การเลือกบริษัทเข้ามาอยู่ในทำเนียบ เราใช้วิธีเดียวกับที่ใช้เมื่อสิบปีก่อนตอนที่คัดเลือกบริษัทเข้ามาใส่ในหนังสือที่ชื่อว่า Small Giants นั่นคือบริษัทพวกนั้นจำต้อง:
- ได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ
- เป็นบริษัทที่มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก แต่ผู้นำองค์กรเลือกให้น้ำหนักกับความเป็นเลิศของธุรกิจมากกว่าที่จะขยายขนาดของกิจการให้ใหญ่ยักษ์
- ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นองค์กรที่ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน
- สามารถรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินเอาไว้ได้อย่างน้อย 10 ปีติดต่อกัน ด้วยการมีโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง มีงบดุลที่แข็งแกร่ง และอัตรากำไรที่ค่อนข้างนิ่ง
- เป็นบริษัทนอกตลาดที่มีการถือครองหุ้นโดยผู้ถือหุ้นในวงจำกัด
- เป็นบริษัทที่จัดอยู่ในระดับ human scale ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังมีโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
Quality Bicycle Products
ที่ตั้ง: เมือง Bloomington รัฐ Minnesota
ประธานกรรมการ: Rich Tauer
รายได้: 200 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 700 คน
Steve Flagg และ Mary Henrickson ผู้หลงใหลการปั่นจักรยาน ก่อตั้งกิจการ QBP ขึ้นในปี 1981 เพราะต้องการที่จะช่วยร้านจักรยานหาอะไหล่รถจักรยานเสือภูเขาที่หายากจากผู้ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาบริษัทของพวกเขาก็กลายมาเป็นผู้ค้าส่งอุปกรณ์และชุดแต่งจักรยานรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งขายทุกอย่างเกี่ยวกับจักรยาน ตั้งแต่หมวกกันน็อค Rack สำหรับรถจักรยาน ชุดเกียร์ ไปจนถึงลูกปืนจักรยาน นอกจากนี้ QBP ยังเป็นเจ้าของแบรนด์จักรยานอีก 7 แบรนด์อย่างเช่น All-City, Salsa และ Surly ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักปั่นในเมือง ทางบริษัทได้จ้างพนักงานหนึ่งคนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียวคือติดต่อประสานงานกับเหล่านักล็อบบี้ทางการเมือง และองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลออกนโยบายที่จะส่งเสริมการปั่นจักรยาน
การมีโกดังถึงสี่แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศทำให้ QBP กล้ารับประกันว่าจะสามารถส่งอะไหล่ให้กับลูกค้าเกือบทุกรายที่เป็นร้านจักรยาน 5,400 แห่งทั่วประเทศได้ภายในหนึ่งวันหลังจากส่งคำสั่งซื้อ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดสำนักงาน และโกดังที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตจักรยานแบรนด์ต่างๆ ของบริษัท ในปี 2015 จำนวนพนักงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมาเป็น 700 คน ซึ่งรวมพนักงาน 24 คนที่ไต้หวันแล้ว “เราอยากจะเปลี่ยนโลกทั้งใบให้เป็นโลกของการปั่นจักรยาน” Rich Tauer ซึ่งเป็นประธานกรรมการของ BQP กล่าว “เราขอบอกว่าเราอยากให้ทุกคนขึ้นคร่อมอานจักรยาน”
Blink UX
ที่ตั้ง: รัฐ Seattle
ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO: Karen Clark Cole
รายได้: 12 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 70 คน
ทุกปี Blink UX จะเลือกพนักงานผู้มี performance แสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญกับค่านิยมขององค์กรมากที่สุดสองคนขึ้นมาเป็น พาร์ทเนอร์ของบริษัทซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าอย่าง Microsoft, Starbucks และ Amazon ว่าจะปรับปรุงวิธีการที่จะปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทางดิจิทัลได้อย่างไร ถึงแม้ Karen Clark Cole ซึ่งเป็น CEO ของบริษัทจะบอกว่าหุ้นที่แบ่งให้กับพนักงานคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อย แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของพนักงาน และเมื่อบริษัทที่ไม่เคยมีผู้ถือหุ้นภายนอกเลยอย่าง Blink จ้างพนักงานเข้ามาทำงานมันหมายถึงว่า “เราต้องการให้คุณทำงานที่นี่ไปจนเกษียณ” Cole บอก
นอกจากนี้ บริษัทก็ยังเปิดเผยตัวเลขทางการเงินกับพนักงานอย่างโปร่งใส “ใครๆ ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากรู้เกี่ยวกับบริษัทของเรา” Cole บอก แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าใครๆ ก็เหมาะที่จะทำงานที่นี่ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ Cole เพิ่งไล่ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ออกไปสองคน โดยเธอบอกว่า “พวกเขาไม่มีจริยธรรมในการทำงานแบบเดียวกับเรา พวกเราทำงานกันหนักมาก”
Service Express Inc
ที่ตั้ง: เมือง Grand Rapids รัฐ Michigan
CEO: Ron Alvesteffer
รายได้: 59 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 290 คน
SEI ให้บริการซ่อมบำรุงศูนย์ข้อมูลของบริษัทต่างๆ แบบ on-site ซึ่งรวมถึงบริการซ่อมแซม แก้ปัญหา และติดตั้งด้วย เมื่อบริษัทจ้างพนักงานใหม่เข้ามา จะมีการจัดให้พบกับผู้จัดการเพื่อรับฟังเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตของพนักงาน ทั้งในด้านส่วนตัว อาชีพการงาน และการเงิน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการซื้อบ้านหลังแรก การมีโอกาสได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ซึ่งอยู่ไกล การได้ไปดูลูกแข่งฟุตบอลในวันศุกร์ หรือการย้ายไปอยู่ต่างเมือง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพนักงานคนหนึ่งแสดงความสนใจที่อยากจะไปอยู่ที่ Nashville บริษัทก็ตัดสินใจไปเปิดสำนักงานที่เมืองนั้น
ทั้งนี้ ผู้จัดการจะพบกับพนักงานปีละสองครั้งเพื่อทำการประเมินเป้าหมายต่างๆ และหาวิธีที่จะช่วยสนับสนุนให้พนักงานสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ Ron Alvesteffer ซึ่งเป็น CEO บอกว่าการที่บริษัทให้ความสำคัญไปที่ตัวพนักงานทำให้อัตราการเปลี่ยนงานต่ำกว่า 10% และอัตราการใช้บริการซ้ำของลูกค้าสูงถึง 98% ซึ่งเขาบอกว่ามันมาจากทฤษฎีง่ายๆ ที่ว่า “ดูแลคนของคุณให้ดี แล้วพวกเขาก็จะดูแลลูกค้าของคุณอย่างดีไปด้วย”
Redmond
ที่ตั้ง: เมือง Heber City รัฐ Utah
CEO: Rhett Roberts
รายได้: 65 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 320 คน
เมื่อภัยแล้งทำให้ฟาร์มของสองพี่น้อง Milo และ Lamar Bosshardt ล่ม พวกเขาก็เปลี่ยนมันเป็นเหมืองเกลือแทน และต่อมาในปี 1992 ครอบครัวพวกเขาก็ดึง Rhett Roberts เข้ามาร่วมงานด้วย เขาได้ปรับสถานะทางการตลาดของ เกลือ reddish-hued salt ของ Redmond ให้เป็นสินค้าพรีเมียมด้วยการมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติของเกลือที่แตกตัวในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเกลือสีขาวแบบปกติ และเพิ่มความพยายามในการวางตลาดในฐานะที่เป็นสินค้าเกรดสูงสำหรับวางบนโต๊ะอาหาร พอถึงปี 1999 Roberts ก็ซื้อกิจการและขึ้นมาเป็น CEO โดยเขาได้ริเริ่มโครงการปันส่วนกำไรให้พนักงานถึง 10% ของกำไรสุทธิของบริษัท และเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีของบริษัทให้พนักงานทราบข้อมูลเกี่ยวกับยอดขายและกำไรของบริษัท
ENT Institute
ที่ตั้ง: รัฐ Atlanta
ผู้ก่อตั้ง และ CEO: Jeff Gallups
รายได้: 27 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 189 คน
ENT Institute มีธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ 17 แห่งใน Atlanta ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูกจากทั่วประเทศ โดย Jeff Gallups ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและ CEO บอกว่าโมเดลธุรกิจของเขาทำให้ธุรกิจของเขาคิดค่าบริการได้ถูกกว่าแต่สามารถจ่ายให้กับแพทย์มือเยี่ยมได้มากกว่าที่พวกเขาจะได้จากการตรวจรักษาในโรงพยาบาลเอกชนปกติ “เรามีหมอห้าคนที่ทำเงินได้มากกว่าปีละหนึ่งล้านเหรียญ” ENTI ต่างจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่ เพราะแจ้งราคาสำหรับการรักษาแต่ละรายการเอาไว้อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ อย่างเช่น การผ่าตัดต่อมทอนซิลของคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่จะมีค่าใช้จ่าย 2,300 เหรียญ ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของโรงพยาบาลในสหรัฐที่ประมาณ 4,000 เหรียญ สาเหตุที่ทำให้ ENTI คิดค่ารักษาได้ต่ำกว่าโรงพยาบาลทั่วไปก็เพราะไม่จำเป็นต้องบวกค่าบริการเพื่อไปอุดหนุนแผนกที่ไม่ทำเงิน (อย่างเช่นห้องฉุกเฉิน) ในช่วงที่ผ่านมา Gallups ได้ซื้อกิจการคลินิกหลายแห่ง และมีแผนที่จะขยายกิจการไปยังรัฐข้างเคียงด้วย “ผมไม่ได้ติดต่อไปหาพวกเขานะ...พวกเขาติดต่อเข้ามาหาผมเองต่างหาก”
25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 2
25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 3
25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 4
25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 5
คลิ๊กอ่าน "25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 รูปแบบ E-Magaizne