แนะฉวยโอกาสทองในเวียดนาม ก่อนเลือกตั้งปีหน้า - Forbes Thailand

แนะฉวยโอกาสทองในเวียดนาม ก่อนเลือกตั้งปีหน้า

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jan 2015 | 07:47 AM
READ 3024
14 มกคาคม 2558 - KPMG ชี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอการลงทุน รอดูผลการเลือกตั้งปี 2016 แนะนักลงทุนไทยรีบบุก โดยเฉพาะค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร รวมไปถึงท่องเที่ยวและบันเทิง 

 
ในปี 2015 ประเทศเวียดนามซึ่งมีประชากร 90 ล้านคน จะมีขนาดเศรษฐกิจ 2 แสนล้านเหรียญ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6%  ตลาดเวียดนามจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของนักธุรกิจไทยจำนวนมาก ยิ่งในปีหน้า เมื่อทั่วทั้งย่านอาเซียนจะรวมกันเป็นหนึ่งในนาม AEC จนเหมือนว่าเส้นทางแห่งการลงทุนจะสดใสไร้อุปสรรค
 
Warrick Cleine, Chairman และ CEO ของ KPMG ประจำเวียดนาม เตือนว่า อย่าตั้งความหวังไว้สูงเกินไปนัก การเข้าสู่ AEC มิได้ทำให้เวียดนามเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด เป็นเรื่องปกติของประเทศนี้ที่แผนงานจากระดับนโยบาย กว่าจะลงถึงฝ่ายปฏิบัติการได้นั้น ใช้เวลานานมาก การปฏิรูปกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ตามกรอบ AEC จึงล่าช้า ในระดับท้องถิ่นอาจจะพบเห็นการกีดกันกิจการจากต่างชาติอยู่ต่อไป
 
“ตัวแปรสำคัญอีกเรื่อง ณ เวลานี้ ก็คือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2016 ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ บางส่วนเริ่มชะลอการลงทุน”
 
หากนักลงทุนไทยจะรอ “ดูทิศทางลม” จนกว่าการเลือกตั้งผ่านพ้นไป  หรือรอให้ปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ในทางปฏิบัติ ให้สอดรับกับ  AEC  เสียก่อน เมื่อถึงเวลานั้น ค่อยตัดสินใจก้าวสู่ตลาดเวียดนาม ซึ่ง Cleine เห็นว่า “กว่าจะถึงเวลานั้น อาจสายไปเสียแล้ว” 
 
เขาบอกว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่เคยพลาดไปครั้งหนึ่งแล้ว ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ซึ่งเวียดนามเปิดตัวรับการลงทุนจากต่างชาติเป็นครั้งแรก หลังสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร แต่โชคร้ายที่ธุรกิจไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในขณะนั้น  ทำให้เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามอยู่ใต้การครอบงำของชาติตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต
 
แต่ถึงกระนั้นเม็ดเงินบาทจากไทยที่ใส่ลงในระบบเศรษฐกิจของดินแดนสังคมนิยมแห่งนี้ ถือว่าสูงติดอันดับ 10 ของเงินลงทุนจากต่างชาติ ตัวเลขเมื่อกันยายน 2014 ระบุว่านักธุรกิจไทยลงทุนเป็นเงินรวมประมาณ 6,600 ล้านเหรียญ จาก 365 โครงการ  ขณะที่สามอันดับแรกได้แก่ ญี่ปุ่น 36,000 ล้านเหรียญ, เกาหลี 33,000 ล้านเหรียญ และสิงคโปร์ 31,000 ล้านเหรียญ
 
“การลงทุนในเวียดนามเวลานี้ เปิดกว้างกว่าที่เคยเป็นอย่างมาก แม้บางภาคส่วนจะยังมีข้อจำกัด เช่น ภาคการเงินหรืออสังหาฯ แต่อุปสรรคเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการแก้ไข รัฐบาลเวียดนามพิสูจน์แล้วว่าเป็นพันธมิตรที่ดีของนักลงทุนต่างชาติ แม้จะล่าช้าไปบ้างก็ตาม นักธุรกิจไทยควรรีบฉวยโอกาสในช่วงนี้ อย่าพลาดซ้ำสอง”
 
เขาย้ำว่า อุตสาหกรรมหลายสาขายังอ่อนแอ ไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดที่ชัดเจน ถ้าจะมีก็คือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการแปรรูป ขณะที่เอกชนของเวียดนามเองยังอ่อนแอเข้าถึงตลาดทุนได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นโอกาสทองของนักลงทุนไทย
 
“ภาคธุรกิจที่ไทยได้เปรียบกว่านักลงทุนต่างชาติ และบริษัทเวียดนาม อาจกล่าวว่า “ฮอต” สำหรับไทยก็คือ ค้าปลีก, สินค้าอุปโภคบริโภค, อาหารและเครื่องดื่ม, การจัดจำหน่าย, การท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมเกษตร, อสังหาริมทรัพย์, สุขภาพ และบันเทิง ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีประสบการณ์มาอย่างเข้มข้น”

ใน Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2015 รายงานว่า บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยยุคบุกเบิกที่เข้าไปลงทุนในปี 1998 เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตอาหารจากสัตว์บกและสัตว์น้ำครบวงจร เพื่อป้อนผู้บริโภคทั่วโลก ในนามของ C.P. Vietnam Corporation (CPV) มีอัีตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 29%
 
เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ หัวหน้าสำนักงานสอบบัญชี KPMG เสริมว่า บรรยากาศในเวียดนามวันนี้ คล้ายกับในไทยเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว นักธุรกิจที่เคยผ่านช่วงยุคดังกล่าว น่าจะใช้ประสบการณ์ในครั้งนั้นให้เป็นประโยชน์ในการเข้าสู่ตลาดเวียดนาม เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค และต้องศึกษาการทำธุรกิจของคู่ค้าเวียดนามอย่างละเอียดรอบคอบ
 
ความน่าสนใจอีกด้านของเวียดนามก็คือทรัพยากรมนุษย์  ประชากรกว่า 60% ของประเทศยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือเป็นคนในวัยทำงาน มีความมุ่งมั่นตั้งใจประกอบอาชีพ ต่างไปจากคนอายุเกินกว่า 45 ปี ซึ่งเกิดในช่วงสงคราม ที่ชอบใช้ชีวิตแบบสบายๆ 
 
“สำหรับแรงงานชาวเวียดนาม เป็น skilled labor รัฐบาลเวียดนามพยายามโปรโมทเรื่องนี้มาก ว่านอกจากจะมีทักษะฝีมือแล้ว ยังมีราคาถูกอีกด้วย”
 
ในเวียดนามมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราว 40 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ทำให้ digital media และ marketing online มีความสำคัญมาก  นอกจากนี้ คนเวียดนามส่วนใหญ่มองไทยในด้านบวก  ชื่นชอบสินค้าหรือของที่ผลิตจากไทย แม้แต่ซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่โด่งดังในบ้านเรา ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงที่เวียดนาม

 

TAGGED ON