2 ยักษ์ใหญ่แห่งจอแก้ว ผ่ากลยุทธ์ชิงแชมป์ทีวีดิจิทัล - Forbes Thailand

2 ยักษ์ใหญ่แห่งจอแก้ว ผ่ากลยุทธ์ชิงแชมป์ทีวีดิจิทัล

เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์

น่านน้ำในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เปิดกว้างทำให้ช่อง 3 และช่อง 7 ต้องขยับปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ทั้งแคมเปญสื่อสารการตลาด การจัดผังรายการที่ตอบโจทย์ การสร้างความใกล้ชิดกับผู้ชม และการวางจุดยืนที่แตกต่างในแต่ละช่อง เพื่อเรียกเรตติ้งขยายฐานผู้ชม และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในตำแหน่งผู้นำในธุรกิจ

การเปลี่ยนผ่านระหว่างอนาล็อกสู่ดิจิทัลอาจจะสร้างโอกาสสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ให้ได้แสดงฝีไม้ลายมือแจ้งเกิดธุรกิจที่วาดฝัน แต่ขณะเดียวกันกระแสของความเปลี่ยนแปลงถือเป็นความท้าทายของผู้นำธุรกิจอย่าง ช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งเคยสลับกันครองบัลลังก์ให้ต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อสู้ศึกชิงรีโมทที่น่านน้ำกำลังเปิดรับผู้แข่งขันจำนวนมากที่พยายามรุกไล่แย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
 
แม้ตัวเลขเรตติ้งจาก Nielsen ในเดือนกันยายนจะระบุชัดว่าช่อง 7 สามารถครองเรตติ้งอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยจำนวน 3.521 และ ช่อง 3 ครองเรตติ้งอันดับ 1 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 3.918 แต่เมื่อเทียบกับเรตติ้งในยุคอนาล็อกหรือในช่วงที่ทีวีดิจิทัลเพิ่งเริ่มต้น สองยักษ์ใหญ่ก็ไม่อาจจะนิ่งนอนใจกับการแข่งขันได้ ประวิทย์ มาลีนนท์ บิ๊กบอสใหญ่แห่งช่อง 3 เคยย้ำชัดว่า "ในอุตสาหกรรมนี้เราเป็นคู่แข่งขันกัน ไม่ใช่คู่ต่อสู้ แข่งขันกันที่หน้าจอ หลังจอเป็นเพื่อนกัน เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน"
 
บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ในกลุ่มบีอีซีเวิลด์ เจ้าของ ช่อง 3HD ช่อง 33 หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง ช่อง 3 SD ช่อง 28 หมวดหมู่ทั่วไป แบบความคมชัดปกติ และ ช่อง 3 Family ช่อง 13 หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว กำหนดระยะเวลา 15 ปีตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2557-24 เมษายน 2572
 
"เราไม่เหมือนคนอื่น บางคนมีทั้งช่องข่าวและช่องวาไรตี้ แต่เรามีช่องที่เป็นวาไรตี้ 2 ช่อง จึงมีปัญหาเรื่อง organization เพื่อไม่ให้แย่งกันเอง อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 และช่อง 3 Family ค่อนข้างมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่ช่อง 3SD สภาพตลาดยังไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหนดี" ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของช่อง 3 และ เลขานุการคณะกรรมการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ยอมรับถึงความท้าทายในการบริหารความต่างและสร้างจุดยืนไม่ให้ 3 ช่องต้องแข่งขันชิงฐานผู้ชมกันเอง
 
จากการแข่งขันที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้กลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ ประกาศผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2 ได้รับผลกำไรเพียง 750 ล้านบาท หรือลดลง 36% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งเกิดจากรายได้หลักในการขายโฆษณาช่อง 3 หดตัว 3% ปีต่อปีอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท และผลขาดทุนจากทีวีดิจิทัลใหม่ 2 ช่อง ได้แก่ 3SD และ 3Family เป็นตัวฉุดกำไรขั้นต้นให้ลดลงอยู่ที่ 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 48%
 
สำหรับช่อง 7 ในฐานะแชมป์แห่งสองยุค ตั้งแต่ยุคอนาล็อกถึงยุคดิจิทัล ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน พลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ประกาศปรับผังรายการสู้ศึกทีวีดิจิทัลตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งนอกช่วงเวลา prime time เพื่อเพิ่มเรตติ้งและเรียกความสนใจผู้ชมให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มรายการด้านบันเทิงและวาไรตี้ที่น่าสนใจตามความต้องการของผู้ชม
 
นอกจากนั้น ช่อง 7 ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมโร้ดโชว์ผ่าน แคมเปญ 7 HD Festival นำทีมคาราวานบันเทิงเดินสายตามจังหวัดต่างๆ มัดใจคนดูทั่วประเทศ เพื่อโปรโมทช่องทางการรับชมช่อง 7 และสร้างความใกล้ชิดกับผู้ชมมากขึ้น การเปิดตัวแอพพลิเคชั่น DO7HD เปิดประสบการณ์การรับชมโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรม second screen ในยุคดิจิทัล ด้วยการสร้าง social TV  ทั้งยังร่วมมือกับ แม็ทชิ่ง สตูดิโอ พลัส สร้าง Documentary of The Year ผลิตภาพยนตร์เชิงสารคดีช้างไทย ด้วยงบประมาณในการผลิตที่ทุ่มทุนสร้างจำนวน 30 ล้านบาท ใช้เวลาถึง 2 ปี และมีแผนจัดจำหน่ายเพื่อเผยแพร่ในต่างประเทศ

คลิ๊กอ่าน "2 ยักษ์ใหญ่แห่งจอแก้ว ผ่ากลยุทธ์ชิงแชมป์ทีวีดิจิทัล" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine