Coach A: สร้างองค์กรให้แกร่ง ผ่านผู้นำการเปลี่ยนแปลง - Forbes Thailand

Coach A: สร้างองค์กรให้แกร่ง ผ่านผู้นำการเปลี่ยนแปลง

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Jan 2015 | 07:46 PM
READ 5137
งานสัมมนา International Columbia Coaching Program ครั้งแรก ที่ Columbia University  22-23 ตุลาคม 2557


หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า coaching มาบ้าง นอกจากจะใช้ในแวดวงกีฬาแล้ว ปัจจุบันขอบเขตของการโค้ชนั้นกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งก้าวเข้าสู่การบริหารจัดการในระดับองค์กร
 
 
วีรชัย กู้ประเสริฐ  แห่ง COACH A (Thailand) อธิบายถึงรากศัพท์คำนี้ว่า มีความหมายตรงกับโลโก้กระเป๋ายี่ห้อหนึ่ง ที่ใช้รูปคนขับรถม้า แสดงนัยยะของคนผู้มีหน้าที่คุมม้าและคุมรถ ซึ่งก็คือผู้คุมบังเหียนและคุมทิศทางของรถม้า หรือผู้นำนั่นเอง 
 
"เราต้อง lead yourself แล้วค่อย lead organization ความหมายของการนำอยู่ที่ตรงนี้" เขาย้ำแนวคิดของ Coach A
 
วีรชัยเคยผ่านงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาไม่น้อย ไม่ว่าสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) , บริษัทปูนซิเมนต์ไทย, ธนาคารดอยช์แบงก์, วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ รวมประสบการณ์มากกว่า 30 ปี นอกจากนี้ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาศูนย์อาเซียน-ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นผู้บรรยายพิเศษให้หลักสูตรปริญญาโท-เอก สาขาการบริหารจัดการ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
 
วีรชัยกล่าวว่า ศาสตร์ด้าน coaching ยังอาจใหม่สำหรับเมืองไทย แต่เวลานี้ได้มีบทบาทในงานบริหารอย่างมาก ธุรกิจทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ สุดท้ายแล้วจะแพ้ชนะกันที่ความสามารถของบุคลากร หากอ่านวารสารวิชาการไม่ว่าจาก Havard หรือ MIT จะให้ความสนใจในเรื่อง human resource มากขึ้น  แล้วก็จะเริ่มเห็นคำว่า coaching โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ
 
"Coach A ได้รับเชิญไปบรรยายที่ Columbia University เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่าน มหาวิทยาลัยระดับนี้เชิญบริษัทญี่ปุ่นไปพูด แสดงว่าเขายอมรับว่าเรามี know-how ของตัวเอง" เขากล่าวว่า ตลอดเวลาก่อตั้งบริษัท 17 ปี  มีลูกค้ามากกว่าสองแสนคน จากสองพันกว่าบริษัท
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 Mamoru Itoh ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Coach A ผู้บุกเบิกธุรกิจ Coaching ในญี่ปุ่น และเขียนตำราด้านนี้มากกว่า 50 เล่ม รวมทั้งยังทำหน้าที่โค้ชให้กับผู้บริหารระดับสูงเป็นจำนวนมาก จะมาร่วมงานสัมมนาครั้งพิเศษ Global Leaders Forum สำหรับผู้บริหารระดับสูงและระดับปฏิบัติการ ที่โรงแรม Westin Grande Sukhumvit  เพื่อแนะนำว่า coaching จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจในโลกยุคใหม่อย่างไร 

 
เปลี่ยนแปลงองค์กร ผ่านตัวผู้นำ
ปัจจุบันการสร้างเสริมศักยภาพด้วย coaching นั้นมีหลากหลายสาขา นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน หรือเพิ่มศักยภาพของปัจเจกบุคลที่เรียกว่า life coach  แต่หัวใจสำคัญของ Coach A ที่บุกเบิกงานด้านนี้จนประสบความสำเร็จ มีบริษัทเครือข่ายอยู่ใน New York, Shanghai, Hong Kong, Singapore และล่าสุดคือกรุงเทพฯ ก็คือการมุ่งเน้นสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างศักยภาพในระดับองค์กร ด้วยการสร้าง change agent ให้เกิดกับบุคคลที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเป็นผู้บริหารระดับกลางไปจนถึงระดับซีอีโอ
 
