อินเวสทรี แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง เติบโต 300 เท่า ในช่วง 1 ปี ชี้เป็นทางเลือกใหม่ให้เอสเอ็มอีออกหุ้นกู้ เสริมสภาพคล่องช่วงวิกฤตโควิด ทั้งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุน พร้อมประกาศแผนปี 65 ขยายธุรกิจต่อเนื่อง จับมือพันธมิตร อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย คาดวงเงินหุ้นกู้ปีนี้พุ่งกว่า 1,000 ล้าน เพิ่มอีก 5 เท่า
จากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น เอสเอ็มอีเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะเกิดปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่กลไกสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้ครอบคลุม ส่งผลให้ บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดมทุนระบบคราวด์ ฟันดิงเติบโตสูง ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มเปิดให้บริการระบบคราวด์ ฟันดิง แพลตฟอร์ม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับใบอนุญาตดำเนินการจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทฯ เติบโตมากกว่า 300 เท่า มีมูลค่าหุ้นกู้รวมทั้งสิ้นกว่า 221 ล้านบาท คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดรวม 1,391 ล้านบาท และ คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ จำนวน 140 บริษัท ที่ผ่านมา มีบริษัท SMEs มาใช้บริการกว่า 40 บริษัท ซึ่งมีทั้งการขอออกหุ้นกู้ซ้ำจาก SME รายเดิมร้อยละ 75 และรายใหม่อีกร้อยละ 25 ขณะที่มีนักลงทุนที่เข้าใจความเสี่ยงของ SMEs และต้องการช่วย SMEs เพิ่มขึ้นจาก 38 รายเป็น 269 ราย โดยนักลงทุนได้อัตราเฉลี่ยของผลตอบแทนที่ร้อยละ 11 “วิกฤตของโควิดที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตด้านรายได้ สถาบันการเงินภายในประเทศ ไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ทุกราย เราขอเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่พยายามช่วย SMEs โดยอินเวสทรีมีจุดยืนที่ต้องการช่วยเหลือ SMEs จริงๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ไซส์เอส เราทุกคนที่อินเวสทรี เชื่อมั่นว่าทุกๆ คนมีโอกาสเติบโต หรือ Everyone Can Grow ดังนั้น ไม่ควรจะมีใครต้องล้มไปจากความตั้งใจในการทำธุรกิจเพียงเพราะขาดทุนหมุนเวียน” ณัทสุดา กล่าวแพลตฟอร์มคราวด์ ฟันดิงจากอินโดนีเซีย
อินเวสทรี (Investree) เป็น Fintech Startup ที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศอินโดนีเซีย เปิดตัวเมื่อปี 2015 ก่อนจะขยายธุรกิจไปประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทย อินเวสทรีเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนกับผู้ต้องการเงินทุน โดยทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ขอกู้ และบริหารจัดการการกู้ยืมตั้งแต่การทำสัญญาไปจนถึงการชำระคืนเงินกู้ ขณะที่ในประเทศไทย เปิดตัวในปี 2561 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บริษัทฯ ได้รับอนุญาต ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง จาก ก.ล.ต. มีทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี ในสายงานธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจการประเมินความเสี่ยงด้านการเงิน โดย ณัทสุดา เคยทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาประมาณ 18 ปี ในฝ่ายวิเคราะห์เข้าถึงแหล่งเงินของครัวเรือน “18 ปีก่อนเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ยังเป็นอย่างนั้น จำนวนบริษัททั้งหมดในประเทศไทยกว่า 3 ล้านบริษัท 99% เป็นเอสเอ็มอี และส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ไซส์เล็ก ที่มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้น ตลาดที่เราให้บริกการถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีพื้นที่ของการลงทุนใหญ่มหาศาล ปัจจุบัน มีผู้เล่น จำนวน 6 ราย ในตลาด” สำหรับธุรกิจคราวด์ฟันดิงในต่างประเทศ เป็นตลาดที่เติบโตสูง ล่าสุด บริษัท อินเวสทรี อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนเพื่อการขยายธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับซีรีส์ ซี (Series C) จำนวน 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 753 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่สนับสนุนเงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเงินของญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ได้แก่ เอ็มยูไอพี (MUIP) ของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. - MUFG) และ บีอาร์ไอ เวนเจอร์ (BRI Ventur)เปิดแผนปี 65 ขยายวงเงินหุ้นกู้ 5 เท่า
ณัทสุดา กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทจะขยายมูลค่าหุ้นกู้อีกประมาณ 5 เท่า หรือเป็นวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายจำนวนนักลงทุน 8 เท่าหรือมากกว่า 320 ราย ซึ่งจะมีทั้งนักลงทุนสถาบันที่อยู่ระหว่างการลงทะเบียน และกองทุนต่างประเทศที่กำลังพิจารณาลงทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินเชื่อ P2P หรือ สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล ในต่างประเทศอยู่แล้ว รวมไปถึงแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่ให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน และในกลุ่มที่เห็นศักยภาพของการร่วมมือกับ Fintech เพื่อนำเครื่องมือของบริษัทไปใช้ในการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจเขา สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจในปัจจุบัน เช่นกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ที่เป็นซัพพลายเชนขนาดใหญ่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เข้าไปช่วยเหลือคู่ค้าและผู้ประกอบการ หาแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ที่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นSMEs มีผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มเซ็นทรัลมาออกหุ้นกู้กับเราประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนอีกกลุ่มพันธมิตร คือกลุ่มทำธุรกิจบริการทางด้านการเงิน และ ระบบการจัดซื้อบนดิจิทัล แพลตฟอร์ม ซึ่งบริษัทเข้าไปเป็นบริการเสริมทางด้าน CRM และด้าน Supply Chain Finance เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจของเขา ขณะเดียวกัน บริษัทได้ลูกค้าจากพันธมิตรด้วย โดยทั้ง 3 บริษัทนี้เป็นพันธมิตรตั้งแต่เริ่มต้นบริษัท ได้แก่ 2C2P เป็น Payment gateway พันธวณิช ระบบe-procurement และ FLOWACCOUNT ซึ่งเป็น online accounting software เป็นต้น ซึ่งในปีนี้บริษัทจะขยายฐานพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรมากขึ้น เพื่อช่วยนักลงทุนกระจายความเสี่ยง วรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า นอกจากการขยายธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวแล้ว บริษัทได้เสริมระบบหลังบ้านให้พร้อมรับการเติบโต นั่นคือการเสริมแกร่ง ด้วย 3 กลยุทธ์ความไว้วางใจ ได้แก่ระบบ Cyber Security ที่พร้อมดูแลและติดตามการลงทุนของนักลงทุนได้ ดูแลทรัพย์สินของนักลงทุน ด้วยผู้รับฝากสินทรัพย์ (Custodian) ระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่ปลอดภัยจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ (cyber attack) เสริมประสิทธิภาพของระบบ Credit Scoring ในการวิเคราะห์คุณสมบัติความน่าเชื่อถือของ SME ที่มาออกหุ้นกู้ และ เสริมทีมบุคลากร ที่เข้าใจผลิตภัณฑ์การเงิน เข้าใจเกณฑ์กำกับดูแล เข้าใจความเสี่ยงและความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ที่ขายกับนักลงทุน “สำหรับนักลงทุน อินเวสทรีนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีความผันผวนน้อย เป็นการลงทุนแบบใหม่ Alternative Investment สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี ไม่ได้เซ็กซี่เท่าคริปโต แต่เราเป็นทางเลือกใหม่สำหรับทุกคน ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ขณะที่ยังได้ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้” ณัทสุดา กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: แสนสิริ เดินหน้าพันธกิจ Net-Zero ในปี 2565ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine