โรยัล คานิน ประเทศไทย โชว์แผนธุรกิจสบช่องว่างตลาดกรุยทางสร้างรายได้โตสองหลักในปีนี้ - Forbes Thailand

โรยัล คานิน ประเทศไทย โชว์แผนธุรกิจสบช่องว่างตลาดกรุยทางสร้างรายได้โตสองหลักในปีนี้

โรยัล คานิน ประเทศไทย ฉลองครบรอบ 50 ปี แบรนด์ 'โรยัล คานิน' อัดงบฯ 200 ล้านบาท เร่งสร้าง 3 กลยุทธ์หลักเน้นการตลาดเชิงรุกด้วยดิจิทัล รักษาฐานผู้นำอาหารสุนัขและแมวพรีเมี่ยมในประเทศไทยพร้อมให้ความรู้ทางโภชนาการกับผู้เลี้ยงและพาร์ทเนอร์

จากแนวคิดของสัตวแพทย์ Jean Cathary ในการรักษาสัตว์เลี้ยงโดยมุ่งเน้นโภชนาการทางอาหารที่เหมาะกับสายพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพและอาการภูมิแพ้ที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงจนเป็นที่กล่าวขานสู่การก่อตั้ง ROYAL CANIN เมื่อปี 2510 โดยให้ความสำคัญที่เรียกว่า “สุนัขและแมวเป็นศูนย์กลาง” โดยสัตวแพทย์ Jean Cathary ได้ขายกิจการและเปลี่ยนมือหลายครั้งจนกระทั่งอยู่ในกลุ่ม Mars Group สำหรับในประเทศไทยมีนำเข้าและจัดจำหน่ายหลายรายก่อนที่ ROYAL CANIN เข้ามาทำการตลาดและจัดจำหน่ายเมื่อปี 2548  โดยมี น.สพ.จดล สุวรรณฤทธิ์ นั่งตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรยัล คานิน (ประเทศไทย) จำกัด ในปัจจุบัน “โรยัล คานิน เชื่อว่าเทคโนโลยีการผลิตอาหารสุนัขและแมวสามารถพัฒนา หรือลอกเลียนแบบกันได้ในเวลาไม่กี่ปี แต่ที่มาของแนวคิด หรือแรงบันดาลใจในการพัฒนาสูตรอาหารไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ เรามั่นใจว่าไม่มีคู่แข่งขันรายใดที่จะลอกเลียนแบบแนวคิดและความเป็นตัวตนของ โรยัล คานิน ที่ให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นหลักคือ 1.ความรู้คู่ความรักซึ่งมีการศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของสุนัขและแมวก่อนที่จะคิดค้นสูตรอาหาร 2.สุนัขและแมวเป็นศูนย์กลางโดยเน้นพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมที่สุดตามธรรมชาติของสุนัขและแมว โดยมีทีมวิจัยและพัฒนา” น.สพ.จดล สุวรรณฤทธิ์ กล่าวและเสริมว่า เรามีนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ซึ่งพิสูจน์โดยสุนัขและแมว ตลอดจนมีการควบคุมมาตรฐานการผลิตในทุกมุมโลก ปัจจุบัน ROYAL CANIN มีสูตรอาหารมากถึง 700 สูตร และมีขนาดในการจำหน่ายมากกว่า 500 เอสเคยู ซึ่งจำหน่ายไปแล้วใน 70 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเลือกนำเข้าอาหารราว 250 สูตรอาหาร 2-3 ขนาดเพื่อให้เหมาะกับการเลี้ยงดูและการแก้ปัญหาที่กับทั้งหมาและแมว ซึ่งในปีนี้โดยเรานำเข้าเพิ่มราว 3-5 ขนาด ปัจจุบันอาหารสุนัขและแมวในแบบเม็ดเรายังคงนำเข้ามาจากโรงงานในประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่แบบเปียกนำเข้าจากออสเตรียเป็นหลัก น.สพ.จดล ยังได้เผยภาพรวมยอดขายของ ROYAL CANIN ในเอเชียแปซิฟิคประเทศที่มียอดจำหน่ายสูงสุดคือ ญี่ปุ่น, จีน, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ และ ประเทศไทย  สำหรับยอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศไทยมียอดจำหน่ายสูงสุด รองลงมาคือ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, พิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ROYAL CANIN ในภูมิภาคนี้คือการตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในประเทศเกาหลีใต้ในปีที่ผ่านมา ด้าน ธิติ ตวงสิทธิตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท โรยัล คานิน (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยไว้ว่า ตลาดสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของเรามีมูลค่าประมาณ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มอาหารสุนัขและแมวมีมูลค่ามากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 45% โดยมีทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้ามากกว่า 20 แบรนด์ เฉลี่ยโตราว 5-7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งในกลุ่ม 1.3 หมื่นล้านบาทนี้ราว 30 เปอร์เซ็นต์คือกลุ่มอาหารสุนัขและแมวพรีเมียมซึ่งมีเราเป็นผู้ครองสัดส่วนราว 70-80 เปอร์เซนต์จากผู้แข่งขัน 3-4 รายในปัจจุบัน ด้านแนวโน้มของจำนวนสัตว์เลี้ยงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีจำนวนสุนัขและแมวรวมมากกว่า 12 ล้านตัว แบ่งเป็นสุนัข 8 ล้านตัว และแมว 4 ล้านตัว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอัตราการเกิดของลูกสุนัขและแมวไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เราคาดกันว่าในปี 2561 มีทิศทางการเพิ่มประชากรสุนัขและแมวน่าจะสูงขึ้นเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตลาดอาหารสุนัขและแมวจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% โดยตลาดอาหารแมวมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่าอาหารสุนัข "โอกาสการเติบโตของธุรกิจอาหารสุนัขและแมวในประเทศไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญคือประเทศไทยยังมีอัตราการเข้าถึงอาหารสำเร็จรูปในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างต่ำคือ สุนัข 22.4% และแมว 46.7% บริษัทฯ จึงเตรียมแผนในการขยายตลาดกลุ่มโภชนาการเพื่อสุขภาพสำหรับสุนัขและแมวให้เติบโตเพิ่มขึ้น โดยการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้เลี้ยง รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเน้นทำการตลาดเชิงรุกด้วยการตลาดเชิงดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในอนาคต" ธิติ ตวงสิทธิตานนท์ กล่าวเสริม น.สพ.จดล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2561 บริษัทฯ เตรียมใช้งบประมาณมากกว่า 200 ล้านบาทในการสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์และคุณภาพของแบรนด์ เพื่อต้องการให้ลูกค้าได้รู้จักและทดลองสินค้า ROYAL CANIN เพิ่มมากขึ้น เราจึงเน้นในเรื่องการสื่อสารการตลาดครบวงจร หรือ IMC โดยเน้นการนำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เลี้ยงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับสุนัขและแมวที่แตกต่างจากคนและเปลี่ยนมาใช้อาหารสำเร็จรูปแทนการให้อาหารปรุงเอง เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตของบริษัทฯ ในปี 2561 ให้ได้อย่างน้อย 15% นอกจากนี้เรายังมุ่งเป้าหมายสื่อสารไปยังพาร์ทเนอร์สามส่วนคือ Pet Shop ราว 4,000 ร้านค้า คลีนิค ราว 2,000 แห่ง และ ฟาร์มเลี้ยงเพาะพันธุ์อีกราว 100 ฟาร์ม ในการให้ความรู้ในเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมในทุกช่วงวัย ซึ่งที่ผ่านมาเราสื่อสารผ่านแบรนด์ ROYAL CANIN ในด้านโภชนาการเป็นหลัก "ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดอาหารสุนัขและแมวมีการเติบโตต่อเนื่อง เป็นเพราะพฤติกรรมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและไลฟ์สไตล์ เช่น การแต่งงานช้าและน้อยลง อัตราการมีบุตรลดลง การดำรงสถานะโสดมากขึ้น การอยู่อาศัยในลักษณะครอบครัวเชิงเดี่ยว หรือการอาศัยเพียงลำพังมากขึ้น ตลอดจนการเริ่มเป็นสังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้คนนิยมเลี้ยงสุนัขและแมวได้รับเพื่อทดแทนเพื่อน หรือลูกหลานมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงยังมีความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยสัตว์เลี้ยงมากขึ้นและมีกำลังซื้อสูงทำให้มีการใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น" น.สพ.จดล กล่าวในที่สุด