โอกาสจรัสแสงในตลาด “เวียดนาม” - Forbes Thailand

โอกาสจรัสแสงในตลาด “เวียดนาม”

ธุรกิจไทยรุมจีบตลาดเวียดนาม สนองดีมานด์ภาคการผลิตล้น ดันยอดส่งออกวัตถุดิบไทยป้อนอุตสาหกรรมเวียดนามทะยานสู่ตลาดส่งออกเนื้อหอมอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน

แม้ยอดการส่งออกของไทยในปี 2559 ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงอาเซียนจะหดตัวลง 0.1% และ 0.9% ตามลำดับ แต่การส่งออกของไทยไปยังประเทศเวียดนามยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เฉลี่ย 12.1% ต่อปี (2557-2559) โดยในปี 2559 ขยายตัวกว่า 5.9% และในปี 2560 น่าจะเติบโตต่อเนื่อง 5.8% หรือมีมูลค่า 9,979 ล้านเหรียญฯ แซงหน้ามาเลเซียและกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในอาเซียนตามการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่สำคัญของภูมิภาค ด้วยสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกว่า 70% ของสินค้าที่ส่งออกรวมทั้งหมด ขณะที่เวียดนามยังไม่มีห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำภายในประเทศที่สามารถรองรับได้ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น และการนำเข้าสินค้าประเภททุนอย่างเครื่องจักรกลและส่วนประกอบวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก และรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเพื่ออุปโภคบริโภคมีการขยายตัวเฉลี่ย 10.1% ระหว่างปี 2553-2559 ขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปเวียดนามเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ทำให้ความสามารถทางการผลิตของเวียดนามเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายให้ภาคธุรกิจไทยต้องพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างสินค้าส่งออกไปยังเวียดนามให้ตอบสนองความต้องการและรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าไปยังเวียดนาม ด้วยกลยุทธ์การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ที่เวียดนามมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้นและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต สำหรับสินค้าที่ควรสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ สินค้าปิโตรเคมี เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกสำคัญไปยังตลาดต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน ซึ่งปัจจุบันไทยมีศักยภาพการส่งออกเม็ดพลาสติกไปยังเวียดนามโดยมีส่วนแบ่งตลาดที่15% ของเม็ดพลาสติกที่เวียดนามนำเข้าทั้งหมด ตามหลังเกาหลีใต้ (30%) ไต้หวันและสิงคโปร์ (20%) นอกจากนั้น ประเทศไทยควรมุ่งเน้นส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของเวียดนามอย่างแผงวงจรรวมหรือ (IC, HS 8542) และวงจรพิมพ์ (PCB, HS 8534) อันเป็นอุตสาหกรรมการผลิตหลักของเวียดนาม รวมถึงต่อยอดความชำนาญในการผลิต IC และ PCB สอดคล้องกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม และชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ (HS 8517) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจากการที่เวียดนามเป็นฐานการผลิตและส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลก พร้อมทั้งสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของเวียดนาม เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งใช้ในการก่อสร้างรวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารและถนน เป็นต้น ทั้งนี้  จากเศรษฐกิจของเวียดนามที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เมืองมีพัฒนาการเติบโต (Urbanization) โดยกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรเมือง (Urban population) ของเวียดนามจะแตะ 32.12 ล้านคน ในปี 2560  และมีแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นโดยรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) ระหว่างปี 2555-2559 มีการเติบโตเฉลี่ย 7.2% ต่อปี แตะ 2,317.9 เหรียญฯ ในปี 2559 ดังนั้น ปัจจัยข้างต้นได้ส่งผลต่อความต้องการสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและทำให้เวียดนามเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่มีคุณภาพสูง และสินค้าท้องถิ่นยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และเครื่องสำอาง ก็นับว่ายังมีโอกาสอีกมากในตลาดเวียดนาม