6 คำถามที่ทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเหมือนการทำธุรกิจ (ตอน 1) - Forbes Thailand

6 คำถามที่ทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเหมือนการทำธุรกิจ (ตอน 1)

การออกมาเป็นเทรดเดอร์มืออาชีพ ต้องใช้การวางแผนไม่ต่างกับการการทำธุรกิจสักอย่างครับ รายได้ประมาณต่อปีเท่าไหร่ มีความผันผวนหรือไม่ การซื้อขายสินค้าแบบไหนที่เราทำได้ดี แล้วไป drop ช่วงไหน การคุมต้นทุนหลังบ้านต้องทำอย่างไร ส่วนตัวแล้วผมมีหลักคิดเบื้องต้นอยู่ 6 แนวทางที่อยากเขียนแบ่งปันกันครับ

 

1. เราเข้าใจสินค้าที่เราเทรดอยู่มากน้อยแค่ไหน

หลายคนเข้ามาตลาดช่วงแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไหนก็ตามเพราะรู้สึกว่ามัน “ได้เงินไวดี” ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่อยู่ในกระแสข่าว ราคาทองวิ่งตามตลาดโลก ราคา Coin ที่กำลังให้ผลตอบแทนเป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้น ใช่ครับ มันหอมหวานมากกับการได้ผลตอบแทนระดับนี้ภายในไม่กี่เดือนแทนที่จะซื้อถือลงทุนเป็นปีๆ กว่าจะได้ผลตอบแทนแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำก็คือ เราต้องทำความเข้าใจให้แน่ชัดครับว่า รายได้ของเรามาจากอะไรกันแน่ มันมาจากสินค้าแบบไหน Player หลักๆ ในเกมคือใคร แล้วมีกฎกติกาอะไรในการลงสนามบ้าง ยกตัวอย่าง การลงทุนในหุ้นใน SET50 ซึ่งเป็นหุ้นพื้นฐานดี ที่ว่า “พื้นฐานดี” ดีในแง่ไหน ธรรมชาติของอุตสาหกรรมนั้นคืออะไร benchmark รายได้และกำไรของกลุ่มนี้อยู่ที่เท่าไหร่ แล้ว catalyst ที่ทำให้ราคาหุ้นไปต่อได้ส่วนใหญ่เขาดูอะไรกัน บริษัทมหาชนบางบริษัทมีต้นทุนสินค้าและต้นทุนการบริหารน้อยมาก ทุกบาททุกสตางค์ของยอดขายที่เพิ่มขึ้นจะวิ่งตรงไปที่กำไรทันที แบบนี้ประกาศข่าวออกมาว่ายอดขายโตปุ๊บ เราก็จะพอคาดการณ์ได้ว่ากำไรโตแน่นอน เมื่อเกิดการคาดการณ์ว่ากำไรจะโตราคาหุ้นมันก็วิ่งไปดักล่วงหน้า ในขณะที่บางบริษัทมียอดลูกค้าเพิ่มขึ้นปีละ 10 % แต่โดนต้นทุนค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายเป็นสัดส่วนที่มากกว่า แถมจ่ายดอกเบี้ยและภาษีอีกเยอะ แบบนี้ต่อให้มีข่าวออกว่ายอดขายโตขึ้นมาราคาหุ้นก็ไม่ตอบรับเท่าไหร่ครับ เพราะสุดท้ายกำไรก็ยังไม่โต ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่ลงไปอยู่ดี วันนี้ได้ข่าวมามากน้อยแทบไม่มีผลครับ ผมเชื่อว่า มันอยู่ที่ว่าเรา “ตีความ” ความหมายของข่าวนั้นได้ดีมากน้อยแค่ไหนจากพื้นฐานความเข้าใจที่มี ไม่อย่างนั้นถ้ามีข่าวดีแล้วหุ้นขึ้นเสมอ ตลาดหุ้นก็จะแทบไม่มีคนขาดทุนเลยครับ นอกจากนี้มันยังมีการเทรด SET50 Index Future , Single Stock Future , Derivative Warrant ที่เอาไว้เล่นกับความผันผวนระยะสั้นเพื่อเล่นเอากระแสเงินสดรายวันหรือรายสัปดาห์ มันก็เป็นเหรียญสองด้านที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่มากเหมือนกัน ราคา คือการโฆษณาที่ดีที่สุดของสินค้านั้นๆ ครับ มันพร้อมทำให้เราแห่เข้าไปเล่นโดยไม่สนใจเหตุผลมากเท่าไหร่ เพราะอารมณ์อยากได้เงินไวๆ มันช่างเย้ายวนเหลือเกิน วันนี้เรากำลังกระจายความเสี่ยงไปในสินค้าต่างๆตามทฤษฎีหรือแค่กระจาย “ความไม่รู้” ออกไปในสินค้าที่เราไม่เข้าใจ เป็นคำถามที่ต้องมาย้อนถามตัวเองกันอีกที  

2. ที่มาของกำไรที่เราได้นั้นผันผวนขนาดไหน

เมื่อเราเข้าใจ product นั้นๆ แล้วก็ต้องมาถามต่อครับว่า ที่มาของกำไรจากการเทรดที่ว่า เราทำได้ “นิ่ง” เป็นระยะเวลาต่อเนื่องแค่ไหน สมมติเรานำเข้าสินค้าตัวหนึ่งจากต่างประเทศ ขายดีมากเดือนแรกจนสั่งสินค้าล็อตใหม่มาไม่ทัน รอบสองเลยสั่งล็อตใหญ่มา ปรากฏว่าขายหมดอีกในระยะเวลาอันรวดเร็ว คราวนี้รอบสามสี่ตุนของไว้ก่อนเลยเพราะมองว่ายังไงก็ขายหมดแน่ๆ แต่แล้วคนไทยก็เบื่อง่าย สินค้าเราขายได้อยู่ 6 เดือนแล้วยอดขายก็ตกฮวบ สต็อกสินค้าที่นำเข้ามากินกำไรที่เคยได้มาเกือบทั้งหมด สุดท้ายหมุนเงินสดไม่คล่องต้องมาหาทางกู้แบงก์กันต่ออีก เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดกับเทรดเดอร์ได้เหมือนกันครับ บางคนได้เงินรอบนี้มาจะเอามาซื้อบ้านซื้อรถสปอร์ตสักคัน เพราะรู้สึกเงินมันหาง่าย เดี๋ยวก็หาได้เหมือนเดิม แต่แล้วฐานะการเงินก็ปั่นป่วนเพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิธีการอะไรหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้เราได้เงินในรอบที่แล้ว สุดท้ายจึงต้องมาออกแบบดีๆ ครับว่าในพอร์ตของเรานั้นสามารถสร้าง return ขนาดไหน แล้ว return ขนาดนั้น เรา “ทำซ้ำ” ได้หรือไม่ และความเสี่ยงที่มาพร้อมกับผลตอบแทนขนาดนั้นมีอะไรบ้าง ผมเองเจอมากับตัว เคยทำเงินได้เกือบ 15 ล้านในระยะเวลาไม่ถึงเดือน วางแผนซื้อรถใหม่เลย แถมคอนโดมิเนียมหรูอีกสักห้องเป็นการลงทุนตามกระแสอิสรภาพทางการเงินไป แต่แล้วฝันสลายครับ ทำเงินหล่นหายไปหลายล้านภายในวันเดียวจากตลาดที่ผันผวนสุดๆ หลังจากนั้นไม่ถึงอาทิตย์ พอได้ๆ โดนๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ชีวิตมันวางแผนอะไรไม่ได้เลยครับ เงินมาก็อารมณ์ดี วางแผนจะลงทุนนู่นนี่เพิ่ม เวลาเสียเงินก็หงุดหงิดที่เคยคิดจะทำอะไรก็พับไว้ก่อน แบบนี้ไม่ไหวครับเครียดเกิน ทำให้ผมต้องมานั่งออกแบบชีวิตใหม่ หรือคุณอาจมองแบบผมก็ได้ว่าการเทรดเป็นเหมือนหุ้นตัวนึง การทำธุรกิจเป็นหุ้นตัวนึง การทำดีลเป็นหุ้นตัวนึง หรือแม้แต่คนที่ทำงานประจำเราก็มองว่ารายได้จากการทำงานตรงนี้มันเป็นหุ้นตัวนึงได้ แล้วก็มาดูว่าความผันผวนของรายได้ในพอร์ตของเราโดยรวมแล้วมันเป็นเท่าไหร่กันแน่ วันไหนที่ดีลใหญ่ยังไม่เกิด การเทรดยังไม่เจอรอบใหญ่ อย่างน้อยมันยังมีรายได้ที่เป็น Recurring Income มาหล่อเลี้ยงชีวิตบ้างทำให้ใจเราสบายขึ้น พลาดไปก็ยังมีตัวค้ำยัน เหมือนพ่อค้าขายของซื้อของมาขายสิบอย่าง ขายดีมากๆ สองอย่าง ขายไม่ดีห้าอย่าง แต่มีตัวที่สร้างรายได้สม่ำเสมอสักสามตัวเพื่อให้โครงสร้างการเงินนิ่งขึ้น และชีวิตการเงิน “นอกกราฟ” ที่นิ่งมากพอจะทำให้เราสามารถโฟกัสการเทรด “ในกราฟ” ได้ดีขึ้นด้วยแบบไม่น่าเชื่อ  

3. เราจะควบคุมต้นทุนอย่างไร

กฎเหล็กของสนามนี้ผมให้ไว้เป็นข้อย่อยอีกสามข้อครับ หนึ่งคือ ต้องคำนวณรายจ่ายที่แน่ชัดต่อเดือนและต่อปีให้ชัดเจนด้วยการเขียนลงไป ค่ากินอยู่เท่าไหร่ ติดหนี้เท่าไหร่ ใช้เงินผ่อนเท่าไหร่ ต้องให้พ่อแม่ไหม มีลูกกี่คน ในครอบครัวมีคนป่วยหรือเปล่า ประกันชีวิตทำไว้ในกรณีฉุกเฉินหรือยัง ของพวกนี้ต้องมาก่อนการเข้ามาเทรดครับ ไม่ได้ทำแผนการเงินไว้เบื้องต้นแล้วกะว่าทุบหม้อข้าว กำเงินมาลุยตายเอาดาบหน้า สองครับ ห้ามนำเงินจากการเทรดมาปนกับเงินที่ทำธุรกิจเด็ดขาด บางคนไม่แบ่งชัดเจนครับ เอาอันนี้อันนั้นมาโปะกันให้มั่วไปหมด สุดท้ายเป็นงูกินหาง คำนวณแน่นอนอะไรไม่ได้เลย ยิ่งเป็นหนี้และมีดอกเบี้ยไล่หลังด้วยแล้ว จะกดดันให้เราต้องหมุนรอบให้ไว และต้องได้เงินเท่านั้น ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหาความแน่นอนจากตลาดหุ้น สาม แบ่งเงินที่ได้มาลงทุนกับตัวเองเสมอครับ หลายคนอาจจะแบ่งเงินไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไปเที่ยว ซื้อของนู่นนี่ทำตามความฝัน แต่อย่าลืมครับว่าเทรดเดอร์เองมีสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดก็คือสมองของเรา ความรู้และประสบการณ์ของเราที่ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้ บริษัทใหญ่ๆ ยังมีการลงทุนทุกปีเพื่อการเติบโต การเทรดก็เหมือนกันครับ มันต้องมีการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้กับสมองเราเรื่อยๆ ผมเชื่อว่า Compound Interest ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยคือการลงทุนกับตัวเองนี่แหละ ต้นทุนการทำงานของเทรดเดอร์รายย่อยแม้จะไม่ได้มากมายเหมือนการเริ่มทำธุรกิจจริง แต่การไม่คุมต้นทุนการใช้ชีวิตเลยก็ดูจะหละหลวมไป และจะนำมาสู่การเสียวินัยในการเทรดในที่สุด และถึงแม้การออกมาเป็น Full-Time Trader ในสายตาคนภายนอกจะดูเหมือนเป็นอาชีพที่สบาย หาเงินจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ไม่ต้องคุยงานกับลูกค้าไม่ต้องตามงานจากลูกน้องให้ปวดหัว แต่ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดีแล้วอาจนำพาคนคนหนึ่งไปสู่จุดล้มเหลวระดับวิกฤตที่สุดในด้านการเงินได้เลย เมื่อผ่านสามข้อที่เป็นแนวคิดพื้นฐานของการเป็นเทรดเดอร์ที่ทำให้เรา “รอด” แล้ว คราวหน้ามาต่อกันอีกสามข้อที่น่าจะช่วยให้เรามีโอกาส “รวย” ได้ไม่แพ้คนทำธุรกิจครับ
คลิก อ่าน 6 คำถามที่ทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเหมือนการทำธุรกิจ (ตอน 2)