AACSB เผยแนวทางสร้างหลักสูตร “คณะบริหารธุรกิจ” ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ - Forbes Thailand

AACSB เผยแนวทางสร้างหลักสูตร “คณะบริหารธุรกิจ” ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่

สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับนานาชาติ หรือ Association to Advance Collegiate Schools of Business (AACSB) จัดการประชุมที่ประเทศไทย แคริน เบ็ก-ดัดลีย์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AACSB และ เจฟฟ์ เพอร์รี่ รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ AACSB เอเชียแปซิฟิก ร่วมเผย ปัจจัยผลักดัน 5 แนวทางที่จะนำคณะบริหารธุรกิจไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางสังคมและธุรกิจที่เปลี่ยนไป


    AACSB สถาบันหลักด้านการบริหารธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีคณะบริหารธุรกิจกว่า 1,600 แห่งที่จัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษามากกว่า 4 ล้านคนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยช่วงเปลี่ยนเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา AACSB ได้จัดการประชุมประจำปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Annual Conference) ซึ่งจะมีตัวแทนจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไร

    โดยตัวแทนจากคณะบริหารธุรกิจจากหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เดินทางเข้าร่วมเอาทิ Wharton University of Pennsylvania, California Metropolitan University และสภาการจัดการการรับเข้าบัณฑิต หรือ Graduate Management Admissions Council, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

    เพื่อหารือถึงเรื่องความท้าทายต่างๆ ของการเรียนการสอนด้านการบริหารธุรกิจ พร้อมเสนอแนวทางการสร้างโซลูชันเชิงกลยุทธ์และบรรลุผลลัพธ์เชิงบวกร่วมกัน

    เจฟฟ์ เพอร์รี่ รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ AACSB เอเชียแปซิฟิก เผยว่าสำหรับคณะบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน AACSB ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิยาลัยมหิดล วิทยาลัยนานาชาติ-มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริการศาสตร์ (NIDA) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การได้รับรองมาตรฐานจากสถาบันจะเป็นเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาหลักสูตรจากทีมงานของ AACSB และยังเป็นการเข้าถึงเครือข่ายคณะบริหารธุรกิจในสมาคมจากทั่วโลก” เพอร์รี่ กล่าว


    ด้าน แคริน เบ็ก-ดัดลีย์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AACSB กล่าวถึงภาพรวมอนาคตของการศึกษาด้านธุรกิจ (Planning for the Future of Business Education) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยการประชุม AACSB เอเชียแปซิฟิก ในครั้งนี้จะครอบคลุมถึงประเด็นหลักๆ 5 ประการ

“การเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาและการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้เรียนทำให้คณะบริหารธุรกิจต้องทบทวนความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ประเมินความเสี่ยง และการสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ทั้งนี้ สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับนานาชาติ หรือ Association to Advance Collegiate Schools of Business (AACSB) ได้ระบุปัจจัยผลักดัน 5 ประการที่จะนำคณะบริหารธุรกิจไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางสังคมและธุรกิจที่เปลี่ยนไป” แคริน เบ็ก-ดัดลีย์ กล่าวและเผยถึง 5 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้

    1. มุ่งมั่นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ในขณะที่ผู้บริโภคและพนักงานกดดันบริษัทให้จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายขององค์กร ผู้เรียนรุ่นใหม่ต่างพากันกำหนดนิยามใหม่ว่าการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจควรเป็นอย่างไร

    ขณะที่คณะบริหารธุรกิจถูกกระตุ้นให้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อชุมชน แต่ทว่าหลายๆ แห่งยังคงเผชิญกับระบบที่ไม่เอื้อต่อการสร้างผลกระทบทางสังคม ทั้งผู้สอนและผู้บริหารคณะฯ จำเป็นต้องคิดอย่างมีกลยุทธ์ พร้อมทั้งผลิตงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ รวมทั้งพัฒนาความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมที่จำเป็นสำหรับผู้นำที่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมในอนาคต

    2. ปลูกฝังหลักการ DEIB (ความหลากหลาย/diversity ความเสมอภาค/equity การยอมรับความแตกต่าง/inclusion การเป็นเจ้าของ/belonging) เข้าไปในวัฒนธรรมองค์กรและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เริ่มตั้งแต่การรับสมัครนักศึกษา การพัฒนาหลักสูตร รวมไปถึงการว่าจ้างคณาจารย์ คณะบริหารธุรกิจควรบูรณาการ DEIB เข้ากับทุกพันธกิจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมและครอบคลุม

    3. ประเมินพันธมิตรที่มีอยู่และสร้างพันธมิตรใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าคณะบริหารธุรกิจขับเคลื่อนด้วยโซลูชันและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและภาคอุตสาหกรรม คณะบริหารธุรกิจต้องคำนึงถึงการสร้างพันธมิตรในทุกๆ มิติ อาทิ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการชุมชน เพื่อสร้างความแตกต่างทางการตลาด

    การสร้างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีแนวทางเชิงกลยุทธ์ เช่น การจัดลำดับความสำคัญของการทำงานร่วมกันข้ามสายงานเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อน หรือใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอน

    4. ลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายและตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาในอนาคต การเรียนรู้ใช้รูปแบบไฮบริดมากขึ้นในปัจจุบัน โดยคณะบริหารธุรกิจถูกคาดหวังว่าต้องสามารถรองรับผู้เรียนได้ทุกกลุ่ม

    รวมทั้งมีความพร้อมด้านนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งแบบออนไลน์และแบบตัวต่อตัว เช่น แพลตฟอร์มเสมือนจริงเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เรียน หรือการประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อติดตามความเชี่ยวชาญทางทักษะของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

    ขณะที่โลกของการทำงานกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจจะต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การสอนเรื่องระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized finance หรือ DeFi) ในหลักสูตร เป็นต้น

    5. ส่งเสริมคณาจารย์ให้ประสบความสำเร็จ คณะต้องเผชิญกับบทบาทใหม่ในปัจจุบัน โดยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและการเรียนการสอนในรูปแบบไฮบริด นอกเหนือจากการสอนและงานวิจัยแล้ว คณาจารย์ยังต้องมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ผู้อำนวยความสะดวก และที่ปรึกษา

    ดังนั้น คณะบริหารธุรกิจจำเป็นต้องจัดเตรียมรูปแบบการสนับสนุนคณาจารย์ที่แตกต่างกัน ทั้งยังต้องอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best practice) รวมถึงการให้รางวัลสำหรับความตั้งใจในการสอนออนไลน์


การกำหนดโมเดลการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม


    ตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันความสำเร็จทางธุรกิจไม่ได้วัดจากมูลค่าผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภค พนักงาน และประชาชนทั่วไปต่างพากันท้าทายองค์กรเกี่ยวกับบทบาทในการสร้างผลผลกระทบต่อสังคม คณะบริหารธุรกิจจึงจำเป็นต้องสร้างผลกระทบต่อสังคมและพัฒนาผู้นำในอนาคตให้มีจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวมด้วย

    คณะบริหารธุรกิจถือเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชุมชนผ่านการสอน งานวิจัย และการบริการวิชาการ ทั้งนี้ 6 ใน 9 ของมาตรฐานการรับรองคณะบริหารธุรกิจฉบับปี 2020 ของ AACSB ได้กำหนดให้คณะฯ สร้างผลกระทบต่อสังคมในด้านต่างๆ ได้แก่ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การพัฒนาหลักสูตร และการผลิตความเป็นผู้นำทางความคิด

    มาตรฐานดังกล่าวยังคาดหวังให้คณะบริหารธุรกิจสะท้อนผลกระทบผ่านกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย โดยให้สอดคล้องกับภารกิจ กลยุทธ์ และผลลัพธ์ที่คาดหวัง


ผลสำรวจเผยแนวคนรุ่นใหม่ที่มีต่อองค์กร


    Harvard Business Review สำรวจบริษัทระดับโลกและพบว่าร้อยละ 58 ขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับเป้าประสงค์นั้นเติบโตถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า เมื่อเทียบกับร้อยละ 42 ของบริษัทที่ไม่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน

    ในปี 2020 Deloitte พบว่าบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าประสงค์ชัดเจนมีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและความสามารถในการเก็บรักษาพนักงานไว้ให้อยู่กับองค์กรในระดับที่สูงกว่าบริษัทคู่แข่งถึง 30% และ 40% ตามลำดับ

    ด้านการศึกษาวิจัยของ PwC พบว่าร้อยละ 34 ของผู้นำทางธุรกิจในสหรัฐฯ กล่าวว่าเป้าประสงค์ขององค์กรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้นำ แม้ว่าร้อยละ 79 ของผู้นำทางธุรกิจเหล่านี้จะเชื่อว่าเป้าประสงค์ของธุรกิจคือกุญแจสู่ความสำเร็จ

    คณะบริหารธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้นำที่สร้างผลกระทบต่อสังคมในอนาคต โดยเตรียมพวกเขาให้มีทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้นำบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าประสงค์ ซึ่งโมเดลธุรกิจที่จะเกิดขึ้นนั้นจะให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมากกว่าผลกำไรล้วนๆ

    ขณะที่ร้อยละ 64 ของคนกลุ่ม Millennials จะปฏิเสธร่วมงานกับบริษัทมีค่านิยมความรับผิดชอบต่อสังคมน้อย และร้อยละ 77 ของคนกลุ่ม Gen Z กล่าวว่าสิ่งสำคัญในการทำงานคือค่านิยมของนายจ้างที่ต้องสอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา โดย Gen Z ให้ความสำคัญกับเงินเดือนน้อยกว่าคนรุ่นอื่นๆ

    ทั้งนี้ การผลิตผู้นำที่สร้างผลกระทบต่อสังคม คณะบริหารธุรกิจมีภารกิจหลักในการสร้างสรรค์หลักสูตรที่ส่งเสริมนวัตกรรม การเรียนรู้จากประสบการณ์ และกระตุ้นกรอบความคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    ผู้บริหารคณะฯ จึงควรพยายามจัดองค์ประกอบของหลักสูตรที่ส่งเสริมผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก อาทิ หลักสูตรเฉพาะที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals–SDG, วิชาต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมจากกระบวนการของการประกอบธุรกิจ และประสบการณ์ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำหลักการทางธุรกิจไปใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างจริงจัง เป็นต้น


อ่านเพิ่มเติม: “เคทีซี” ปรับใหญ่ปี 66 โตทุกกลุ่ม ตั้งเป้ากำไรหมื่นล้านภายใน 5 ปี


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine