Investor searching for yield, Beware real sector - Forbes Thailand

อะไรคือการ Searching for Yield หรือแปลเป็นไทยว่า "การมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตอนที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น นักลงทุนคนไหน กลุ่มไหน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย หรือนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศหรือในประเทศที่กู้ยืมเงินมาลงทุน มีความจำเป็นต้องหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

โดยในช่วงแรกอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ (ช่วงปีถึงสองปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซน เข้าใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์) การกู้เงินมาลงทุนนั้นไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยงมากก็ได้ เริ่มต้นเงินจึงไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน เพราะผลตอบแทนของสินทรัพย์เหล่านี้ยังสูงกว่าต้นทุนเงินกู้ที่กู้มาลงทุน อย่างไรก็ตามเมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า) นักลงทุนที่กู้ยืมเงินมาลงทุน มีความจำเป็นต้องหาผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจึงมีการเคลื่อนย้ายเงินจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน มาลงทุนสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่ามากขึ้น หนี่งในนั้นคือตลาดหุ้น เราจึงเริ่มเห็นเงินเคลื่อนย้ายเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น เราเห็นดัชนีหุ้นดาวโจนส์ทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง และผมเชื่อว่าเดี๋ยวหุ้นในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย จะได้รับอานิสงค์จากการ Searching for yield ของนักลงทุนเหล่านี้ ส่วนนักลงทุนสถาบันที่ไม่ได้กู้เงินมาละ ทำไมต้อง Searching for yield ด้วย นั้นก็เพราะว่านักลงทุนสถาบันไปนำเงินนักลงทุนทั่วไปมาบริหาร ไม่ได้เป็นเงินตัวเอง พออัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง จะร้องขอผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากผู้จัดการกองทุน ทำไมเหรอครับ เขาจะบอกผู้จัดการกองทุนว่าหากทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม เขาเอาเงินไปซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้เองดีกว่า จ้างพวกคุณแพงๆ มาทำไม ผู้จัดการกองทุนจึงมีความจำเป็นเช่นกันที่จะต้องหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และเริ่มโยกเงินมาลงทุนหุ้นเพิ่มขึ้น สำหรับนักลงทุนรายย่อยหรือบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้กู้เงินใครมา แล้วก็ไม่ได้จ้างผู้จัดการกองทุนมาบริหารเงินของเราด้วย ทำไมต้อง Searching for Yield ด้วย จริงครับพวกเราไม่มีต้นทุนทางการเงิน แต่อย่าลืมพวกเรามีต้นทุนทางการเงินโดยอ้อม นั้นคือเงินเฟ้อครับ เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักคือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแล้วพวกเรารายย่อยไม่ทำอะไรเลย คือไม่หาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราจะมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยลดลงทันทีแม้จะมีรายได้เท่าเดิม เพราะราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นมารอแล้ว ดังนั้นพวกเราไม่มากก็น้อยคงต้องมองหาโอกาสในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้ผมเริ่มเห็นบ้างแล้วในประเทศไทย แล้ว Searching for yield มันมีผลกระทบยังไงกับภาคธุรกิจที่แท้จริง (real sector) นักธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการก็ทำธุรกิจของเขาไปไม่ใช่หรือ นั้นจริงส่วนหนึ่งครับ แต่อีกส่วนหนึ่งหลีกหนีไม่พ้นเช่นกันที่ภาคธุรกิจที่แท้จริงจะได้รับผลกระทบจาก
  1. ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจต้องใช้เงิน และแหล่งเงินที่สำคัญก็คือเงินกู้ หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นตาม และหากธุรกิจต้องการระดมเงินกู้เพิ่มผ่านการออกหุ้นกู้ เขามีความจำเป็นต้องเสนออัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น ทำไมเหรอ คำตอบอยู่ที่คำอธิบายเบื้องต้นของผมอยู่แล้ว คือนักลงทุน Searching for yield ไงละครับ
  2. ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น อย่าลืมนะครับว่าสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดโลกไม่ได้มีเพียงแค่หุ้น แต่นับรวมถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่นน้ำมัน เหล็ก ทองแดง สังกะสี หรือสินค้าเกษตรเช่น ยาง ปาลม น้ำตาล เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้คือวัตถุดิบของภาคธุรกิจที่แท้จริง ซึ่งอาจนำไปสู่กำไรที่ลดลงของบริษัทต่างๆ หากปรับตัวรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ทัน
  3. การบริโภคที่อาจจะลดลง แน่นอนประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุนจะมองหาโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อให้สามารถซื้อสินค้าที่ราคาเพี่มขึ้นได้อย่างน้อยจำนวนเท่าเดิม เพื่อรักษามาตรฐานการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามจะต้องมีประชาชนหรือนักลงทุนบางคนหรืออาจจะหลายคนที่ไม่สามารถทำได้ และความสามารถในการบริโภคของคนเหล่านั้นจะลดลง โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อขึ้นเร็วมากๆ จะยิ่งไปดึงให้การบริโภคลดลงเร็ว นอกจากนั้นการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น ประชาชนทั่วไปจะชะลอการกู้เงินเพื่อการบริโภคออกไปหรือคนที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่แล้วจะมีเงินใช้น้อยลงเพราะภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น และนั้นจะส่งผลลบต่อยอดขายของภาคธุรกิจที่แท้จริงในที่สุด
ด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูง ด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น และด้วยการบริโภคที่อาจชะลอตัวลง จะส่งผลต่อภาคธุรกิจที่แท้จริง แต่แน่นอนจะมีบางภาคธุรกิจที่ปรับตัวได้ดีในสถาการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ดี และไม่มีหรือไม่ได้ใช้แหล่งเงินกู้ในการขยายธุรกิจ เพราะเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องสูง อย่างไรก็ตามคงต้องมีบางบริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ และไม่สามารถอยู่รอดได้ หากกู้เงินธนาคารก็จะกลายเป็นหนี้เสีย หากออกตราสารหนี้ ก็จะ default ซึ่งจุดอ่อนนี่แหละที่คาดการณ์ลำบาก ว่าจะเกิดขึ้นที่ภาคธุรกิจไหนก่อน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะลุกลามกลายเป็นลูกโซ่ หรือที่ภาษาอังกฤษว่าเป็น Domino Effect หรือไม่ พวกเราคงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แม้ว่าตลาดหุ้นยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นต่อไปอีกพักใหญ่จาก Searching for yield และอาจปรับเพิ่มขึ้น จนพวกเราลืมนึกถึงเรื่องที่ผมให้เฝ้าระวังนี้ก็เป็นไปได้ ดังนั้นคำแนะนำของผมช่วงนี้คือเน้นลงทุนบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้ลุกค้าได้ ไม่มีหนี้มาเกินไป ยิ่งไม่มีหนิ้ยิ่งดี เพราะบริษัทเหล่านึ้มีแนวโน้มที่จะผ่านวิกฤติได้ ซึ่งหากบริษัทผ่านวิกฤติได้ เราในฐานะนักลงทุนบริษัทเหล่านี้ก็จะผ่านวิกฤติได้เช่นกันครับ ปล. ห้ามถามว่าแนะนำหุ้นตัวไหน ทุกคนต้องทำการบ้านด้วยตัวเองนะครับ ลงทุนอย่างมีความสุขครับ