โลกกลับตาลปัตร : น้ำมันลงทำเศรษฐกิจแย่!?! - Forbes Thailand

โลกกลับตาลปัตร : น้ำมันลงทำเศรษฐกิจแย่!?!

“ปกติราคาน้ำมันสูงจะทำให้เศรษฐกิจแย่ และราคาน้ำมันต่ำควรจะดีสำหรับเศรษฐกิจไม่ใช่เหรอ?” เป็นคำถามที่ผมได้รับบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากผู้ใหญ่ที่เคยผ่านช่วงวิกฤติน้ำมันมาก่อนหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Oil Price Shock ทั้งในปี 1973 ซึ่งเป็นผลมากจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ทำให้กลุ่ม OPEC ร่วมกันคว่ำบาตรสหรัฐฯ ดันให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงถึงกว่า 300% (อย่าเพิ่งตกใจมากครับ ราคาน้ำมันวิ่งจาก $3/BBL ไป $12/BBL เพราะฉะนั้น ยังต่ำกว่าปัจจุบันเยอะ) และอีกครั้งในปี 1979 จากสงครามอิรัก-อิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันวิ่งจากประมาณ $15/BBL ไปสู่ $40/BBL และฉุดให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง หรือแม้กระทั่งในโลกยุคก่อนวิกฤติซับไพรม์ที่ราคาน้ำมันเคยไต่ไปถึง $145/BBL ในเดือนกรกฎาคม 2008 ด้วยซ้ำ แต่กลับมาที่คำถามตั้งต้นของเรากันจริงๆ แล้วผมว่าเป็นคำถามที่ดีและสำคัญมาก ว่าโลกสมัยนี้มันกลับตาลปัตรกลายเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ผมขออธิบายเหตุผลของ “น้ำมันลงทำเศรษฐกิจแย่” โดยแยกเป็น 4 ประเด็นดังนี้ 1. อย่างแรก ราคาน้ำมันลงมาจากเศรษฐกิจโลกที่แย่ครับ หากมองอย่าง Economist ระหว่างเส้น Demand กับ Supply ตัดกัน อันนี้มาจาก Demand ที่หายไป เลยทำให้เหมือนๆ ว่าเราอยู่ในช่วง Supply ล้นตลาดทั้งๆ ที่ภาวะ Supply ไม่ได้ผันผวนมาเป็นปีแล้ว 2. แต่จะว่าไม่มีประเด็นจาก Supply เลยก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะในปัจจุบันเราทราบกันดีว่าทาง OPEC เองก็พยายามคงกำลังการผลิตน้ำมันไว้เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียส่วนแบ่งในตลาดไปมากกว่านี้ โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดหรืออย่างน้อยก็จำกัดคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขุดเจาะผ่านชั้นหินดินดานในสหรัฐฯ และอเมริกาเหนือ แต่ซ้ำร้ายสำหรับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน การที่ อิหร่านได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากทางสหรัฐฯ อียูและยูเอ็น ทำให้อิหร่าน สามารถเริ่มส่งออกน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกได้อีกคร้ัง ซึ่งมีสำรองน้ำมันและกำลังการผลิตลำดับต้นๆ ของกลุ่มเลยก็ว่าได้ (มีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกอยู่) และแม้ว่าอิหร่านจะเป็นประเทศในกลุ่ม OPEC เช่นกัน แต่ความขัดแย้งเมื่อต้นปีระหว่างพี่เบิ้มของกลุ่ม OPEC อย่าง ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน น่าจะทำให้ความร่วมมือจาก อิหร่าน ใน OPEC เกิดได้ยากขึ้น จึงทำให้ตลาดมองว่าราคาน้ำมันลงคราวนี้ สงสัยจะกู่ไม่กลับยาว 3. เมื่อราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำและมีแนวโน้มว่าจะนาน เริ่มทำให้ผู้ส่งออกน้ำมันเริ่มมีปัญหาเรื้อรัง ทั้งในแง่เศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน อย่างใน OPEC ที่มีปัญหาในเศรษฐกิจตัวเองจากรายได้ที่หดหายกันไป