Health Data Scientist อาชีพดาวรุ่งแห่งยุคเทคโนโลยีดิสรัปต์ - Forbes Thailand

Health Data Scientist อาชีพดาวรุ่งแห่งยุคเทคโนโลยีดิสรัปต์

จุดเปลี่ยนสายงานวงการแพทย์และสาธารณสุขหลังโควิด-19 ระบาดทั่วโลก เดินหน้าสู่ Data Technology และ AI พร้อมใช้ 5G ปั้น Telemedicine ลดความแออัดในโรงพยาบาลและการรักษาทางไกลได้ทุกที่ทุกเวลา

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ลงลึกถึงระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (Technology Disruption) เกิดขึ้นทั้งในวงการสื่อ การธนาคาร การค้าปลีก การขนส่งโลจิสติกส์ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เป็นเสมือนขุมพลังที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ขยับขยายมาสู่โลกของการศึกษาและการทำงานให้ต้องใช้เทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับวงการแพทย์และการสาธารณสุขที่ต้องใช้เทคโนโลยีในด้านนี้มาตลอดนับตั้งแต่โควิด-19 ได้เริ่มระบาดไปทั่วโลก สำหรับการใช้เทคโนโลยีสำคัญที่ผ่านมา ได้แก่ การนำ Data Technology และ AI มาใช้ประเมินและคาดการณ์สถานการณ์การระบาดของโรค โดยเฉพาะในต่างประเทศ เนื่องจากในแต่ละประเทศมีการแพร่ระบาดของโรคที่แตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมด้วย ดังนั้น ข้อมูลจากประเทศหนึ่งอาจไม่สามารถนำมาวิเคราะห์กับอีกประเทศหนึ่งได้ “ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นประชากรนั่งรถไฟฟ้าหนาแน่น แต่การแพร่ระบาดน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะคนญี่ปุ่นใส่หน้ากากอนามัยกันเป็นปกติ ไม่พูดคุยกัน ก้มหน้าเล่นมือถือหรืออ่านหนังสือ ขณะที่ประเทศจีนมีตลาดสด ร้านภัตตาคาร ผู้คนเดินกันพลุกพล่าน มีการพูดคุยกัน อยู่กันอย่างแออัด อากาศไม่หมุนเวียน รูปแบบการระบาดจึงแตกต่างกัน ส่วนประเทศไทย เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมการระบาด โดยที่ต่างประเทศไม่มี แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการรวบรวม Data ที่สำคัญเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งคาดว่าจากโควิด-19 หลายฝ่ายในประเทศเราจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง Data ในการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น”
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ขณะที่เทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยในการวิเคราะห์วินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำขึ้น โดยอิงจาก Big Data ที่มีอยู่ ซึ่งการมาถึงของ 5G ก็จะทำให้ Telemedicine เกิดขึ้นเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่สามารถใช้อุปกรณ์ตรวจวัดร่างกายหรือเจาะเลือดเองได้จากที่บ้านและส่งข้อมูลมายังโรงพยาบาล หรือสามารถพูดคุยทางไกลกับแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาได้ ซึ่งหากเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้มาก และช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ปัจจุบันนี้ข้อมูลของผู้ป่วย จะถูกเก็บในเวชระเบียนโดยโรงพยาบาล ซึ่งมีการเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเกือบสมบูรณ์แล้ว ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะเปลี่ยนกลับไปอยู่ในมือของผู้ป่วยแทน และผู้ป่วยจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่าใครจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้บ้าง ผู้ป่วยจะมีสิทธิรู้ข้อมูลทุกอย่างของตนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบอกหรือไม่บอกของหมออีกต่อไป” ดังนั้น Data Technology ถือเป็นส่วนผสมสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ที่กำลังก้าวเข้ามา และ Health Data Scientist จะเป็นอาชีพดาวรุ่งดวงใหม่ ซึ่งในต่างประเทศผู้ที่จบวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพจะเป็นสาขาที่บริษัทยาส่วนใหญ่ต้องการรับเข้าทำงานเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นสาขาสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ่สำหรับในประเทศไทย ผู้ที่จบสาขาดังกล่าวจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการแพทย์และสาธารณสุขระดับชาติได้ เนื่องจากการที่ประเทศมี Data จำนวนมาก ทำให้ต้องอาศัยการวิเคราะห์  เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย ซึ่งผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ต้องมีความรู้ที่ผสมผสาน ทั้งด้านการแพทย์และเทคโนโลยี นอกจากนั้น Health Data Scientist ยังต้องมีวิธีคิดที่เป็นระบบแบบนักวิทยาศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์หาคำตอบของปัญหาจากข้อมูลนับล้านที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งคนในอาชีพดังกล่าวสามารถทำงานได้ทั้งระดับปฏิบัติการ ทำงานร่วมกับแพทย์และพยาบาล ไปจนถึงในระดับนโยบาย โดยสามารถช่วยในการวางแผนนโยบายการสาธารณสุขได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ศ.นพ.นิธิ ปิดท้ายถึงการปรับตัวของแพทย์และพยาบาลท่ามกลางคลื่นของดิสรัป “ก่อนอื่นต้องมองว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามา ไม่ได้มาเพื่อควบคุมการทำงานของหมอและพยาบาล แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่เขาต้องควบคุมมันและใช้ให้เกิดประโยชน์ ประการที่สองคือเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยก็อยากได้รับการดูแลรักษาหรือได้คำปรึกษาจากมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ที่สามารถจะเข้าใจความรู้สึกกันและกันได้ ต่างจากหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ที่ละเอียดอ่อนได้เลย” อ่านเพิ่มเติม: 11 บริษัทด่านหน้าท้ารบกับ ไวรัสโคโรนา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine