แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป เผยผลสำรวจพฤติกรรม Gen Z ของไทย พบเป็น ‘นักแสวงหาความเท่’ - Forbes Thailand

แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป เผยผลสำรวจพฤติกรรม Gen Z ของไทย พบเป็น ‘นักแสวงหาความเท่’

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Sep 2021 | 05:27 PM
READ 2586

เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติในปีนี้ แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับ “Truth About Generation Z”

แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งได้ศึกษาถึงทัศนคติ พฤติกรรม และความเห็นต่อสังคมโลกของกลุ่มคน Gen Z ผ่าน McCann Truth Central ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์การตลาดระดับโลกของแมคแคน เวิลด์กรุ๊ป พบว่าความเท่ในทุกวันนี้หมายถึงการได้ค้นพบไอเดียใหม่ๆ เช่นเดียวกับการได้แสดงความคิดเห็นเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และผลสำรวจยังพบว่าการฟื้นฟูทางวัฒนธรรมกำลังเกิดขึ้น และคน Gen Z เหล่านี้กำลังทวงคืนพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์แห่งยุคสมัยนี้ โดยคนรุ่นนี้ต้องการชูเอกลักษณ์ของตนผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์ม และต้องการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผู้อื่นด้วย โดยร้อยละ 83 ของ Gen Z ในประเทศไทยเชื่อว่าพวกเขามีส่วนในการสร้างสรรค์สังคมและชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ในขณะที่คนรุ่นเดียวกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เห็นด้วยกับข้อนี้ร้อยละ 77

สรุปเทรนด์ที่น่าสนใจจากผลสำรวจ “Truth about Gen Z Thailand”

เทคโนโลยีและอุปกรณ์เคลื่อนที่คือหัวใจในการเชื่อมต่อของ Gen Z ชาวไทย โดย 88% ของคนรุ่นนี้เชื่อว่าการติดต่อเชื่อมโยงกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ในทุกวันนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น 75% เห็นด้วยว่าหากพวกเขาไม่มีโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่หรือบริการสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่แม้เพียงระยะสั้นๆ พวกเขาจะรู้สึกไม่สบายใจ  ในขณะที่ผลสำรวจในระดับโลกเห็นด้วยกับข้อนี้ 51% ซึ่งเทรนด์นี้ยิ่งเห็นได้ชัดจากผลกระทบของภาวะโรคระบาดโควิด-19 เมื่อการเดินทางถูกจำกัด เกิดการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ยิ่งทำให้การเชื่อมต่อออนไลน์และการใช้เทคโนโลยีมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าเคย ในความเห็นของ Gen Z ชาวไทย การเชื่อมโยงกับผู้คนและการใช้โซเชียลมีเดียเกี่ยวข้องกัน ผลการศึกษาเผยว่าคนรุ่นนี้เห็นว่าโซเชียลมีเดียมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดย 54% ของ Gen Z ชาวไทยเชื่อว่าประโยชน์สำคัญของโซเชียลมีเดียคือการได้แสดงความคิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอีก 48% เห็นด้วยว่าโซเชียลมีเดียคือช่องทางแสดงความคิดเห็นที่พวกเขาไม่เคยมีมาก่อน โซเชียลมีเดียยังเปลี่ยนวิธีการที่คน Gen Z ในไทยใช้ติดต่อสื่อสารกัน โดย 63% ใช้การส่งข้อความแทนการโทรผ่านเสียง ในขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกมีเพียง 42%  จากผลสำรวจพบอีกว่า 67% ของ Gen Z ชาวไทยยอมรับว่าขาดการยับยั้งตัวเองในการใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมากกว่าผลสำรวจจากทั่วโลกที่ 44% ยอมรับในข้อนี้  อย่างไรก็ตาม 78% ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทยบอกว่าพยายามลดปริมาณการใช้เวลาในการจ้องหน้าจออุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า 72% ของ Gen Z ชาวไทย รู้สึกกดดันที่ต้องอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ตลอดเวลา ความขัดแย้งอันหลากหลาย ในขณะที่ Gen Z ชาวไทยต้องการชูประเด็นความหลากหลายและการแสดงตัวตนแต่บางส่วนก็รู้สึกไม่สบายใจในข้อนี้เช่นกัน โดย 58% ของคนรุ่นนี้เห็นว่าผู้คนควรได้รับเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่ากลุ่มตัวอย่างในเประเทศอื่นในเอเชียอย่างอินเดีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น  โดย Gen Z ชาวไทย 68% รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้คนที่เห็นต่างจากตน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในประเทศที่เราได้ทำการสำรวจ และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 45%  ในทางกลับกัน 48% ของ Gen Z ชาวไทยคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือต้องให้ผู้คนที่ต่างความคิดต่างมุมมองมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน Gen Z ชาวไทยคาดหวังบางอย่างจากแบรนด์ต่างๆ และเต็มใจจะจ่ายให้แบรนด์ คนรุ่นนี้อยากเห็นแบรนด์มีความคิดสร้างสรรค์ เท่ และเป็นมากกว่าแบรนด์ โดย 73% พร้อมจ่ายมากขึ้นหากพบว่าแบรนด์สนับสนุนประเด็นที่พวกเขากำลังใส่ใจ และไม่แปลกใจที่หลายครั้งที่มีแฮชแท็กประเด็นร้อน จะพบว่า Gen Z ชาวไทยออกมาชื่นชมแบรนด์ที่พวกเขาเห็นว่าทำดีหรือเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ มาร่วมสนับสนุน  เมื่อถามคนรุ่นนี้ว่าพวกเขาอยากเห็นบุคลิกหรือคุณค่าใดในแบรนด์ คำตอบที่พบมากที่สุดคือ ความจริงใจ 30% ความรับผิดชอบ 27% ความคิดสร้างสรรค์ 25% และความเที่ยงธรรม 22% “Gen Z ชาวไทยกำลังโอบรับเทคโนโลยีและใช้สิ่งนี้ขับเคลื่อนการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังพบอุปสรรคในการพบปะกันและถูกตัดขาดจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โซเชียลมีเดียจึงเป็นทางออกที่ช่วยให้ผู้คนได้เชื่อมต่อกันมากขึ้น  คนรุ่นนี้มีชีวิตเพื่อแสวงหาความเท่ ทันสมัย แต่ก็ต้องการปกป้องสิ่งดีๆ ในโลกใบนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านความหลากหลายในสังคมหรือคุณค่าทางสังคม พวกเขาไม่รีรอที่จะบอกแบรนด์ว่าอยากให้ทำอะไร” ณกร โชติสังกาศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการวางแผนกลยุทธ์ แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป กล่าว ผลสำรวจระดับโลกนี้ได้เปิดเผยออกมาในเดือนมีนาคม 2564 โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพกว่า 2 ปี จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องด้านพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ของ McCann Truth Central นับตั้งแต่ปี 2554  ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณในระดับโลกและรวบรวมผลสำรวจเชิงลึกจำนวน 5,000 กลุ่มตัวอย่าง ช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพซึ่งเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา อ่านเพิ่มเติม: WeTV ประกาศโร้ดแมป 3 ปี รุกตลาด วิดีโอสตรีมมิง ด้วยกลยุทธ์ “3X”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine