มหากาพย์ ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ ธุรกิจพลังงานลมหมื่นล้านใกล้ถึงบทสรุป - Forbes Thailand

มหากาพย์ ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ ธุรกิจพลังงานลมหมื่นล้านใกล้ถึงบทสรุป

‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง’ ธุรกิจพลังงานลมหมื่นล้านบาท แถลงความคืบหน้าคดีความใกล้ถึงบทสรุป ย้ำตราสารการโอนหุ้นทุกฉบับชอบด้วยกฎหมาย ไม่กระทบโครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบัน กลุ่มครอบครัว “ประเดช กิตติอิสรานนท์” ถือหุ้นใหญ่ 51% เดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานทดแทนอีก 90 เมกะวัตต์ หนุนรายได้หมื่นล้านบาท กวาดกำไร 5,800 ล้านบาท


    คดีความระหว่างผู้ถือหุ้นภายในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ถือเป็นมหากาพย์ที่มีการฟ้องร้องกันมายาวนาเกือบ 10 ปี ระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม นพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ที่ถือหุ้น WEH ผ่านบริษัท REC ก่อนเปลี่ยนมือมาสู่ บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด และ เกษม ณรงค์เดช ในปี 2559

    และปัจจุบันหุ้นในส่วนนี้ถือครองโดยบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคม 2567 ในสัดส่วน 37.87% หรือจำนวน 41 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 108 ล้านหุ้น ขณะที่หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งเป็นของครอบครัว “กิตติอิสรานนท์” ของ ประเดช กิตติอิสรานนท์ นักลงทุนรายใหญ่ ปัจจุบันถือครองหุ้นใน WEH ราว 51% และไม่มีปัญหาเรื่องคดีความแต่อย่างใด

    ส่วนกรณีล่าสุดที่บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ถือครองหุ้น WEH ในสัดส่วน 7.12% ยื่นต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนธุรกรรมแลกหุ้นทั้งหมดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 นั้น ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH กล่าวว่า สำหรับหุ้น WEH ที่ NUSA ได้มาจากการซื้อขายชำระเงินโดยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) จากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ การทำธุรกรรมสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย

    “บริษัทฯ ไม่มีความหนักใจใดๆ ในคดีที่ NUSA ยื่นต่อศาลขอเพิกถอนธุรกรรมแลกหุ้นทั้งหมด เพราะ NUSA ไปอ้างคำตัดสินคดีอาญา (คดีปลอมเอกสาร) ของหุ้นกลุ่มที่ 1 ที่ไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย ซึ่งข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานทั้งหมดมีความชัดเจนในตัวเอง พร้อมนำเสนอต่อศาลอยู่แล้ว” ณัฐพศินระบุ


มหากาพย์คดีหุ้น WEH ใกล้ถึงบทสรุป

    สำหรับคดีความของผู้ถือหุ้นกลุ่มที่ 1 ระหว่าง นพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ที่ถือหุ้น WEH ผ่านบริษัท REC ก่อนเปลี่ยนมือมาสู่ บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) KPNET จำกัด และ เกษม ณรงค์เดช ในปี 2559 และปัจจุบันหุ้นในส่วนนี้ถือครองโดยบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) นั้น ปัจจุบันคดีความต่างๆ เริ่มคลี่คลาย และรอคำตัดสินของศาลให้ปฏิบัติตามต่อไป ดังนี้

    -คดีแรกข้อพิพาทบุคคลภายนอก เรื่องการชำระเงินซื้อขายบริษัท REC โดยระหว่างปี 2558 - 2560 กลุ่มนพพรได้ขายบริษัท REC (ถือครองหุ้น WEH 59.46%) ให้กับกลุ่ม ณพ ณรงค์เดช และเปลี่ยนชื่อจาก REC เป็น KPNET แต่เกิดข้อพิพาทการชำระเงินซื้อขาย REC นำไปสู่คดีความระหว่าง 2 ฝ่าย ในฮ่องกง สิงคโปร์ อังกฤษ และไทย

    ในปี 2559 ที่อยู่ระหว่างข้อพิพาทการชำระเงิน REC บริษัท KPNET ได้โอนหุ้น WEH ทั้งหมด ไปยังผู้รับโอนในชื่อ เกษม ณรงค์เดช และจากเกษม มีการโอนหุ้นออกไปยังผู้รับโอนอื่นๆ อีกหลายทอด เหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มนายนพพรฟ้องร้องเป็นคดีสมคบคิดต่อศาลอังกฤษ และฟ้องร้องคดีโกงเจ้าหนี้ต่อศาลไทย

    สถานะปัจจุบัน ทั้ง 2 คดี ได้รับการตัดสินแล้ว โดยศาลอังกฤษตัดสินให้นายนพพรได้รับชำระเงินค่าเสียหายรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนศาลไทยตัดสินยกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ทั้ง 2 คดีดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันใดๆ กับบริษัทฯ เพราะไม่มีความเกี่ยวข้อง

    -คดีที่ 2 ข้อพิพาทบุคคลภายนอก คดีแพ่งและคดีอาญา ที่ เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ในคดีแพ่ง และโจทก์ร่วมในคดีอาญา ฟ้องบุคคลภายนอกอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ กลุ่มเหตุการณ์นี้ เกิดช่วงปี 2561 หลังจาก เกษม ตกเป็นจำเลยร่วมในคดีสมคบคิดในศาลอังกฤษ และคดีโกงเจ้าหนี้ในศาลไทย เพราะมีชื่อเป็นผู้รับโอนหุ้นมาจาก KPNET ต่อมาในปี 2562 เกษมได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง พ.1031/2562 เรียกทรัพย์คืน โดยมีหุ้น WEH เป็น 1 ในรายการตามคำขอ สถานะปัจจุบันคดีสิ้นสุด เพราะโจทก์ถอนฟ้อง

    คดีแพ่งที่ยังมีผลอยู่ปัจจุบัน คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.978/2565 ที่ กฤษณ์ ณรงค์เดช และ กรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องเรียกหุ้น WEH คืนจาก GML จำนวน 31 ล้านหุ้น จากทั้งหมดที่ GML ถือครอง 41 ล้านหุ้น (GML ถือครองหุ้น WEH ในสัดส่วน 37.87%)

    สถานะปัจจุบันศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอน และให้อายัดเงินปันผลหุ้น WEH ที่ GML ถือครองอยู่ 37.87%ทั้งหมด โดยศาลสั่งให้บริษัทฯ นำเงินปันผลทั้งหมดของ GML ไปวางไว้ที่ศาลตามคำสั่งคุ้มครองจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ปัจจุบันบริษัทฯ นำเงินปันผลส่วนนี้ไปวางไว้ที่ศาลแล้วรวมประมาณ 2,700 ล้านบาท

    -คดีสุดท้ายของกลุ่มนี้ คือ คดีอาญา ที่อัยการและเกษมเป็นโจทก์ร่วม ฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร คดีหมายเลขดำที่ อ.1708/2564 (หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566) โดยยื่นฟ้องในปี 2564

    สถานะปัจจุบันศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่มีคำพิพากษาว่าลายเซ็นเกษมในเอกสาร 5 รายการ เป็นลายเซ็นปลอม จึงมีคำสั่งให้ริบเอกสารทั้ง 5 รายการ โดยมีเอกสารรายการเดียวเท่านั้น ที่กล่าวถึงบริษัทฯ คือ สัญญาซื้อขายหุ้น WEH ระหว่าง เกษม กับ KPNET เป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นเอกสารคนละฉบับกับตราสารการโอนหุ้น ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการโอนหุ้นระหว่าง เกษม กับ KPNET จึงมีผลสมบูรณ์ด้วยกฎหมาย

    กลุ่มเหตุการณ์ที่ 3 ในคดีสุดท้าย ซึ่งเป็นข้อพิพาทบุคคลภายนอก ที่ KPNET อาศัยคำพิพากษาคดีอาญาปลอมแปลงเอกสาร หมายเลขแดงที่ อ.1753/2566 เพื่ออ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH ปัจจุบัน สถานะของ KPNET เป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทฯ เพราะไม่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และใน บอจ.5

    อย่างไรก็ตาม หลังคำตัดสินคดีอาญาปลอมเอกสาร KPNET ได้อาศัยคำพิพากษาคดีดังกล่าว อ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้น WEH และไปจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น WEH เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการคัดค้านต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

    โดยสถานะล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 โดยระบุชัดเจนว่า KPNET ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น WEH เพราะคำพิพากษาคดีอาญา วินิจฉัยเฉพาะสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นเอกสารปลอม ซึ่งเป็นเอกสารคนละชนิดกับตราสารการโอนหุ้น เป็นนิติกรรมคนละประเภท การอ้างว่าสัญญาซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะ ทำให้ตราสารการโอนเป็นโมฆะและเสียเปล่า จึงไม่อาจรับฟังได้

    “สิ่งสำคัญที่นำมาพิจารณาได้ คือตราสารการโอนหุ้น ซึ่งจะระบุชื่อเจ้าของหุ้นตัวจริง ที่ไม่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย KPNET ขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้นของ WEH ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2559 และคุณเกษม ขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น 22 มีนาคม 2561 ดังนั้น KPNET จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ WEH แล้ว” ฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯระบุ


เดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน

    ณัฐพศิน กล่าวว่า สำหรับทิศทางธุรกิจของ WEH ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมามีรายได้รวมประมาณ 10,000 ล้านบาท จากกำลังการผลิตรวม 717 เมกะวัตต์ และมีสัดส่วนกำไรถึง 50% หรือประมาณ 5,800 ล้านบาท ซึ่งเติบโตประมาณ 9% จากปีก่อนหน้านี้

    ในปีนี้มีแผนจะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนอีกประมาณ 180 เมกะวัตต์ จากพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 75 เมกะวัตต์ และแบตเตอรี่ รวมถึงการยื่นประมูลโครงการของภาครัฐที่จะเปิดเพิ่มเติมในปีนี้ รวมถึงพิจารณาแผนลงทุนในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ มีงบลงทุนต่อปีประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านบาท


    “ทิศทางธุรกิจพลังงานลม จะดีปีเว้นปี ปีที่แล้วถือว่าดีมาก บริษัทได้ผลกำไรในอัตราที่สูง ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะลดลงเล็กน้อย แต่มีโครงการอื่นๆ ที่จะพิจารณายื่นเพิ่มเติม รวมถึงการขยายธุรกิจในต่างประเทศ หากไม่คุ้มก็ยังไม่ลงทุน เก็บเงินปันผลไว้ให้ผู้ถือหุ้นดีกว่า” ณัฐพศินกล่าว

    สำหรับแนวโน้มคดีความทั้งหลายของ WEH ที่ค่อย ๆ กระจ่างขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งโดยรวมไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่อาจกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของบริษัท หากมีกรณีที่กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทอาจมีการดำเนินการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากคดีทั้งหมดจบลง บริษัทฯมีความพร้อมเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘บี.กริม เพาเวอร์’ ทุ่ม 36 ล้านเหรียญ ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งใน ‘เกาหลีใต้’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine