เมื่อหลายเดือนก่อน PwC ได้ทำผลสำรวจออกมาฉบับหนึ่งชื่อว่า Bridging the Gap – 2015 Annual Global Working Capital Survey เป็นการสำรวจงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำจำนวน 10,215 บริษัททั่วโลกพบว่า แนวทางการบริหารกระแสเงินสดของบริษัททั่วโลกส่วนใหญ่ยังขาดประสิทธิภาพอยู่ โดยเน้นถือเงินสดในมือ แทนที่จะนำไปลงทุน เพื่อขยายกิจการและสร้างผลตอบแทนกลับเข้ามายังบริษัท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ธุรกิจเอสเอ็มอี (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่ส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินทุนอย่างหนัก ทำให้ ธุรกิจเอสเอ็มอี ขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะแค่แข่งขันกับธุรกิจขนาดเดียวกันยังไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Conversion Efficiency: CCE) ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 71.2% เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานถึง 77.6%
ในขณะที่ต้นทุนเงินกู้ (cost of debt) ของธุรกิจเอสเอ็มอีสูงถึง 5.5% แต่ธุรกิจขนาดใหญ่กลับมีต้นทุนเงินกู้เพียง 4.5% แต่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (return on capital) ได้สูงถึง 7.3% สวนทางกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพียง 4.3% ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะยาว การทำธุรกิจของเอสเอ็มอีคงเข้าตำราทุนหาย กำไรหด เป็นแน่
ย้อนกลับมาดูธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกันบ้าง ผมเชื่อว่า สถานการณ์ในเวลานี้ไม่น่าจะแตกต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วโลกมากนัก และไม่แน่ใจว่าจะหนักกว่าหลายๆ ประเทศหรือเปล่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยเวลานี้ มีแนวโน้มชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศหดตัวตามไปด้วย และมูลค่าการส่งออกก็แทบไม่เติบโต หรืออาจลดลงเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ฐานทุนของเอสเอ็มอีไทยนั้นค่อนข้างจำกัด สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้ และต้นทุนเงินกู้ของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงทำให้เงินทุนหมุนเวียนที่เป็นเสมือน ‘เส้นเลือดใหญ่’ ของเอสเอ็มอีไทยค่อยๆ เหือดแห้งลงเรื่อยๆ
วันนี้ภาครัฐต่างระดมมาตรการออกมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้ยืนอยู่ได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนไหวเช่นนี้ ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่เน้นไปที่การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้เอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาท มาตรการภาษีซึ่งรวมถึงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับเอสเอ็มอีที่มีกำไรในส่วนที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 10% ใน 3 ปีบัญชี พร้อมเตรียมเม็ดเงินจากธนาคารของรัฐรวม 6,000 ล้านบาทตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือฐานทุนให้กับเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะเน้นไปที่รายเกิดใหม่
ผมเชื่อครับว่า มาตรการของภาครัฐอาจจะช่วยแบ่งเบาปัญหาที่เอสเอ็มอีกำลังเผชิญได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีต้องตั้งรับด้วยตัวเอง โดยหลักๆ แล้ว มีความท้าทายที่เรียกว่า 3S ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี หรือแม้กระทั่งธุรกิจครอบครัว ต้องหาทางรับมือให้ได้ ซึ่งประกอบด้วย
1.ทักษะของบุคลากร (skills)
2.ขนาดของบริษัทและเงินทุน (scale)
3.การสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ (succession)
เวลานี้นอกจากเม็ดเงินใหม่ที่รัฐพยายามนำเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว แหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งคือ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การขยายธุรกิจในระยะยาว ที่มีพันธกิจในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ ข้อดีคือ การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์จะช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหา 3S ได้เกือบทั้งหมด เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธครับว่า การเป็นบริษัทมหาชนจะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง สามารถดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน หรือแม้กระทั่งผู้ร่วมทุนรายใหม่ แถมยังช่วยด้านการวางแผนสืบทอดกิจการได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมอยากจะเรียนว่า แหล่งทุนไม่ได้มีแค่ตลาดหลักทรัพย์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ช่องทางอื่นๆ ในการนำพาธุรกิจเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จก็มีมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การหาพันธมิตรทางธุรกิจ (partner) หรือผู้ร่วมทุน (joint venture) เข้ามาช่วยทั้งด้านเงินทุนหรือการขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยอาจมองหาพันธมิตรท้องถิ่น (local partner) ที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจตลาดมากกว่า คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรม โครงสร้างเศรษฐกิจ ภาษีและข้อกฎหมาย รวมถึงรู้ช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าด้วย
มาถึงตรงนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ที่อาจกำลังประสบปัญหาอยู่ได้เห็นแนวทางในการก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ไปให้ได้ เพื่อสร้างให้ธุรกิจที่อาจจะเล็กในวันนี้ได้เติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคงและยั่งยืนได้ในระยะยาวครับ
สุดท้าย ขอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อดทน เข้มแข็ง ที่สำคัญก้าวข้าม 3S เหล่านี้ไปให้ได้…ประตูสู่ความสำเร็จของธุรกิจอยู่ข้างหน้านี่เองครับ
ศิระ อินทรกำธรชัย
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท PwC ประเทศไทย
(ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์)
คลิ๊กอ่าน "3S กุญแจสู่ความสำเร็จของ ‘เอสเอ็มอี’ ไทย" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine
3S กุญแจสู่ความสำเร็จของ ‘เอสเอ็มอี’ ไทย
TAGGED ON