่างชาติ เพื่อมั่นใจได้ว่ากัญชาจากที่นี่เป็นกัญชาคุณภาพเกรดพรีเมียม ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงและสารปนเปื้อนต่างๆ ตามมาตรฐานทางการแพทย์
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 360 ต้น โดยแบ่งพื้นที่การผลิตเป็น 2 โรงเรือน โดยโรงเรือนแรกให้กำลังการผลิตอยู่ที่ 90 ต้น โรงเรือนที่ 2 อยู่ที่ 270 ต้น และปัจจุบันอยู่ในช่วงการขยายโรงเรือนที่ 3 ซึ่งมีกำลังในการผลิตอยู่ที่ 900 ต้น ที่จะทำให้สามารถสร้างกำลังผลิตรวมได้ถึง 1,260 ต้น และส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100 กิโลกรัมต่อไตรมาส เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีคุณภาพและกระบวนการผลิตที่ผ่านการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งต่อไปยังปลายน้ำในสาขาต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน โดยวงจรการปลูกกัญชาจะอยู่ที่ 3.5-4 เดือน
“หลังจากเริ่มขยายธุรกิจกัญชาทางการแพทย์ในปี 2563 ที่ผ่านมา เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจใหม่” ปรับกล่าว
ด้านธุรกิจปลายน้ำ ทางกลุ่มได้เปิดร้านจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง โดยร้านค้าปลีกกัญชาอยู่ภายใต้แบรนด์คณาเพียว (KANA Pure) และคลินิกกัญชาทางการแพทย์จะอยู่ภายใต้แบรนด์คณาคลินิกการแพทย์แผนไทย (KANA Wellness Clinic) โดยมีแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาสำหรับผู้เข้ามาใช้บริการ
โดยในปี 2565 บริษัทประสบความสำเร็จในการเปิดร้านค้าปลีกกัญชาทางการแพทย์ย่านเศรษฐกิจสำคัญจำนวน 3 สาขานำร่อง ภายใต้แบรนด์ “KANA” หรือ “คณา” สาขาแรกร้าน KANA Pure ที่โจโน่ แบงคอก สาขาที่ 2 คณาคลินิกการแพทย์แผนไทย (KANA Wellness Clinic) ที่ซัมเมอร์ พ้อยท์ และสาขาที่ 3 ร้าน KANA Pure ที่ซอยสุขุมวิท 11 โดยจุดมุ่งหมายในระยะยาวของการเปิดร้านคือ มุ่งสู่การเป็นฮับด้านกัญชาเกรดพรีเมียมของไทย
เพียงระยะ 2 ปี ธุรกิจกัญชาของ BC เดินหน้าไปค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ประกาศแผนว่าจะเข้าสู่ธุรกิจก่อนหน้านี้ เห็นได้ว่าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทคุยว่า สามารถแตะจุดคุ้มทุน (break-even) ที่ระดับสาขาได้ทันที
บริษัทจึงมองว่าธุรกิจกัญชาจะเป็นก้าวสำคัญที่สามารถสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้แก่ BC ในการสร้างรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยตั้งเป้าปี 2566 ว่าจะมีรายได้เติบโตแบบเท่าตัว และมุ่งเน้นเดินหน้าขยายสาขาในทำเลศักยภาพเพิ่มเป็น 20 สาขา กระจายตัวทั้งใน กทม. และจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆ อย่างพัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่
และในปี 2567 คาดว่าจำนวนสาขาจะเพิ่มเป็น 40 สาขา และแผนระยะต่อไปโดยไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนคือ เพิ่มเป็น 70-100 สาขา โดยมุ่งมั่นการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์สุขภาพแห่งอนาคต เชื่อมโอกาสไปสู่อุตสาหกรรมการให้บริการด้านสุขภาพ (wellness hospitality) ของ BC
โดยบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ต่อสาขาเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 บาทถึง 1 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน
เมื่อมีจำนวนครบ 20 สาขาคาดว่าจะสามารถทำรายได้สูงถึง 10 ล้านบาทต่อเดือน และจะยิ่งเติบโตทวีคูณภายใน 3-5 ปี ขึ้นกับความเร็วในการขยายสาขา ปัจจุบันลูกค้าหลักส่วนใหญ่อายุ 25-40 ปี มีลูกค้าชาวไทยเฉลี่ย 20% โดยสัดส่วนลูกค้าไทยและต่างชาติในแต่ละสาขาจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของแต่ละสาขา อย่างสาขาสุขุมวิทก็จะมีลูกค้าต่างชาติค่อนข้างมาก
ปัจจุบัน BC ดำเนิน 4 ธุรกิจหลักคือ 1. โรงแรม (hospitality) มีทั้งเป็นเจ้าของและสร้างแล้วขายภายใต้ BOS model 2. รีเทล 3. เวลเนสและกัญชา และ 4. บริการจัดเก็บ (storage service) โดยรีเทลก็มีโครงการมิกซ์ยูสอย่าง Summer Point ตั้งอยู่แถวพระโขนง หรือธุรกิจโรงแรม เช่น Oakwood Pattaya และ Novotel Chiang Mai Nimman เป็นต้น โดยรายได้รวมปี 2565 อยู่ที่ 258.49 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 50.04 ล้านบาท
ปรับเองเป็นนักสู้คนหนึ่งและมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาได้รับการทดสอบความเป็นผู้นำจากเหตุการณ์การโรคระบาดโควิด-19 หลัง BC เข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ไม่นาน (เริ่มซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานวันแรกในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2562) ระหว่างโควิดระบาดธุรกิจโรงแรมที่มีในพอร์ตของกลุ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากประเทศอยู่ภาวะล็อกดาวน์ โรงแรมของบริษัทมีอัตราการเข้าพักเป็นศูนย์และเพื่อความอยู่รอดของ BC
ซีอีโอวัย 46 ปีคนนี้ต้องปลดพนักงาน ลดเงินเดือนผู้บริหารและลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง เขาบอกว่า ในชีวิตเขาไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่สามารถ “หยุดโลก” ได้เช่นนี้มาก่อน ซึ่งเขาบอกว่า นี่เป็น “My first real black swan crisis” อย่างวิกฤตการเงินในช่วงปี 1997 ตอนนั้นเขามีอายุเพียง 20 ปี เห็นธุรกิจของบิดาและคนอื่นๆ เผชิญหน้ากับความยากลำบาก
บทเรียนที่เขาได้จากวิกฤตโรคระบาดนี้คือ การดำเนินธุรกิจต้องไม่ประมาท และที่สำคัญคือ ในโลกความเป็นจริงของธุรกิจไม่ควรที่จะดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว
“ยิ่งเจออุปสรรคจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นและเติบใหญ่ขึ้น” เขากล่าว
แม้ว่าตลาดกัญชายังมีโอกาสอีกมาก แต่ปรับก็ไม่เคยคิดจะขยายงานเพิ่มอย่างผลีผลาม เขาจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง รักษาการเติบโตตามความต้องการของตลาดจริงๆ รวมถึงพยายามให้ความรู้กับผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่าของกัญชา ค่อยๆ ลบภาพกัญชาที่เป็นยาเสพติด เป็นเสมือนการสร้างตลาดใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ
เขามั่นใจว่าแม้สินค้าของบริษัทจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่ก็สามารถจำหน่ายได้และเป็นที่ต้องการของตลาด ผลิตแทบไม่พอขาย เพราะเป็นสินค้าเกรดดีมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
ภาพ: บมจ. บูทิค คอร์ปอเรชั่น
อ่านเพิ่มเติม: Microsoft เผยข้อดีระบบ AI ขณะที่พนักงานไทย 66% กังวลใจกลัวถูกแย่งงาน