"ความเปลี่ยนแปลงขององค์กรต้องดำเนินการผ่านคน หัวใจคือ interpersonal relationship จะบริหารบุคคลให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร พูดดูเหมือนง่าย แต่สำหรับ human being แล้ว มาจากร้อยพ่อพันแม่ แต่ต้องมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ผ่าน M&A หรือที่มีลักษณะ cross cultural"
 
กระบวนการอบรมของ Coach A ยังต่างไปจากวิธีโค้ชทั่วไป ที่มุ่งเพียงสองส่วนคือ coach กับ client (ผู้รับการโค้ชในระดับผู้จัดการ หรือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในองค์กร)  แต่ Coach A นั้นนำ coaching เข้าสู่องค์กร มิใช่แค่พัฒนาเฉพาะตัวบุคคลหรือเฉพาะผู้บริหารเท่านั้น แต่เป็นกลไกที่มองไปที่ประสิทธิผลขององค์กรโดยรวม  Coach A เชื่อมั่นว่า เมื่อผู้นำซึ่งมีบทบาทสูงในองค์กร ได้รับ coaching แล้ว พวกเขาจะกลับไปสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในองค์กรของตัวเอง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลในทางบวก ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายข้างหน้าได้
 
Coach A จึงต้องผนวกรวม stakeholders เข้ามาไว้ในกระบวนการด้วย คนในกลุ่มนี้อาจเป็นเจ้านายโดยตรง หรือเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนที่เป็นคู่ค้าของ client เป็นต้น นี่คือความแตกต่างที่ก้าวไปไกลเกินกว่าตัวบุคคล เพราะทำให้ coaching สร้างสัมฤทธิ์ผลต่อ stakeholders ของ client ไปพร้อมๆ กัน
 
วีรชัยขยายความว่า กระบวนการโค้ชของ Coach A จะใช้เวลา 8 เดือน โดยแต่ละชั้นเรียนจะมีเพียง 7 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าชั้นผ่านโทรศัพท์ ใช้เวลาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น และในระหว่างสัปดาห์ client ผู้รับการโค้ช จะต้องนำสิ่งที่ได้รู้ในชั้นไปปฏิบัติต่อ stakeholders อีก 5 คน เพื่อนำผลลัพธ์จะปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกลับมาเข้าชั้นในสัปดาห์ต่อไป โดยจะมีโค้ชส่วนตัวในคำแนะนำในระหว่างสัปดาห์
 
 
บรรษัทข้ามชาติกับ Coaching
Coach A สำคัญต่อองค์กรอย่างไร Kazunori Sakurai ซึ่งเป็น Senior Managing Director ยกตัวอย่างไว้ในบทความ “Coaching Towards Localization” ในเว็บไซต์ Coach A ว่า ในตอนนี้บรรษัทข้ามชาติของญี่ปุ่นกำลังเริ่มปรับระบบการบริหารจัดการบริษัทในต่างแดน ให้เหมาะเจาะและมีความเป็นท้องถิ่น (localize) มากขึ้น กระบวนการ coaching ช่วยให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้

บริษัทญี่ปุ่นในอดีตมักจะส่งผู้บริหารญี่ปุ่นออกไปบริหารงานบริษัทลูกในต่างแดน เพื่อควบคุมฝ่ายปฏิบัติงานให้ทำงานตามสั่ง แต่ในยุคสมัยนี้ การส่งออกผู้บริหารแบบเก่าเริ่มกลายเป็นปัญหา เพราะเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ความคิดในการ localization ผู้บริหาร ได้กลายเป็นประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนในบรรดาบรรษัทข้ามชาติของญี่ปุ่น 
 
แต่ปัญหาใหญ่คือคนทำงานในท้องถิ่นยังคุ้นเคยกับการรับคำสั่งจากผู้จัดการต่างชาติ ความพยายามผ่านการเทรนนิ่งไร้ผล การลงทุนมหาศาลด้วยการคัดเลือกคนเก่งไปเรียนต่อด้านบริหารในต่างประเทศ ก็ไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆ กลับคืนมาเลย
 
จนเมื่อปีที่ 2556 ทาง Coach A เริ่มทำ coaching กับประธานบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในไทย ตัวเขามีเป้าหมายให้ผู้นำองค์กรคนไทยสืบทอดบทบาทหน้าที่ประธานบริษัทจากเขาให้ได้ หลังผู้บริหารคนนั้นผ่านกระบวนการโค้ช เขายอมรับว่าหากจะปรับเปลี่ยนให้ได้ ตัวเขาต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
 
"หลังผ่านไปราวครึ่งปี ผมมีโอกาสพบกับผู้จัดการชาวไทยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นมือขวาของประธานคนนั้น เขาเล่าว่านายตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ เขามักสื่อสารทางเดียวเสมอในระหว่างประชุม แต่ตอนนี้กลับใช้เวลาฟังคนอื่นมากขึ้น จำนวนครั้งในการประชุมระดมความคิดก็เพิ่มมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเรารู้สึกได้ว่าท่านประธานเชื่อมั่นในตัวพวกเขา" Sakurai ระบุ

 
ดึงศักยภาพจากภายใน
ความสงสัยประการหนึ่งก็คือ coaching แตกต่างจากการจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจอย่างไร วีรชัยกล่าวชัดเจนว่า ที่ปรึกษาทางธุรกิจให้ solution ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการ teaching ประเมินแล้วว่าทางออกมีหนึ่ง สอง สาม ฯลฯ  แต่ Coaching ไม่ให้เลย ที่ coaching ทำก็คือให้ feedback หรือ reflection ในสิ่งที่คิดและทำ  แล้วคนนั้นนำ reflection กลับไปพัฒนาต่อเอง เนื่องจากคนตั้งเป้าหมายย่อมต้องรู้ตัวเองดีที่สุด
 
"coaching มองว่าทุกคนมีความสามารถหมด แต่ทุกวันนี้ใช้กันไม่ถึง 10% โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง แต่เขาไม่รู้ว่าจะดึงศักยภาพพวกนี้ออกมาได้อย่างไร" 
 
เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น เขาได้เทียบเคียงกับทีมฟุตบอลว่า โค้ชซิโก้ต้องทำหน้าที่ teaching กับ coaching สลับกันไป  ช่วงก่อนลงสนามก็จะวางแผนยุทธศาสตร์การเล่น รุกหรือรับอย่างไรให้ลูกทีม สร้าง solution ไว้ให้พร้อม แต่ในช่วงลงสนาม นักฟุตบอลเลี้ยงลูกไป ตัดสินใจว่าจังหวะนี้จะต้องเงื้อเท้ายิงประตู โค้ชซิโก้สอนเขาไม่ได้ แล้วตัวเขาก็ไม่ได้หันมาปรึกษาโค้ชว่าต้องยิงแล้ว coaching  ช่วยสร้างตรงนี้ เพราะศักยภาพของมนุษย์ก็คือทักษะนั่นเอง
 
“แล้วตรงนั้นมาจากไหนละ มาจากสัญชาติญาณ แล้วสัญชาติญาณที่มาจากคนทุกคนในทีม ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือเรื่องใหญ่สุด จะทำให้เขาคิดและทำเอง ทีมฟุตบอลมีแค่ 11 คน แล้วคุณในฐานะหัวหน้าทีม คุณมีม้ากี่ตัวที่คุณต้องคุม” วีรชัยทิ้งท้าย