แนวโน้มจ้างงานเพิ่ม แต่นายจ้างเครียด แรงงานมีฝีมือขาด หวั่นเกิด "สงครามสมองไหล" - Forbes Thailand

แนวโน้มจ้างงานเพิ่ม แต่นายจ้างเครียด แรงงานมีฝีมือขาด หวั่นเกิด "สงครามสมองไหล"

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Jul 2014 | 06:35 AM
READ 3689
PwC สำรวจพบปัญหาช่องว่างทักษะบุคลากร (Skills gap) เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานความสามารถสูง แม้แนวโน้มการจ้างงานจะดีขึ้น พบอุตสาหกรรมทาเทคโนโลยี วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์เจอปัญหาหนักสุด ส่วนไทยเจอปัญหาไม่ต่างกัน ขาดคนทำงานทักษะดีในกลุ่มงานเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ แนะนำรัฐเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่วนภาคธุรกิจให้ร่วมกับสถานศึกษาจัดอบรม
 
 
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) ประเทศไทย เปิดเผยรายงานการรสำรวจ Talent Challenge: Adapting to growth ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้บริหารและซีอีโอกว่า 1,344 ราย ใน 68 ประเทศ ระหว่างช่วงกันยายน-ธันวาคม 2556  พบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญ  CEO ถึง 63% ทั่วโลกระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนลูกจ้างที่มีทักษะหรือ Skilled employees ซึ่งตรงกับประเภทของงาน กลายเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่า CEO ทั่วโลกถึง 50% มีแนวโน้มจ้างงานเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่กลับกังวลว่าจะว่างจ้างคนที่มีทักษะหรือคุณสมบัติเหมาะกับงานไม่ได้
 
“ปัจจุบันการเฟ้นหาแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับตำแหน่งของงาน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ไม่แพ้การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือความสามารถในการทำกำไร” นายศิระกล่าวและว่า "ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริหารในแอฟริกาและ อาเซียนคำนึงถึงปัญหานี้มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือในกลุ่มเทคโนโลยี วิศวกรรมและคอมพิวเตอร์”
 
แม้ว่าแนวโน้มการจ้างงานของภาคธุรกิจจะเติบโตเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากผลสำรวจซึ่งพบว่า ผู้บริหารของหลายๆ องค์กรทั่วโลกหันมาปรับรูปแบบการบริหารจากแนวทางการบริหารเพื่อความอยู่รอด (Survival mode) มาสู่การบริหารที่มุ่งสร้างความเติบโตทางธุรกิจ (Growth mode) มากขึ้น
 
ผลสำรวจจำแนกด้วยว่า ผู้บริหารในกลุ่มประเทศตะวันออกถึง 71% พร้อมจ้างงานเพิ่มมากที่สุดในโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้า รองลงมาคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 54% ตามด้วยจีนและฮ่องกง 53% โดยกลุ่มธุรกิจที่ต้องการเพิ่มจำนวนพนักงานมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมประเภทธุรกิจบริการ 51% ประกันภัย 49% และเทคโนโลยี 46% 
 
นายศิระกล่าวต่อว่า การช่วยเหลือจากภาครัฐยังเป็นสิ่งสำคัญที่บรรดาผู้บริหารต้องการ  CEO กว่า 41% เรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาในเชิงนโยบายพัฒนาทางด้านฝีมือแรงงาน โดยให้ถือเป็นภาระกิจเร่งด่วน 3 อันดับแรกในการบริหารประเทศ ซ้ำร้ายผู้บริหารอีก 52% ยืนยันว่า นโยบายบางเรื่องของภาครัฐเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการจ้างงาน รวมทั้งดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ 
 
“สิงคโปร์ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่มีมาตรการดึงดูดและเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยจัดให้อยู่อันดับ 5 ในแง่ของการมีมาตรการด้านแรงงานที่ส่งเสริม และเอื้อประโยชน์ ต่อการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก” ผู้บริหาร PwC กล่าว 
 
ช่องว่างแรงงานทักษะที่กว้างขึ้น และค่าแรงที่สูงขึ้นในตลาดเกิดใหม่ส่งผลให้บรรดาบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก เบนเข็มมาเฟ้นหาบุคลากรหรือเด็กจบใหม่จากจีนและอินเดียเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์  แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่ลูกจ้างของประเทศเหล่านี้ จะหันมาสนใจร่วมงานกับบริษัทหรือธุรกิจภายในประเทศมากขึ้นเช่นกัน
 
ส่วนตลาดแรงงานภายในประเทศไทยนั้น นายศิระกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีแรงงานกว่า 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูงเพียง 10-15% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้บริหารไทยหลายรายได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การคัดเลือกพนักงาน ให้มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน องค์กรบางแห่งยังเริ่มใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้านงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR data analytics) เพื่อนำมาข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการเฟ้นหาลูกจ้าง
 
นายศิระกล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะมีแนวโน้มเกิดการแย่งชิงบุคลากร หรือลุกลามกลายเป็นสงครามสมองไหล (Talent War) ได้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต้องนำแนวทางใหม่ๆ มาปรับใช้ในการพัฒนาและรักษาแรงงานทักษะโดยเร่งด่วน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งได้ รวมทั้งต้องทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในการจัดอบรม หรือหาหลักสูตรการศึกษาที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบ และได้พนักงานที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตนอย่างแท้จริง
 
ผลสำรวจยังย้ำว่า ผู้บริหารทั่วโลกมากถึง  93% ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับกลยุทธ์ในการดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีทักษะสูงในองค์กร แต่มีผู้บริหารมากถึง  61% เช่นกันที่ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม