เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 สถาบันบริหารธุรกิจระดับโลก เอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย เปิดสำนักงานเอ็มไอที สโลน ประจำภูมิภาคอาเซียน (MSAO) และจัดการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมเผยเป้าหมายและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านความร่วมมือระหว่างเครือข่ายศิษย์เก่าและพันธมิตรองค์กรต่างๆ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) มุ่งมั่นเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันสู่การแข่งขันระดับโลก ทว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายในการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืน ในโอกาสนี้ สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) จึงก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะพันธมิตร โดยได้เลือกกรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็นที่ตั้งสำนักงานนอกสหรัฐอเมริกาแห่งที่ 2 ต่อจากประเทศชิลี
David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน เผยว่า เหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยมีศิษย์เก่าของสถาบันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมืออันแข็งแกร่ง สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายของเอ็มไอที สโลนในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาและดำเนินงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change), พลังงาน (Energy), การดูแลสุขภาพ (Healthcare) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
เอ็มไอที สโลน ขยายความร่วมมือไปทั่วภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ MIT Sloan Action Learning ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ โดยนับตั้งแต่ปี 2545 โครงการดังกล่าวได้ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อมากกว่า 600 โครงการ ครอบคลุม 5 ระดับหลักสูตรการศึกษา และได้ร่วมมือกับบริษัทมากมาย ทั้ง ในกัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
สำหรับหลักสูตรที่น่าสนใจของเอ็มไอที สโลน ได้แก่
ASEAN Lab
หลักสูตรทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN Lab ถือเป็นหลักสูตรแรกของเอ็มไอที สโลน ที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองและการตลาดเชิงพลวัตในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งนักศึกษายังจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรภายในประเทศในการรับมือกับความท้าทายด้านการบริหาร
หลักสูตรนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเอ็มไอที และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้
Thailand Summer Lab
หลักสูตร Thailand Summer Lab เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศิษย์เก่า เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาเอ็มไอที สโลน ได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนโครงการในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจผู้ประกอบการ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
หลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักศึกษาจากหลากหลายหลักสูตรปริญญาของเอ็มไอที สโลน และนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Capodilupo อธิบายว่าหลักสูตรของเอ็มไอที สโลน มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่สามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้จริง และยังได้แนะนำระบบไฮบริด (Hybrid) เพื่อเอื้อให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนได้ และจะมีการร่วมมือกับผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาตลอดจนผนึกกำลังองค์กรภายนอกในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์
สำหรับระยะเริ่มต้น เอ็มไอที สโลนตั้งใจผลักดันงานวิจัยก่อน ตามด้วยการตั้งสภาที่ปรึกษา (Advisory Council) อันประกอบด้วยศิษย์เก่า ผู้บริจาค และพันธมิตรทั้งบริษัทชั้นนำ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และอื่นๆ ตลอดจนจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ งานประชุมวิชาการ Beyond Years: The Future of Longevity ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันมุมมองความคิดเห็นว่าด้วย ‘การมีชีวิตยืนยาว’ ที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพ และระบบสาธารณสุขอันเป็นประเด็นสำคัญในอาเซียน
ในอนาคต เอ็มไอที สโลน ตั้งใจขยับขยายสำนักงานไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ แห่งนี้เป็นศูนย์กลาง (Hub) เพื่อให้เข้าถึงปัญหาและความท้าทายของแต่ละประเทศของอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามพันธกิจของเอ็มไอที สโลนที่ต้องการสร้างโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น ผ่านความร่วมมือและการลงมือปฏิบัติจริง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Gogolook เจ้าของแอป Whoscall ปักธงไทยเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ขยายโซลูชันสำหรับธุรกิจ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine