EU รุกสมาร์ทโฟน เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “Heritage Map and Cultural Calendar” กระชับสัมพันธ์ไทย - Forbes Thailand

EU รุกสมาร์ทโฟน เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “Heritage Map and Cultural Calendar” กระชับสัมพันธ์ไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Oct 2014 | 04:40 PM
READ 4550
จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยไปได้สวย เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มประเทศในยุโรปกับไทย EU พร้อมด้วยสถานทูตหลายประเทศและองค์กรพันธมิตร จึงใช้งบกว่าครึ่งล้านบาท จัดทำแอพพลิเคชั่นด้านศิลปวัฒนธรรมบนสมาร์ทโฟน หวังกระชับสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
 
Frost & Sullivan บริษัทวิจัยระดับโลก ทำการสำรวจการใช้สมาร์ทโฟนในไทย พบว่า ปี 2556 มีผู้ใช้อยู่ราว 15 ล้านคน หรือ 30% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในปี 2557 เป็นราว 20 ล้านคน และในปี 2560 จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะสูงถึงกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของประชากรไทย ด้าน Ericsson ConsumerLab (Thailand) ก็เผยผลวิจัยการใช้สมาร์ทโฟนในไทยว่า การเข้าถึงสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ในเขตเมือง เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2555 เป็น 36% ในปี 2556 ขณะที่การเข้าถึงแท็บเล็ตของผู้ใช้ในเขตเมือง เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 2% ในปี 2555 เป็น 7% ในปี 2556 ส่วนการใช้แอพพลิเคชั่น เพิ่มจาก 40% ในปี 2555 เป็น 57% ในปี 2556 
 
สาธิตการใช้แอพพลิเคชั่น Heritage Map and Cultural Calendar 
 
เมื่อชีวิตผู้คนในโลกสมัยใหม่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีเพียงปลายนิ้วสัมผัส สองมือที่กางแผนที่ท่องเที่ยว อาจช้ากว่าการสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟน เพื่อค้นหาข้อมูลสถานที่ที่น่าสนใจ คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย จึงจัดทำแอพพลิเคชั่น Heritage Map and Cultural Calendar (แผนที่มรดกและปฏิทินวัฒนธรรมยุโรป) ใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ดำเนินงานโดย บริษัท ทาลิสแมน มีเดีย จำกัด โดยได้งบสนับสนุนโครงการกว่า 500,000 บาท จากคณะผู้แทนสหภาพยุโรป กองทุนกลุ่มเครือข่ายสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EUNIC Thailand) สถานทูตเดนมาร์ก สถานทูตอิตาลี สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตโปรตุเกส สมาคมฝรั่งเศส สถาบันเกอเธ่ และ บริติช เคาน์ซิล 

 
Jesús Miguel Sanz (ขวา) และ Luís Barreira de Sousa (กลาง) ยืนอยู่เบื้องหน้าสถานทูตโปรตุเกส หนึ่งในมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

EU เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Heritage Map and Cultural Calendar ไปเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่สถานทูตโปรตุเกส โดยมี Luís Barreira de Sousa เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ในฐานะเจ้าบ้าน ให้การต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งสถานทูตโปรตุเกส เป็นหนึ่งในกว่า 220 สถานที่น่าสนใจ ที่ถูกบรรจุไว้ในแอพพลิเคชั่น ตั้งอยู่ย่านสี่พระยา กรุงเทพฯ ตัวอาคารเป็นปูน-ไม้ สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Colonial หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีไม้ใหญ่นานาพันธุ์ให้ความร่มรื่นอยู่โดยรอบ (ถัดไปไม่ไกลคือสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเช่นเดียวกัน ตัวอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Colonial-Indo China อายุกว่า 150 ปี) 
 
Jesús Miguel Sanz หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวถึงความเป็นมาของแอพพลิเคชั่น Heritage Map and Cultural Calendar ว่า เกิดจากปี 2556 มีการจัดทำ “แผนที่มรดกวัฒนธรรมยุโรปในกรุงเทพมหานครและอยุธยา” ในรูปแบบของแผ่นพับ แล้วได้ผลตอบรับที่ดี ปีนี้ จึงขยายโครงการเป็นการจัดทำแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ให้ครอบคลุมสถานที่ที่น่าสนใจ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเทศในยุโรป

Jesús Miguel Sanz เตรียมพร้อมปั่นจักรยาน โดยมี Luís Barreira de Sousa พร้อมให้สัญญาณปล่อยตัว

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในยุโรปเป็นไปด้วยดี ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว EU เป็นคู่ค้าและผู้ลงทุนรายใหญ่สุดรายหนึ่งในไทย ส่วนในมิติความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมก็เป็นไปด้วยดี ผมหวังว่าแอพพลิเคชั่นจะช่วยให้ชาวไทยได้ชื่นชมกับมรดกทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และติดตามข่าวสารด้านศิลปวัฒนธรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” ทูต EU ประจำประเทศไทย บอก ก่อนร่วมทริปปั่นจักรยานไปยัง วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย 2 มรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานทูตโปรตุเกส 
 
แอพพลิเคชั่นแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ Map ที่สามารถค้นหามรดกทางประวัติศาสตร์ได้ตามสถานที่ตั้ง เช่น จังหวัด อำเภอ เป็นต้น นำเสนอรูปประกอบ ประวัติความเป็นมา และเส้นทางการเดินทาง มีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจาก EU หรือสถานทูตที่เกี่ยวข้อง ผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสามารถแจ้งเพิ่มมรดกทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจได้ และส่วนที่สอง คือ Calendar แจ้งข่าวสารกิจกรรมหลากหลาย ทั้ง เทศกาลภาพยนตร์ การแสดงเต้นรำ นิทรรศการศิลปะ งานสัมมนา ฯลฯ ที่จะมีการอัพเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่องทันเหตุการณ์ เพื่อให้ชาวไทยไม่พลาดกิจกรรมน่าสนใจจากกลุ่มประเทศในยุโรป 
 
เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เทคโนโลยี ที่นำมาใช้เพื่อกระชับสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดสนิทแน่นยิ่งขึ้น

 
วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) ย่านตลาดน้อย ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมแบบ Gothic
 
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ที่ร่วมออกแบบโดย Annibale Rigotti สถาปนิกชาวอิตาเลียน