และระหว่างกันเองจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางและความไม่แน่ใจในกลยุทธ์คงการผลิตที่ดำเนินอยู่ นอกจากนั้น ผลร้ายด้านรายได้ยังมีนัยสำคัญในแง่ของบริษัทในตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน เราต้องอย่าลืมว่า Oil Dependency ในหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทน้ำมัน เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้ง Exxon, Petro China, BP, Shell, Chevron ต่างก็อยู่ใน Forbes top 100 Companies กันทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยอย่าง ปตท. และบริษัทในเครือ ทำให้พวกนี้ก็เป็นบริษัทใหญ่ในตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิ่งลงและลากยาวเช่นนี้ นักลงทุนจึงเริ่มกังวลกับ Performance ของบริษัทกลุ่มพลังงานทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้จากการขุดเจาะเพราะต้องใช้เงินลงทุนมาก ในขณะที่ Cashflow ที่ได้อาจจะไม่สามารถทำให้ NPV เป็นบวกได้ตามระยะที่คาดหวังไว้ ผลคือหุ้นทั่วโลกตกจากราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมุมมองราคาน้ำมันตกต่ำเป็นระยะเวลานาน และเมื่อหุ้นกลุ่มพลังงานถูก Sell Off อย่างหนัก จึงเริ่มดึงให้ดัชนีตลาดหุ้นติดลบ ส่งผลเป็นลูกโซ่ให้กองทุนต้องขายการลงทุนเพื่อ Stop Loss และ Speculators ก็ Reverse Position กันหน้ามืดทั้งตลาด 4. อย่าลืมว่าน้ำมันถือว่าเป็น Core Commodity ซึ่งเป็นฐานหรือปัจจัยในการกำหนดราคา Commodity อื่นๆ เมื่อเอาลักษณะนี้มาประกอบกับประเด็นแรกคือ Demand ในโลก (ของ Commodity) อ่อนแอ (ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ คือประเทศจีน) จึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกลงทั่วโลก ส่งผลลบต่อกับเศรษฐกิจที่พึ่งพารายได้จากสินค้าโภคภัณฑ์อื่นแม้จะไม่ใช่น้ำมัน เช่น ไทย Australia อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น แม้เรา (ไทย) จะได้อานิสงส์จากน้ำมันลด แต่ไม่สามารถเอามาชดเชยรายได้ที่หายไปจากส่งออกที่อ่อนแอกับรายได้เกษตรกรที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจในประเทศเราถึงไม่ดีแม้ราคาน้ำมันต่ำ โดยสรุปราคาน้ำมันลดในครั้งนี้เลยไม่ค่อยเหมือนกับครั้งก่อนๆ ครับ สมัยวิกฤติซับไพรม์ปี 2008-9 ราคาน้ำมันลงจาก Demand เพียงอย่างเดียวและเพียงชั่วคราวเพราะมี Demand จากจีนเข้ามาหนุนตอนปลายปี 2009 เลยกลายเป็นผลบวกต่อการฟื้นตัวของจีนและเศรษฐกิจโลกไป ในขณะที่ Oil Shock ทั้งสองครั้งที่กล่าวถึงในขั้นต้นเป็นเรื่อง Supply ล้วนในขณะที่ Demand ไม่ได้เปลี่ยแปลงไปมาก จนทำให้ผู้ที่นำเข้าพลังงานประสบวิกฤติไปตามๆ กันจากราคาที่สูงขึ้น แต่ในครั้งนี้จะเรียกว่าเป็น Perfect Storm ของอุตสาหกรรมน้ำมันก็คงว่าได้ เพราะทั้ง Demand อ่อน Supply เพิ่ม และ นักเก็งกำไรตื่นตระหนกเทขายทั้งในตลาด Spot และ Futures ซ้ำร้าย หากราคาน้ำมันเริ่มขยับตัวขึ้น ยังมีผู้เล่นทางเลือกใหม่ๆ ที่พร้อมจะลุยเพิ่มกำลังการผลิตได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (รวมทั้งตัวผมเอง) ก็คงได้แต่อธิบายย้อนหลังให้ทุกท่านเข้าใจเช่นนี้แล แต่เรื่องอนาคตของราคาน้ำมันนั้นไม่มีใครรู้จริงๆ ครับว่าจะไปไหน ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด