เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น (คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "Hubba ผู้บุกเบิก Coworking Space ในไทย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ August 2015 ได้ในรูปแบบ E-Magazine)
การก้าวออกจากกรอบและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แตกต่าง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สองพี่น้อง “เจริญพันธ์” กลับเดินหน้ามุ่งมั่น ปั้น Hubba ธุรกิจเทรนด์ใหม่จนสำเร็จ พร้อมเดินหน้าขยายไม่ต่ำกว่า 10 สาขาในเร็ววัน
เมื่อเข้าสู่เอกมัยซอย 4 และทิ้งความวุ่นวายของถนนสายหลักไว้เบื้องหลัง บนถนนเล็กๆ ที่มุ่งหน้าเข้าซอย บ้านสีขาว 2 ชั้นตั้งตระหง่านอยู่บนเนื้อที่ราว 170 ตารางวา ผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่ให้กลายเป็น coworking space หรือสถานที่ทำงานที่ทุกคนสามารถมาใช้ร่วมกัน คือธุรกิจมาแรงของ Hubba
coworking space เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ผู้ไม่ชอบความจำเจของการทำงานในออฟฟิศ รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าและอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ซึ่งมี Hubba เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจนี้ในไทยเมื่อ 3 ปีก่อน โดยได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ
“เราทำธุรกิจที่ทุกคนคาดว่าไม่น่าจะรอดหรือไม่น่าจะทำเงิน ให้กลายเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และสามารถทำเงินได้” ชาล เจริญพันธ์ วัย 32 ปี หนึ่งในสองผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO แห่ง บริษัท ฮับบา จำกัด กล่าวอย่างภาคภูมิใจกับ Forbes Thailand
ความฝันมักยากและท้าทายเสมอ ชาล ผู้พี่ซึ่งจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผ่านการทำธุรกิจมาหลายอย่าง ฝันว่าจะสร้างธุรกิจที่ใหม่และแตกต่างและยังเป็นฝันเดียวกับ อมฤต เจริญพันธ์ ผู้น้อง ที่จบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (หลักสูตรนานาชาติ) จากสถาบันเดียวกัน
สองพี่น้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านความคิดและการทำงานจนกระทั่งจุดเปลี่ยนเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนั้น ได้จุดประกายความคิดถึงไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป เป็นว่า “สำนักงาน” คือสถานที่ใดก็ได้ ที่สามารถอำนวยความสะดวกและมีอุปกรณ์สำนักงานครบครัน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ทั้งคู่ริเริ่มธุรกิจ coworking space “พวกผมสองคนคุยกันครึ่งชั่วโมง แล้วตัดสินใจลุยเลย” ชาล กล่าว
ทั้งสองวางเดิมพันธุรกิจด้วยทรัพย์สินเกือบทั้งหมด ทองและนาฬิกาถูกนำไปแปรเป็นทุน พวกเขาตระเวณหาทำเลที่เหมาะจะสร้าง coworking space โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเดินทางสะดวก แต่ต้องไม่เข้าไปใจกลางเมือง ในที่สุดก็มาลงตัวที่ย่านเอกมัยใกล้รถไฟฟ้า ใช้งบราว 3 ล้านบาทเช่าบ้านพร้อมที่ดินและดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยในบ้านราว 200 ตารางเมตร ให้เป็น coworking space ที่น่าดึงดูด ออกแบบตกแต่งให้ดูโปร่งสบาย ให้ทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นบ้านของตนเอง
Hubba เปิดตัวในเดือนมิถุนายน ปี 2555 เจาะกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ startup ที่ต้องการความสะดวกสบาย ประหยัดค่าเช่าและค่าใช้จ่ายสำนักงานในระยะเริ่มต้น มีห้องประชุมขนาดเล็กและใหญ่ เอื้อการทำงานด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องโทรสาร ฯลฯ พร้อมมีมุมหนังสือ มุมรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม และมุมพักผ่อนหย่อนใจ สิ่งที่ลูกค้าต้องนำมาเองคือเครื่องคอมพิวเตอร์ คิดค่าใช้บริการตามระยะเวลา มีตั้งแต่ราย 2 ชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ไปจนถึงรายปี ราคาราว 100-174,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็คเกจ
สองพี่น้องเล่าว่า ความยากคือการสื่อสารว่า Hubba คืออะไร เนื่องจากเป็นแนวคิดทางธุรกิจที่ใหม่ ทั้งยังต้องทำให้ผู้ใช้บริการเห็นว่า Hubba ไม่ใช่สถานที่ที่มีเพียงโต๊ะ เก้าอี้ทำงาน และอินเทอร์เน็ต แต่คือ “ชุมชน” ที่เอื้อต่อการสร้างมิตรภาพ แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงช่วยสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดธุรกิจ
Hubba สามารถดึงดูดการร่วมทุนจาก Venture Capital (VC) ได้ไม่น้อย ปีนี้ Hubba ระดมทุนได้จากหลายแหล่ง ทั้ง 500 Startups และ Golden Gate Ventures ล่าสุดต้นเดือนมิถุนายน Ardent Capital บริษัท VC ซึ่งมี พอล ศรีวรกุล และ Adrian Vanzyl เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ก็ประกาศการลงทุนใน Hubba รวมจำนวนทุนที่ได้จากทุกแหล่งแล้วเกือบ 1 ล้านเหรียญ เป้าหมายต่อจากนี้ของสองพี่น้อง คือการขยายสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 สาขา ปลายปีนี้
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "Hubba ผู้บุกเบิก Coworking Space ในไทย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ August 2015 ได้ในรูปแบบ E-Magazine