JWD ชูยุทธศาสตร์ขนส่งครบวงจร หมื่นล้านใน 5 ปี - Forbes Thailand

JWD ชูยุทธศาสตร์ขนส่งครบวงจร หมื่นล้านใน 5 ปี

JWD หรือ เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ เดินหน้ากลยุทธ์หมื่นล้านสร้าง New S-Curve รุกขยายฐานธุรกิจ Multimodal Transportation หลังปิดดีลซื้อบริษัท วีเอ็นเอส ทรานสปอร์ต จำกัด พร้อมสร้างฮับกระจายสินค้าห้องเย็นหัวเมืองเศรษฐกิจ และรุกธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ 

ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยว่า "บริษัทวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีสร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากกว่าเท่าตัวจากปี 2563 ที่มีรายได้รวมกว่า 3.9 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบันให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve และสามารถต่อยอดกับธุรกิจปัจจุบัน ภายใต้งบลงทุนรวมประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากหลากหลายช่องทาง ทั้งกระแสเงินสด วงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน การเสนอขายหุ้นกู้ การจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อระดมทุนและทำสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแก่กองทรัสต์" สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจปัจจุบันให้มีรายได้เติบโตตามเป้าหมายดังกล่าวมุ่งเน้น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ กลุ่มขนส่ง กลุ่มห้องเย็น และกลุ่มต่างประเทศ โดยกลุ่มขนส่งจะเน้นเพิ่มศักยภาพการให้บริการแบบ Multimodal Transportation หรือ การขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ ได้แก่ ทางบก ทางน้ำและทางราง ซึ่งบริษัทมีแผนขยายธุรกิจสู่การเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือน้ำลึก (Deep Sea Port) ในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จากปัจจุบันที่ JWD ได้รับสิทธิบริหารท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Barge Terminal) จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าทางรางภายในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนั้น ล่าสุด บริษัท เจดับเบิ้ลยูดีทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JWD ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท วีเอ็นเอส ทรานสปอร์ต จำกัด หรือ VNS และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องโดยจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 200 ล้านบาท ซึ่ง บดินทร์ ตัณฑไพบูลย์ ผู้บริหารของบริษัท วีเอ็นเอส ทรานสปอร์ต จำกัด จะเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 13.6 ในเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต พร้อมรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญ เพื่อขยายธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าและยกระดับเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของ VNS ขยายธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าแบบมิลค์รัน (Milk Run Transport) โดยเฉพาะการรับขนส่งชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์จากผู้ผลิตแต่ละราย เพื่อนำไปจัดส่งยังโรงงานผลิตรถแบรนด์ต่างๆ ตามเวลาที่กำหนด และเมื่อผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญการรับขนส่งยานยนต์แก่ผู้ผลิตรถแบรนด์ต่างๆ ของเจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต จะทำให้บริษัทมีบริการด้านโลจิสติกส์ยานยนต์ที่ครอบคลุมทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ดังนั้น หลังควบรวมกิจการ บริษัทจะเดินหน้าขยายฐานธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น การรับขนส่งสินค้าเคมีภัณฑ์และสินค้าอันตราย สินค้าทั่วไป สินค้าขนาดใหญ่ (Project Cargo) บริการขนส่งด่วนแบบควบคุมอุณหภูมิ บริการขนส่งข้ามแดน เป็นต้น โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และคาดว่าปีนี้ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว จากกว่า 400 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เป็นกว่า 800 ล้านบาทในปีนี้ พร้อมทั้งได้แต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเตรียมนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2566 ด้าน ธุรกิจห้องเย็น บริษัทมีแผนขยายการลงทุนธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น (Cold Storage) ในรูปแบบการลงทุนเองหรือร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ที่สนใจ เพื่อพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าห้องเย็นในจังหวัดที่มีศักยภาพ ที่จะใช้เป็นฮับหรือศูนย์กลางรวบรวมสินค้าแก่ซัพพลายเออร์ในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียงและส่งต่อไปถึงจุดหมาย โดยให้ความสนใจพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือถึงภาคกลางตอนบน ธุรกิจโลจิสติกส์ในต่างประเทศอีก 5 ปีข้างหน้า จะเน้นลงทุนในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ผ่านการลงทุนเองและควบรวมกิจการ นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนการลงทุนขยายธุรกิจใหม่ ด้วยการรุกขยายฐานธุรกิจ B2C (Business to Customer) โดยมุ่งผลักดันธุรกิจให้บริการ Self-Storage (ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า) เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซี่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างชาติที่เป็นเจ้าของโมเดลธุรกิจให้บริการค้นหาและจองพื้นที่ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่าผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันซึ่งมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมในภูมิภาคเอเชีย โดยความร่วมมือดังกล่าวสามารถผลักดันให้ JWD ก้าวเป็นผู้ให้บริการ Self-Storage ระดับภูมิภาค ส่วนอีก 2 บริการเพิ่มเติม สำหรับรองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ บริการระบบจัดการคลังสินค้าออนไลน์ Order Fulfillment สำหรับคลังแห้งและแบบควบคุมอุณหภูมิ ที่ JWD มีองค์ความรู้และศักยภาพคลังในทำเลยุทธศาสตร์พร้อมอยู่แล้ว โดยในเฟสแรกมีพื้นที่ให้บริการ 5,920 ตร.ม. วางแผนเปิดให้บริการภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และบริการ Cold Chain Express ซึ่งที่ผ่านมามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดสอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคปัจจุบันยุค New Normal บริษัทวางแผนเจาะกลุ่มเป้าหมายสินค้าเพื่อสุขภาพและยาเพิ่มเติม หนึ่งในขาธุรกิจที่ช่วยเสริมการเติบโตของ New S-Curve คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และ JWD ภายใต้ชื่อ บริษัท ออริจิ้น เจดับเบิ้ลยูดี อินดัสเทรียล แอสเซท จำกัด เพื่อดำเนินกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งในส่วนของคลังสินค้าอัจฉริยะที่เป็นสมาร์ทแวร์เฮ้าส์ โครงการคลังสินค้าที่สร้างขึ้นตามความต้องการเฉพาะ (Built-to-Suit) และโครงการห้องเย็นสำเร็จรูป (Cold Storage) เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีความต้องการใช้งานจำนวนมาก รวมทั้งการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองรีทเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ขณะเดียวกันบริษัทยังศึกษาโอกาสเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ในไทยและต่างประเทศเพื่อต่อยอดกับธุรกิจในปัจจุบัน หรือลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีร้อยละ 10-12 หรือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตและกำลังเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การลงทุนล่าสุดของบริษัทในธุรกิจสตาร์ตอัพด้านระบบบริหารจัดการร้านอาหาร เพื่อต่อยอดขยายธุรกิจ Food Services และ Cold Chain Express Delivery รองรับบริการด้าน Restaurant Platform “ระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ JWD จะเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด โดยจะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนเอง ร่วมทุนและพิจารณาการทำ M&A เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้ JWD ยกระดับเป็นผู้นำธุรกิจด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในภูมิภาคอาเซียน” อ่านเพิ่มเติม: โอกาสลงทุน “ธุรกิจกัญชา” มูลค่าพุ่งแสนล้านเหรียญฯ ใน 4 ปี
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine