ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้คนต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ในภาวะเศรษฐกิจ-สังคมโลกอนาคต
ราวกลางเดือนตุลาคม นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2001 (2544) ชาวอเมริกันมาเยือนไทยในฐานะวิทยากรพิเศษของงานเสวนา ที่จัดโดย School of Public and International Affairs แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยสยาม เขาได้นำเสนอแนวคิดด้านเศรษฐกิจธุรกิจในศตวรรษที่ 21 โดยสรุปว่าหัวใจของการพัฒนาต้องให้ความสำคัญเรื่องเสรีภาพมาขึ้น และขณะเดียวกันก็ต้องมีมนุษยธรรมมากขึ้นเช่นกัน
“กรอบความคิดใหม่เกี่ยวกับเสรีภาพ และบทบาทของรัฐในศตวรรษที่ 21 เป็นการประเมินเสรีภาพที่ลึกซึ้งกว่า และมีมนุษยธรรมมากขึ้น” Stiglitz กล่าวย้ำพร้อมอธิบายว่า หากเราต้องการสร้างสังคมแห่งนวัตกรรมที่ทุกคนสามารถเจริญรุ่งเรืองได้ ภารกิจนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และผู้ที่ยึดมั่นในอุดมคติของอเมริกา ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่มอบความเป็นอยู่ที่ดี มอบโอกาส และเสรีภาพที่มีความหมายกับทุกคน ถือเป็นทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเมกกะเทรนด์ของโลก
เขาย้ำว่าสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก “การเติบโตเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยในปี 2568 อัตราการว่างงานกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ส่งผลให้บางประเทศในเอเชียแปซิฟิก สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินที่คล้ายกัน”
ความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียแปซิฟิก อาจมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเพิ่มขึ้นของนโยบายกีดกันทางการค้า เพราะการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากความผันผวนของตลาด และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
“ประชานิยม” ภัยคุกคาม
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน คือ การให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเปราะบาง ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอน ตลาดการเงินยังคงขาดเสถียรภาพ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เขายังกล่าวถึงหลากหลายประเด็น ที่ส่งผลกระทบจากนโยบายการเงิน การเมือง สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาอย่างเจาะลึก
นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2001 อดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของสหรัฐ ในรัฐบาลของ Bill Clinton (ปี 1995 -1997) ยังกล่าวด้วยว่า ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน และอุดมการณ์ทางการเมืองที่สร้างระบบดังกล่าวขึ้นมา ถือเป็นความล้มเหลวซึ่งมาจากตลาดเสรีที่ไม่มีการควบคุมดีพอ ทำให้เกิดวิกฤตต่างๆ มากมาย ทั้ง วิกฤตการเงิน และความไม่เท่าเทียม
“ตลาดเสรีที่ไร้การควบคุมเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และนโยบายประชานิยมก็กลายเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง” Stiglitz ขยายความว่า การเน้นลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว อาจเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักลงทุนและสถาบันการเงิน แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในชนบทหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การใช้นโยบายการเงินอย่างรอบคอบ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ควรใช้นโยบายที่เข้าถึงทุกคนในสังคม
มองไปที่สิ่งแวดล้อมทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จะเห็นว่านักการเมืองและกลุ่มธุรกิจ มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ จึงต้องมีการเรียกร้องให้เสริมสร้างความโปร่งใส และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางนโยบาย
ด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคม มีการเรียกร้องให้ออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ดี ซึ่งหากทั้งสองอย่างนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
เขากล่าวว่า ปัญความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคมยังคงอยู่ และกำลังทวีความรุนแรงในประเทศไทย โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นเฉพาะในเมืองใหญ่ ทำให้ชนบทขาดโอกาสและทรัพยากรที่จำเป็น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น การศึกษา สาธารณสุข และการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจ ควรเน้นการกระจายโอกาสให้กับคนในชนบท ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอาชีพ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน
การศึกษา “ต้องเท่าเทียม”
ด้านการศึกษา Stiglitz ย้ำว่าเป็นกุญแจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในสังคม “การศึกษาคือเครื่องมือสำคัญที่สุด ในการพัฒนาสังคมที่เป็นธรรม” เขาอธิบายว่า แนวโน้มสำคัญของโลกในปัจจุบันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมกำลังเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ ดังนั้น รัฐควรเร่งส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส และควรมีการลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกพื้นที่ ทั้งในเมืองและชนบท เพื่อสร้างฐานความรู้และทักษะที่จำเป็น
การศึกษาที่ดีและเท่าเทียม จะทำให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากร และโอกาสในการพัฒนาตนเอง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก แต่จะมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ “ความเท่าเทียมในการศึกษาคือกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงสำหรับทุกประเทศ” Stiglitz ย้ำ
นอกจากเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Stiglitz ยังเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกระหว่างปี 2540-2543 หลังจากนั้นผันตัวมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน ดังนั้นแนวคิดและมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ของเขา เป็นที่ยอมรับในฐานะนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของโลก เนื้อหาและมุมมองทางเศรษฐกิจเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ชื่อว่า “The Road to Freedom: Economics and the Good Society” ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางสู่อิสรภาพกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างสังคมที่ดี เป็นการวิจารณ์ระบบทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ และเสนอให้พัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
มุมมองดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านเวทีเสวนาในกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. จอมพงศ์ มงคลวนิช รองอธิการบดี และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขาธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของศาสตราจารย์ Stiglitz เป็นผู้สัมภาษณ์และอภิปรายร่วมกับศิษย์เก่าผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ เช่น ดร. ปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, ปิยบุตร ชลวิจารณ์ ประธานมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, และสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทในประเทศไทย
Stiglitz ยังได้วิพากษ์ระบบทุนนิยมในปัจจุบันว่า เป็นระบบที่ไม่สามารถสร้างอิสรภาพและความมั่งคั่งที่แท้จริงให้กับทุกคน และยังสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การทำลายสิ่งแวดล้อม และความไม่มั่นคงทางสังคม เขาเสนอว่ามาตรการทางเศรษฐกิจ ควรมุ่งเน้นที่ความเท่าเทียม ความยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน มากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโต ซึ่งมักนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ
“รัฐบาลต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำงานที่ล้มเหลวของตลาดเสรี และนำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมมาใช้ โดยไม่ปล่อยให้อิสรภาพของคนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม มากำหนดอิสรภาพของคนส่วนใหญ่” Stiglitz ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับโลก จากตัวอย่างจากประเทศที่มีความเป็นธรรมทางสังคมมากกว่าเป็นแนวทางที่แสดงให้เห็นถึงความสมดุลระหว่างอิสรภาพและการควบคุม
รองศาสตราจารย์ ดร. จอมพงศ์ มงคลวนิช กล่าวปิดท้ายว่า “การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอิสรภาพและโอกาสที่เท่าเทียม การลงทุนในระบบการศึกษาที่เน้นคุณภาพและความเท่าเทียมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยังเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก ดังนั้น ความสำคัญของการส่งเสริมการศึกษาในยุคนี้ จำเป็นต้องเน้นย้ำด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เชื่อมต่อความรู้สู่ทุกคนในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่มั่นคงสำหรับทุกประเทศ”
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บีโอไอเผยลงทุน 9 เดือน พุ่งต่อเนื่อง ทะลุ 7.2 แสนล้าน สูงสุดรอบ 10 ปี ผุดฐานอุตสาหกรรมใหม่
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine