ไทยยูเนี่ยน โตสวนกระแสโควิด-19 รายได้ครึ่งปีทะยาน 6.4 หมื่นล้าน - Forbes Thailand

ไทยยูเนี่ยน โตสวนกระแสโควิด-19 รายได้ครึ่งปีทะยาน 6.4 หมื่นล้าน

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประกาศกำไรไตรมาส 2 เพิ่ม 1,440% สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากดีมานด์อาหารล้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป พร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกไม่อาจสร้างแรงสะเทือนในธุรกิจอาหารของไทยที่ยังคงความแข็งแกร่งจากผลการดำเนินงานของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งสามารถสร้างยอดขายจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.6% ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตของรายได้ 4.2% หรือสูงสุดสุดในรอบ 3 ปีที่ 6.42 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิไตรมาส 2 ของปีที่อยู่ 1.72 พันล้าน หรือเพิ่มขึ้น 1,440% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ในปีก่อนหน้า โดยสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.32 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 28% จากเงินปันผลระหว่างกาลปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 0.25 บาทต่อหุ้นอาหารนับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ตลาดทั่วโลกมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อยอดขายของบริษัท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการผลิตอย่างต่อเนื่อง และเต็มกำลังเพื่อสร้างความมั่นใจ และทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ มาตรการสุขภาพความปลอดภัยทั้งของพนักงานและในการผลิตเพื่อให้ธุรกิจของเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว ขณะที่บริษัทยังคงมุ่งเน้นความสามารถในการทำกำไรและประสบความสำเร็จในการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลกำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.37 พันล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A) อยู่ที่ 11.1% พร้อมทั้งสัดส่วนหนี้ต่อทุนอยู่ที่ 0.96 เท่า และมีอัตรากำไรขั้นต้น (gross profit margin) อยู่ที่ 18.2% นับเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปีอีกเช่นกัน ซึ่งความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน การบริหารสินค้าคงคลัง และการบริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ไตรมาสที่ 2 นี้มีกระแสเงินสดอิสระถึง 5.61 พันล้านบาท สำหรับยอดขายในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่เติบโตขึ้นจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปที่ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 16.8% อยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 29.6% อยู่ที่ 101,136 ตัน เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกยังคงจับจ่ายอาหารกระป๋องในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมียอดขายลดลง 14% อยู่ที่ 1.16 หมื่นล้าน และปริมาณการขายลดลง 10.5% อยู่ที่ 61,284 ตัน เนื่องจากช่องทางการจำหน่ายในธุรกิจโรงแรมร้านอาหารต่างๆ ยังคงได้รับผลผลกระทบต่อเนื่อง โดยในส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 7.5% อยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการขายที่เพิ่มมากขึ้น และกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการทำกำไรสูง “เราค่อนข้างโชคดีที่อยู่ในธุรกิจอาหาร ซึ่งมีความจำเป็นในการบริโภคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าของเราเป็นสินค้าพื้นฐานการบริโภคภายในบ้านที่มากขึ้นยิ่งสนับสนุนธุรกิจของเราให้ไปในทิศทางที่ดีพอสมควร ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกเรามองว่าเรายังเติบโตได้ดีพอสมควร แต่อาจจะต้องดูต่อว่าสถานการณ์นี้จะยืดเยื้อต่อไปอีกนานแค่ไหน อย่างไรก็ตามภาพรวมปีนี้ธุรกิจของเรายังไม่น่าห่วง” นอกจากนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ไทยยูเนี่ยนยังสามารถสร้างการเติบโตไปยังทั่วโลก ด้วยสัดส่วนยอดขายในอเมริกาเหนือ 42% ยุโรป 30% ไทย 10% และยอดขายตลาดอื่นๆ 18% ซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วยแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค, ฟิชโช, คิวเฟรช, โมโนริ, เบลลอตต้า และมาร์โว่ “เรายังใช้หลักธุรกิจเดิม เพียงแต่ความเข้มงวดและความใกล้ชิดอาจจะปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่น ในสภาวะปัจจุบันกระแสเงินสดเป็นสิ่งที่เราดูมากเป็นพิเศษ บัญชีลูกหนี้เราต้องมีการติดตามดูแลมากขึ้นพิเศษ ส่วนเรื่องของการลงทุน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในช่วงนี้เราก็ตัดลดลงไป ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราทำในสภาวะแวดล้อมแบบนี้” ธีรพงศ์กล่าวถึงหลักการบริหารท่ามกลางวิกฤต ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ด้วยยอดขายมากกว่า 1.26 แสนล้านบาทต่อปี และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 44,000 คน “วันนี้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่แค่ระยะสั้นแต่ต้องมองไปถึงระยะยาว ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้เล็งเห็นถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการที่เน้นย้ำความปลอดภัยในการดำเนินงานทำให้บริษัทมั่นใจว่าสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี” นอกจากนั้น บริษัทยังมองแนวโน้มการเติบโตในช่องทางอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงบริการจัดส่งสินค้า (home delivery) ที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพหรือ health and nutrition ที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน “เราเน้น Healthy Living, Healthy Ocean และพยายามให้น้ำหนักกับกลุ่มที่มีโอกาสเติบโต เช่น โปรตีนทางเลือก และในส่วนของกระบวนการผลิตทั้งหลายก็เป็นอีกส่วนที่เราต้องทุ่มเททรัพยากรพัฒนาในส่วนนี้ด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า กระบวนการผลิตในอนาคตมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้นต่อไป” ท้ายสุด ธีรพงศ์ย้ำถึงการให้ความสำคัญกับพันธกิจการเป็นบริษัทนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 1 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน รวมถึงอีกหลายรางวัลด้านการทำงานที่มุ่งเน้นความยั่งยืน “เป้าหมายของเรายังคงเหมือนเดิมตามแผน 5 ปีที่ถือว่าเดินมาถูกทางแล้วในการเน้นเรื่อง health และ nutrition จากการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขมากขึ้น แต่ในแง่สภาวะแวดล้อมต่างๆ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวการณ์ ซึ่งต้องประเมินอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว”  
คลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine