FedEx Express เผยข้อมูลเจาะลึกพฤติกรรมการส่งออกและนำเข้าของผู้ประกอบการ SMEs ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก - Forbes Thailand

FedEx Express เผยข้อมูลเจาะลึกพฤติกรรมการส่งออกและนำเข้าของผู้ประกอบการ SMEs ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก

เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (FedEx Express, FedEx) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุรายใหญ่ที่สุดของโลก และอยู่ในเครือของ เฟดเอกซ์ คอร์ปอเรชั่น (FedEx Corp.) เผยผลวิจัยว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางชี้ว่าได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ โดยเป็นที่มาของรายได้กว่าสองในสาม ร้อยละ 68 และร้อยละ 47 ของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางต่างคาดการณ์ว่ารายได้ของพวกเขาที่มาจากการส่งออกภายในภูมิภาคน่าจะเติบโตได้ในระดับเฉลี่ยที่น่าพึงใจมากถึงร้อยละ 22  ในอีก 12 เดือนข้างหน้า “งานวิจัยเจาะลึกชิ้นนี้เผยให้เห็นว่า แม้ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังประสบกับความท้าทาย ธุรกิจของเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้ ด้วยการเข้าไปจับตลาดอื่นๆ ในเอเชียเพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตัวของธุรกิจ” Karen Reddington ประธาน บริษัท เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวและเสริมว่า “สิ่งที่จะได้เห็นคือภาพรวมที่จะดีขึ้นในทางบวก โดยธุรกิจส่งออกระดับเอสเอ็มอีในภูมิภาคต่างก็วางแผนที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวคิดเศรษฐกิจยุคดิจิตอลมาปรับใช้ เพื่อช่วยรองรับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น” e commerce ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยผู้ส่งออกเอสเอ็มอีถึงร้อยละ 80 ของภูมิภาคนี้ได้มีการใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้าและบริการของตนไปยังตลาดอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และร้อยละ 44 ในกลุ่มนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นจากอีคอมเมิร์ซในช่วงอีก 12 เดือนข้างหน้า ภายใต้แนวทางนี้ ทำให้เกิดการซื้อขาย e commerce ขึ้นมา 2 แบบคือ M commerce คือ การซื้อขายผ่านทางอุปกรณ์มือถือ และ Social commerce คือ การซื้อขายผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ในปัจจุบัน ร้อยละ 68 ของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กกำลังขายสินค้าผ่านทางโมบายแอพพลิเคชั่นและร้อยละ 67 เพิ่มช่องทางให้ลูกค้าซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น facebook โดยทั้ง M commerce และ Social commerce เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดรายได้ของการส่งออกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็กถึงร้อยละ 21 และ ร้อยละ 22 ตามลำดับ และเชื่อว่าทั้ง M commerce และ Social commerce ยังคงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตของรายได้ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เกือบครึ่งของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กคาดว่า M commerce (ร้อยละ 47) และ Social commerce (ร้อยละ 49) จะช่วยให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในเอเชียแปซิฟิกจะยอมรับว่าเศรษฐกิจยุคดิจิตอลช่วยเปิดโอกาสให้พวกเขา แต่ก็ยังตระหนักด้วยว่าจะเป็นการปูทางไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน อันที่จริงแล้ว กว่าหนึ่งในสาม หรือร้อยละ 38 ของเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกระบุว่า การแข่งขันในระดับสากลที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นความท้าทายทางธุรกิจอันดับต้นๆ และในทางกลับกัน พวกเขาก็มองว่าเทคโนโลยีจะเป็นหนทางในการจัดการกับความท้าทายนี้ รวมถึงความท้าทายทางธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย โดยร้อยละ 37 กล่าวว่าพวกเขาวางแผนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายทางธุรกิจที่พวกเขากำลังประสบอยู่ และเกือบสองในสาม (ร้อยละ 65) เชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยให้พวกเขาสามารถส่งออกได้มากขึ้นในอนาคต ธุรกิจเอสเอ็มอียังมองเห็นคุณค่าของห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสนองตอบตามความคาดหวังของลูกค้า ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถชนะใจลูกค้ารวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ร้อยละ 91 ของเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกเห็นพ้องว่าโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในธุรกิจส่งออกของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่อีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการในการส่งมอบที่รวดเร็วขึ้น โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกที่มีการทำธุรกรรมผ่านทางอีคอมเมิร์ซเป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 66 ระบุว่า พวกเขายินดีที่จะจ่ายสูงกว่าเพื่อบริการขนส่งที่รวดเร็วกว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ตอกย้ำความเห็นที่เรามีมานานแล้วว่า สำหรับเอสเอ็มอีแล้ว เทคโนโลยีและโซลูชั่นส์การขนส่งมีส่วนช่วยให้สามารถต่อสู้กับบริษัทขนาดใหญ่กว่า ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้นรวมถึงมองหาบริษัทเกี่ยวกับการขนส่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงช่วยให้สามารถเจาะตลาดใหม่ๆ ในต่างแดน และสุดท้าย ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจของพวกเขาจะยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” Karen กล่าวสรุป งานศึกษาวิจัยอิสระในชื่อ “Global Trade in the Digital Economy: Opportunities for Small Businesses” ได้รับการจัดทำขึ้นโดย Harris Interactive ในนามของ FedEx เพื่อมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสการส่งออกในระดับสากล และความท้าทายต่างๆ ที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องประสบ งานวิจัยชิ้นนี้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2559 โดยเป็นการรวบรวมผลมาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนทั้งสิ้น 9,000 คน จาก 17 ตลาด  ในพื้นที่สี่ภูมิภาคทั่วโลก