แบตเตอรี่ : "The Next Big Thing" - Forbes Thailand

แบตเตอรี่ : "The Next Big Thing"

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Aug 2019 | 05:30 PM
READ 9044

ผู้เชี่ยวชาญพลังงานทั้งในไทยและต่างประเทศชี้พลังงานทดแทนสามารถแข่งขันได้แล้วกับพลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน หรือ แบตเตอรี่

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ให้มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ กับ Forbes Thailand ว่า แบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่พ้น เนื่องจากทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) ซึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีบทบาทลดลง โดยตัวที่จะมาทดแทนคือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะยังเข้ามาแทนพลังงานฟอสซิลไม่ได้เต็มที่ ต้องมีแบตเตอรี่มาช่วย หลายประเทศจึงมองว่าแบตเตอรี่จะเป็น “The Next Big Thing” แน่นอน

ผมทราบว่ามีหลายกลุ่มที่สนใจด้านแบตเตอรี่ แต่ละกลุ่มก็มีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน เช่น บ้านปูไปซื้อบริษัทสิงคโปร์ที่มีโรงงานในจีน และเน้นการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ ขณะที่ ปตท.ใช้วิธีจับมือกับ MIT ไปลงทุนในสตาร์ทอัพ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใดจะเป็นผู้ชนะนั้นยังไม่สามารถตอบได้ โดยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมมีแยกย่อยออกไปหลายสูตรตามชนิดของโลหะที่นำมาใช้เป็นขั้วบวก เช่น ลิเทียมไอออน ลิเทียมโซเดียม ลิเทียมซัลเฟอร์ ฯลฯ (Forbes Thailand: กระทรวงพลังงานร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธีกำลังทำการวิจัยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ ที่พบว่าเก็บไฟฟ้าได้มากกว่าลิเทียมไอออน 3-5 เท่า)

ทวารัฐกล่าวว่า ปัญหาสำคัญของแบตเตอรี่ลิเทียมคือแร่ลิเทียมมีปริมาณสำรองไม่มาก และกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศ ซึ่งจีนได้เข้าไปครอบครองตลาดไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความพยายามพัฒนาแบตเตอรี่ในเจเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยี solid-state (ลิเทียมไอออน เป็น semi-solid) อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 5-10 ปี แบตเตอรี่ลิเทียมจะยังคงมีบทบาทสำคัญ

นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยยังมีอุปสรรคในเรื่องของกำแพงภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ ซึ่งหากภาครัฐต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในรายการคิดยกกำลัง 2” ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอสเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์และกังหันลม กลายเป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทยในการผลิตไฟฟ้าให้ได้คุณภาพดีและราคาถูกสำหรับประชาชน

ทว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทยฉบับใหม่ (PDP-18) ยังกำหนดให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วน 20% เท่าแผนเดิมที่มีการจัดทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไม่ได้ปรับตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเลย ขณะที่กำหนดให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งคือ 53% ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกลดลงเพียงเล็กน้อย

รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ทำร่วมกับ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์เพียง 4% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำมาก และต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี หรือเดนมาร์ก ที่มีการใช้พลังลมและแสงแดดมากถึง 40% ทั้งๆ ที่ประเทศไทยแดดออกจ้า ฟ้าออกใส

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า รายงานการศึกษาจาก OECD และ IEA ยังระบุว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแก๊สเทอร์ไบน์ ที่ประเทศไทยกำลังเน้นอยู่ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนแต่ที่เป็นปัญหาคือสัญญาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปทำผูกพันในการซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถขยับไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้มากอย่างที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม เขาหวังว่าทางการไทยจะสามารถแก้ไขสัญญาที่ทำไว้ได้

หวังว่าจะปรับกัน โดยตั้งจากทัศนคติที่ถูกต้องก่อน คือพลังงานหมุนเวียนเป็นโอกาส ไม่ใช่เป็นภาระ ค่าไฟถูกลง สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ประเทศไทยต้องเลิกคิดเผาถ่านหินและลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน แล้วอากาศจะดีขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง แต่ทั้งนี้ต้องจัดการประมูลให้ดี ถ้าสามารถจัดการประมูลได้แบบต่างประเทศ รับประกันได้ว่าต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าแบบเดิม และจะส่งต่อมาหาคนไทยทุกคนประธาน TDRI กล่าวสรุป

สอดคล้องกับรายงานการศึกษาของบริษัทวิจัย BloombergNEF ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ระบุว่า ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ลดลงอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้พลังงานทดแทนกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โดยพบว่าต้นทุนเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (Levelized Cost of Electricity หรือ LCOE) ของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนลดลง 35% เหลือ 187 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง จากช่วงครึ่งแรกของ ปี 2561 ขณะที่ต้นทุนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมลดลง 10% เหลือ 50 เหรียญ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง 18% เหลือ 57 เหรียญ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา (ดูกราฟิกประกอบ)

ต้นทุนที่ลดลงอย่างมากของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนนี้เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับการทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ควบคู่กับการติดตั้งแบตเตอรี่เก็บกักพลังงานที่เริ่มแข่งขันได้ในหลายๆ ตลาดกับโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการเดินเครื่องแบบเป็นโรงไฟฟ้าหลัก (dispatchable power) รายงานฉบับนี้กล่าว

  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง สมโภชน์ อายุนัย "GIGA" ดรีม ซึ่งสามารถคลิกอ่านได้ที่นี่
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine