NATIONAL E-PAYMENT นำไทยสู่สังคมไร้เงินสด - Forbes Thailand

NATIONAL E-PAYMENT นำไทยสู่สังคมไร้เงินสด

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Jul 2016 | 12:34 PM
READ 4125

ปี 2559 ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินครั้งใหม่ ด้วยการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญ คือ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด (cashless society) ในอนาคต โดยคาดหวังให้คนไทยลดการใช้เงินสดขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดลงถึง 75,000 ล้านบาทต่อปี ระบบ e-Payment จะช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างการทำงานภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล (digital government) และสนับสนุนภาคเอกชนให้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัล (digital business) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้น และมีความมั่นใจในการใช้จ่ายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์

นวัตกรรมการชำระเงินของประเทศไทย

แม้ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการใช้ระบบ e-Payment แต่ก็มีอนาคตที่สดใส จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและมือถือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 7.4 หมื่นล้านบาท เติบโตสวนทางกับการทำธุรกรรมผ่านระบบเอทีเอ็มและสาขาธนาคารกลับลดลง เนื่องจากแนวโน้มการใช้งานโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตในประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้าน 38 ล้านราย มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งสิ้น 82  ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 68 ล้านคน

การเพิ่มขึ้นดังกล่าวถือเป็นนัยสำคัญ และเป็นตัวแปรหลักที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนยังมีการพัฒนาบริการโอนเงินผ่านหมายเลขมือถือแทนเลขที่บัญชีธนาคาร ทำให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเอง ที่ยังต้องการต่อยอดเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการพัฒนาโครงการ Any ID ที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้หมายเลขบัตรประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อโอน จ่าย ชำระเงิน ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่าทุกธนาคารจะเปิดให้ประชนชนสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้บริการได้ภายในปลายปีนี้

และไม่เพียงแค่การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ที่จะมาช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวกและรวดเร็วขึ้น การกระตุ้นให้ประชาชนคนไทยหันมาใช้บัตรเดบิต เพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้ามากขึ้น ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่เข้ามาขับเคลื่อนให้คนไทยลดการใช้เงินสดลง และในปัจจุบันบัตรอิเล็กทรอนิกส์เองก็ได้ถูกพัฒนาให้ใช้ง่ายสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศนโยบายกำหนดให้การชำระเงินภายในประเทศด้วยบัตรเดบิตที่ออกในประเทศจะต้องดำเนินการประมวลผลภายในประเทศ และกำหนดให้บริการบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบใหม่ต้องเป็นบัตรชิพการ์ด ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 ทำให้มีการจัดตั้ง บริษัทไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก หรือ TPN ขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ (local card scheme) รายแรกในประเทศไทย สำหรับบัตรเดบิต และให้บริการ switching ข้อมูลการชำระเงินสำหรับธุรกรรมที่ใช้ผ่านบัตรภายในประเทศ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) ในอนาคต ด้วยการขยายการติดตั้งเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ร้านค้าขนาดเล็กทั่วประเทศ

TPN ได้มีการกำหนดนโยบายราคาเพื่อเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ร้านค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ยอมรับการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมร้านค้าที่ต่ำลงกว่าครึ่งจากราคาตลาดในปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้ร้านค้ามีต้นทุนที่ต่ำลงสามารถรองรับการใช้บัตรได้มากขึ้นเพราะในอดีต อัตราค่าธรรมเนียมร้านค้าที่สูง ทำให้จำนวนร้านค้าที่รับบัตรมีน้อย และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด ขณะเดียวกัน TPN ยังมีมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยระบบ Chip and PIN 6 หลัก เพราะปัญหาใหญ่อีกประการสำหรับผู้ถือบัตร คือความไม่มั่นใจที่จะใช้บัตรเดบิตซื้อของเพราะกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการปลอมแปลงและขโมยข้อมูลบัตร TPN ยังปลดล็อคความกังวลเรื่องปัญหา time-out ให้ทั้งฝั่งร้านค้าและผู้ถือบัตร เพราะหากเกิดปัญหา time-out ธนาคารผู้ออกบัตรจะคืนเงินเข้าบัญชีผู้ถือบัตรภายใน 24 ชั่วโมง

สร้างความปลอดภัย กระตุ้นสังคมลดใช้เงินสด

อุปสรรคต่างๆ กำลังจะหายไป เมื่อมีบัตรเดบิตที่ใช้เทคโนโลยีชิพการ์ดเข้ามาแทนบัตรแถบแม่เหล็ก เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านบัตรเดบิตแบบชิพ ปลอดภัยต่อการโจรกรรมข้อมูล สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคผ่านระบบ ‘Chip and PIN 6 หลัก’ ผู้ถือบัตรยังสามารถตรวจสอบรายการใช้จ่ายได้ทั้งทางแอพพลิเคชั่นมือถืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ผ่านหน้าจอเครื่องเอทีเอ็ม และสมุดเงินฝาก และเมื่อมีการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเกิน 300 บาท จะมีการแจ้งเตือนผ่านข้อความ SMS เพื่อแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเดบิตชิพการ์ดที่ใช้ซื้อข้าวราดแกง ซื้อก๋วยเตี๋ยวในร้านอาหารข้างทางได้จริงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ลดการใช้เงินสดกันได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกและปลอดภัยได้ง่ายยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งแผนที่ส่งเสริมให้แผนยุทธศาสตร์ e-Payment แห่งชาติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือการที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาใช้ระบบ e-Payment เป็นช่องทางสำหรับเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ รวมถึงเป็นช่องทางในการจ่ายสวัสดิการจากภาครัฐแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศได้ด้วย และยังช่วยให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่า การเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงินแบบ e-Payment หลังจากนี้ ที่มีทั้งรูปแบบการชำระเงินออนไลน์ผ่านทั้งทางแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา และทั้งทางการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมากขึ้นจะทำให้ระบบ e-Payment ของประเทศไทยสมบูรณ์แบบ และก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดได้ในที่สุด

โชค ณ ระนอง
ประธานบริษัท
ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก จำกัด


คลิ๊กอ่านบทความเพื่อจุดประกายไฟฝันทางด้านธุรกิจ จาก Forbes Thailand ฉบับ JUNE 2016 ในรูปแบบ E-Magazine