Back to the future: ภูเก็ตกับปัญหา และทางออก - Forbes Thailand

Back to the future: ภูเก็ตกับปัญหา และทางออก

ทะเลสีครามของ “ไข่มุกอันดามัน” กำลังเผชิญกับมรสุมที่พัดเอาเมฆดำปกคลุมเกาะสวรรค์แห่งนี้ จนมองไม่เห็นทิศทางในอนาคต ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกังวลและเริ่มระดมความคิดเห็นเร่งหาทางออก ทั้งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ จัดระเบียบและหาจุดขายเพิ่ม ก่อนที่ทั้งหมดจะสายเกินแก้ แต่หลายฝ่ายมองว่างานนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 หน่วยงานด้านธนบดีธนกิจ (private banking) ของธนาคารไทยพาณิชย์จัดระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “Visioning Phuket in 2020” เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ให้ภูเก็ตสามารถแข่งขันในระดับสากล และก้าวสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นลูกค้า private banking ของธนาคารฯ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัด และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
 
หลายคนที่คลุกคลีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมองว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเปิดเวทีระดมความคิดเห็นหาแนวทางแก้ไขให้กับภูเก็ต แต่ผลสรุปก็ไม่เคยได้ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งหมดหายไปพร้อมๆ กับงานนั้นจบลง เห็นได้ว่าเกาะเศรษฐกิจแห่งนี้ยังเผชิญกับปัญหาเดิมๆ และปัญหาใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตที่รวดเร็วของเมือง พร้อมกับผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งคาดว่า เม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในภูเก็ตในปี 2557 น่าจะสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท 
 
วิจิตร ณ ระนอง ประธานกรรมการโรงแรมอินดิโก้เพิร์ลภูเก็ต และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนแรก เป็นชาวภูเก็ตและเห็นการเปลี่ยนแปลงของจังหวัดมาตลอด บอกกับวงสัมมนาว่า ในช่วงชีวิตของเขา เขาพยายามอย่างมากที่จะสร้างการเติบโตของภูเก็ตอย่างยั่งยืน โดยเข้าไปร่วมระดมความคิดในเวทีต่างๆ และร่วมทำงานกับภาครัฐ แต่ความพยายามของเขาก็ไม่เกิดผลใดๆ ตามมา 
 
“ผมอยากร้องไห้กับภูเก็ตกับความเจริญแบบนี้”  วิจิตรหมายถึงการเติบโตที่ไร้ระเบียบ ทุกวันนี้เขาบอกว่าเหนื่อยกับการไปแสดงความคิดเห็นบนเวทีต่างๆ และพยายามเลี่ยงที่จะออกไปร่วมลักษณะนี้ในระยะหนึ่งแล้ว เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรตามมา แต่มาครั้งนี้เขาตอบรับคำเชิญเพราะมีความหวังว่ารัฐมนตรีคนปัจจุบันจะนำปัญหาบนเกาะไปแก้ไขอย่างจริงจัง
 
สุทธาภา อมรวิวัฒน์ chief economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันภูเก็ตเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของโลก โดยในปี 2556 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.4 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 3.6 ล้านคน อย่างไรก็ตามภูเก็ตยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในอนาคต เช่น สวนสนุก การแสดงโชว์ ศูนย์การค้าระดับบน ศูนย์ประชุม การท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรมและจัดงานเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้ควรจะเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียงเพื่อพัฒนาเป็น Rivera of Asia
 
อย่างไรก็ตาม สุทธาภาเตือนว่า ภูเก็ตต้องปรับตัวในหลายๆ ด้านเพื่อรองรับกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป  โดยเฉพาะช่วงอายุ 25-34 ปี หรือกลุ่ม Gen Y ที่เพิ่มจำนวนขึ้นตั้งแต่ปี 2550 รวมไปถึงการทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนในปัจจุบันและอนาคต ผลสำรวจของเวบไซด์ชื่อดัง Hotels.com พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ติดสถานที่ท่องเที่ยว10 อันดับแรก ที่ชาวจีนอยากไป แต่ไทยเป็นประเทศอันดับ 3 ที่มีชาวจีนมาเที่ยวมากที่สุด ข้อมูลนี้ส่งสัญญาณว่าในอนาคตหากชาวจีนรวยขึ้น พวกเขาจะเดินทางไปประเทศในฝันของเขา ไม่สนใจประเทศไทยอีกต่อไป และนี่คือโจทย์ที่ภูเก็ตต้องนำไปขบคิด
 
 อีกประเด็นที่วงเสวนาให้ความสนใจอย่างมากคือ ตำแหน่งทางการตลาดของภูเก็ตอยู่ตรงไหนในตลาดโลก เพราะทุกวันนี้ภูเก็ตยังมีจุดขายที่คลุมเครือ โดยสรุปที่ทุกคนมองว่าที่ต้องเร่งทำคือ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะให้ภูเก็ตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยว แต่เน้นจับกลุ่มคนมีรายได้สูง พร้อมกับมีกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อดึงคนกลุ่มนี้ เช่น การแข่งขันกีฬา หรือการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ นอกจากนี้การจัดระเบียบเมืองและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น มิเช่นนั้นภูเก็ตจะไม่โต  และสำคัญที่สุดคือภูเก็ตจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  
 
กอบกาญจน์เห็นด้วยกับปัญหาที่สะท้อนออกมา ซึ่งเธอเริ่มผลักดันแก้ไขบางส่วนแล้ว แต่เธอให้ความสนใจเรื่องจุดขาย เธอบอกว่าภูเก็ตมีจุดดีมากมาย ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องขายภูเก็ตในหลายๆ ด้าน นอกเหนือจากชายทะเลที่สวยงาม ภูเก็ตยังสามารถเป็นที่ให้บริการทางการการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงยังเป็นที่รองรับการจัดการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะไม่มีฤดูกาลของการท่องเที่ยวเป็นข้อจำกัด ผลทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับภูเก็ตตลอดทั้งปีได้ 
 
รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย หากทุกคนอยากเห็นสิ่งที่พูดคุยในงานนี้เป็นจริงขึ้นมา เหตุเพราะเธอจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเศษๆ เธอคนเดียวไม่สามารถทำงานที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ เธอบอกว่าจะสู้เพื่อภูเก็ต แม้ส่วนตัวจะชอบภูเขามากว่า เธอจบงานวันนั้นด้วยสโลแกนฮิตของบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ที่เธอนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารก่อนหน้าว่า “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่เธอทิ้งไว้