"ไทยเบฟ ซีพี" ร่วมเสวนา "ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ" - Forbes Thailand

"ไทยเบฟ ซีพี" ร่วมเสวนา "ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ"

FORBES THAILAND / ADMIN
25 Mar 2021 | 07:01 PM
READ 2597

หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา "ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ" ดึง ไทยเบฟ ซีพี ร่วมเสวนา

หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา "ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ" เนื่องในโอกาสหนังสือพิมพ์มติชน ดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 44 โดยได้รับเกียรติจาก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "พลิกโควิดเป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ" ภายในงาน "ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ" ยังได้รับเกียรติจาก ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ "Next step ฟื้นประเทศไทย" นอกจากนี้ยังได้รับเชิญจากสองกลุ่มยักษ์ของประเทศอย่าง ไทยเบฟ ซีพี โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ณ ที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก กรุงเทพฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องพลิกโควิด เป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ ว่า ในปีนี้รัฐบาลยืนยันตัวเลขจีดีพีไทยจะขยายตัว 4% แม้ว่าในช่วงต้นปีทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 ไม่เกินร้อยละ 3 เพราะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีรวม 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เมดิคอล เกษตร เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางของประเทศในยุคหลังโควิด (Post Covid) โดยใช้กลยุทธ์ 4Ds (DIGITALIZATION  DECARBONIZATION DECENTRALIZATION และ DE-REGULATION ) "นี้เป็นปีที่สำคัญที่สุดเป็นปีที่ต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลจะยืนยันคงเป้าหมาย 4% จากที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าจีดีพีโตแค่ 2 ถึง 3% เรายังเหลือส่วนต่างอีก 1% ประมาณ 1.5 ถึง 1.6 แสนล้านบาท เราต้องช่วยกันประคับประคอง ผมมองว่าปี 65 จะเป็นปีแห่งการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่สร้างอนาคตให้คนรุ่นถัดไปเข้มแข็ง” ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้บรรยายพิเศษ Next step ฟื้นประเทศไทย ว่า “การระบาดโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ส่งผลเศรษฐกิจไทยปรับลดลงกว่าร้อยละ 6.1 ส่วนในปี 2564 เริ่มเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ แต่มีการประเมินว่า ประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับมาสู่จุดเดิมก่อนเกิดเกิดการระบาดไวรัส-19 ซึ่งมองว่าเป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะความจริงอาจไม่กลับมาสู่จุดเดิมก็ได้ หากไม่มีการร่วมกันแก้ปัญหาจริงๆ" โดยในระยะถัดไป ประเทศไทยมี 4 ความท้าทายหลัก ที่ต้องเผชิญหน้า ได้แก่ 1.นิวนอร์มอล ที่ทำให้กุญแจสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจและธุรกิจเปลี่ยนไป 2.กฎเกณฑ์ใหม่ (New Rule) อาทิ การที่โลกให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มจะนำไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติม 3.แรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายภาครัฐ เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.2 ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็นร้อยละ 51.8 ณ สิ้นปี 2563 จากการต่อสู้กับผลกระทบของโควิด-19 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และ 4.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในบางมิติ จึงมีความจำเป็นสูงมากที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งภาครัฐ ตัวภาคเอกชน และความร่วมมือของทั้งรัฐและเอกชน ด้าน ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสวนาว่า ทุกวิกฤตจะมีโอกาสอยู่เสมอ ธุรกิจโดยเฉพาะภาคเอกชนเป็นเรื่องของการแข่งขันอยู่แล้ว ทั้งสมรรถภาพของตัวเอง มีความพร้อมในทุกด้าน มีทัศนคติที่มั่นใจ แล้วก็สรรพกำลัง ตอนนี้โลกทั้งใบกำลังเอียงมาอยู่ทางทิศตะวันออก คือในทวีปเอเชีย ประชากรโลก 7,800 ล้านคน ประชากรในทวีปเอเชียมีประมาณ 4,600 ล้านคน ร้อยละ 60 ของประชากรโลก ประมาณ 10-15 ปีก่อน แต่ก่อนเราต้องไปลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพ ประเทศที่ใหญ่ ที่เคยได้ยินกลุ่มประเทศบริค (BRICS) ที่มีบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ ไม่จำเป็นต้องมองไปไกลถึงขนาดนั้น แต่การที่เรายืนอยู่ในประเทศไทย จริงๆ เรามีโอกาสรอบตัวเรามหาศาล แต่ว่าเราจะทำความเข้าใจได้มากน้อยขนาดไหน เห็นโอกาสนั้น และพร้อมที่จะมีทักษะในการนำโอกาสมาเป็นประโยชน์ ในด้านธุรกิจ องค์กร หรือว่าประเทศชาติของเรา จริงๆ มีคำกล่าวโบราณเอาไว้ว่า โอกาสผ่านหน้าตัวเองอยู่เสมอ เพียงแค่ว่าเรามีความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งนั้นมันคือโอกาสหรือเปล่า แต่ในขณะที่มีความรู้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือโอกาส ลองถามตัวเองว่า เรามีทักษะความสามารถที่จะหยิบเอาโอกาสเหล่านั้นมาเป็นประโยชน์กับเรามากน้อยขนาดไหน โดยทั้ง 2 เรื่อง คือ ความรู้ กับทักษะ มองไปในรูปแบบของโอกาสของภาคพื้นเอเชีย กลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนประชากรไม่น้อย 68-69 ล้านคน ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ทำไมเราถึงชอบพูดว่าประชากรมีส่วนสำคัญในการขยายตัวธุรกิจ เป็นเพราะว่าออกเรือไปจับปลาต้องไปดูที่ปลาอยู่ ก็เพราะว่าผู้บริโภคคือประชาชนคือคนนั้นเอง แต่ว่าการโอกาสที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย เรากำลังถูกสั่นคลอนด้วยสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะโยงกลับมาในเรื่องของเทคโนโลยี” ทางด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ ถ้าเรายังมีประชากรที่ยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในแง่รายได้ มันเป็นการยากยิ่งเดินหน้าต่อก็ยิ่งเหลื่อมล้ำสูง และประชากรชาวไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร และเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำเป็นธุรกิจครัวเรือน ขาดเรื่องการบริหารจัดการ ขาดเทคโนโลยี ขาดการตลาด ขาดความพัฒนาในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ขาดนวัตกรรม และขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ถ้าเรามองถึงอนาคต คือ ไทยเราต้องเปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศเราใหม่ การที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีนั้นยังไม่ใช่การเปลี่ยนฮวงจุ้ย แต่มันคือการดึงดูดการลงทุน ทรัพยากรมนุษย์ในระดับโลก มายังประเทศไทย มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ มาช่วยสร้างประสิทธิผลมวลรวม นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนา โดยไทยต้องกลายเป็นศูนย์กลางอะไรสักอย่าง ถ้าทั่วโลกยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางแล้ว เราจะดึงดูดการลงทุนได้ นำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด ดึงทรัพยากรมนุษย์ และทุน” อ่านเพิ่มเติม: ดัชนี DJSI ยกระดับธุรกิจไทยมาตรฐานความยั่งยืนระดับโลก  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine