ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป สร้างผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์กวาดรายได้ 3.85 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2564 และยอดขายทั้งปีมากกว่า 1.41 แสนล้านบาทจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นที่มีการฟื้นตัว รวมถึงดีมานด์อาหารสัตว์เลี้ยงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมปันผลครึ่งหลังปี 64 ที่ 0.50 บาทต่อหุ้น
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานที่สามารถสร้างยอดขายสูงสุดที่ 3.85 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 15.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจอาหารทะเลแช่งแข็งและแช่เย็นที่ฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา ภายหลังมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการผ่อนคลายและร้านอาหารและโรงแรมเริ่มทยอยเปิดให้บริการ นอกจากนี้ ยอดขายจากหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจเพิ่มมูลค่ายังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้กำไรสุทธิของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาทะยานขึ้นถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1.93 พันล้านบาท แม้จะประสบสภาวะการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็ตาม ด้านยอดขายธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีเติบโต 4.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากการปรับขึ้นราคาขายสินค้า ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นเติบโตขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์ จากการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ในขณะที่ยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่าเติบโตขึ้นถึง 27.2 เปอร์เซ็นต์ จากความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นมากและฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง “ในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนทำผลงานได้ดีเยี่ยมเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ จากยอดขายที่เติบโตและความสามารถในการทำกำไร ด้วยกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวของบริษัททำให้ธุรกิจหลักของเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า และเน้นในเรื่องของวินัยทางการเงินที่สร้างความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน ทั้งหมดนี้ทำให้ผลประกอบการของเราในปีที่ผ่านมาดีเยี่ยม” สำหรับผลประกอบการตลอดทั้งปี ไทยยูเนี่ยนสามารถทำผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิเติบโต 28.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 8.01 พันล้านบาท ยอดขายเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1.41 แสนล้านบาท ส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 9.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 2.57 หมื่นล้านบาท พร้อมประกาศปันผลงวดการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจำนวน 0.50 บาทต่อหุ้น รวมปันผลหุ้นตลอดปีอยู่ที่ 0.95 บาทต่อหุ้น เป็นระดับที่สูงสุดของบริษัทสะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง “พวกเราทุกคนที่ไทยยูเนี่ยนทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในทุกด้าน อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดธุรกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เราสามารถเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและคงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.99 เท่า” แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ไทยยูเนี่ยนยังสามารถบริหารธุรกิจให้ข้ามผ่านวิกฤตได้สำเร็จ ทั้งยังสามารถพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมต่อยอดการลงทุนกลยุทธ์ในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตในอนาคต รวมถึงการจัดตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ไลฟ์ไซเอนซ์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ส่งตรงถึงผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยังได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2564 จะช่วยรองรับการเติบโตและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในเอเชีย ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการเปลี่ยนชื่อ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็น บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการพัฒนาและขยายกิจการในธุรกิจสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงไทยยูเนี่ยนยังมีแผนนำบริษัท ไอ-เทล จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯและไอพีโอครั้งแรกในปีนี้ “การเดินหน้าทางธุรกิจของเราสอดรับกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนที่มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans ที่นอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าเราด้วยนวัตกรรมที่ช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน” ธีรพงศ์กล่าวถึงความยั่งยืนที่เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารในปี 2564 โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าสู่ Blue Finance เป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในประเทศไทยที่เดินหน้าการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนและตั้งเป้าหมายการทำงานที่สนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร และผลสำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของเครื่องมือการเงินชนิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหรือหุ้นกู้ สำหรับในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับสินเชื่อและออกหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 2.7 หมื่นล้านบาท โดยไทยยูเนี่ยนได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว ให้ 75%ของเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทเป็น Blue Finance ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มจาก 50% ณ สิ้นปี 2564 พร้อมแต่งตั้งนายอดัม เบรนนัน เป็นผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเดินหน้างานด้านความยั่งยืนในฐานะผู้นำในเวทีโลกต่อไป “สิ่งที่สำคัญเท่ากับการดำเนินธุรกิจก็คือการดูแลพนักงานของเราทั่วโลก ทั้งเอเชีย แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา ให้แข็งแรงและปลอดภัย นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนได้ริเริ่มโครงการไทยยูเนี่ยนแคร์ และได้บริจาคอาหารมากกว่า 4 ล้านชุด ทั้งอาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การช่วยเหลือด้านงบประมาณ ให้กับผู้ที่ประสบความยากลำบากในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในช่วงปลายปี 2563” สำหรับในปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ โดยมุ่งเน้นเรื่องอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้นและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่า เช่น ส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและโปรตีนทางเลือก เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เติบโตเร็วในธุรกิจเหล่านี้ “ในปี 2565 นี้ แม้ว่าจะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกคน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาด ห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ไทยยูเนี่ยนจะยังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อสร้างผลงานให้ได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมา” ธีรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: เอสเอ็มอีแห่กู้คราวด์ฟันดิง อินเวสทรี โต 300 เท่าไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine