"เอสเอ็มอีญี่ปุ่น" ยกระดับ อุตสาหกรรมอาหารไทย - Forbes Thailand

"เอสเอ็มอีญี่ปุ่น" ยกระดับ อุตสาหกรรมอาหารไทย

เอสเอ็มอีญี่ปุ่นรุกจับคู่ธุรกิจไทย พลิกวิกฤติโควิดเป็นโอกาส มุ่งยกระดับ อุตสาหกรรมอาหารไทย มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งด้านการผลิต และนวัตกรรมใหม่ เพิ่มโอกาสส่งออก เตรียมจัดงาน “Tokyo-Thailand Food Business Matching 2020” ลุ้นจับคู่ธุรกิจกว่า 70 คู่

Tomoko Uchida ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายงานด้านกลยุทธ์ ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo SME Support Center) กล่าวว่า เอสเอ็มอี โตเกียว มีความต้องการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต จึงเลือกจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เราเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจัดงานจับคู่ธุรกิจในประเทศไทย เพื่อช่วยระดับกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ อุตสาหกรรมอาหารไทย “แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก แต่เอสเอ็มอียังคงขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมจะสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรมในการแปรรูปอาหาร ให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น” Uchida กล่าว
Tomoko Uchida ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายงานด้านกลยุทธ์ ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ความสำคัญ โดยมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท สูงกว่าญี่ปุ่นถึง 4 เท่าตัว ซึ่งนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไปสู่กระบวนการผลิตที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ญี่ปุ่นและไทยจะร่วมมือกันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยญี่ปุ่นมีความพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีนวัตกรรมใหม่สำหรับกระบวนการแปรรูปอาหาร ด้าน Masayuki Kimura ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo SME Support Center) กล่าวว่า Tokyo SME Support Center จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นที่ต้องการร่วมมือและขยายธุรกิจระหว่างสองประเทศ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มความร่วมมือทางธุรกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการจับคู่ธุรกิจสำเร็จกว่า 20 คู่ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านกระบวนการผลิต ธุรกิจไลฟ์สไตล์ และเฮลท์แคร์ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม สุขภาพ ขณะที่ธุรกิจไทยที่ขยายกิจการในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ล่าสุด Tokyo SME Support Center เตรียมจัดงาน Tokyo-Thailand Food Business Matching 2020 To resolve concerning issues of 10 Thai Companies by Japanese Innovation”  เป็นกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่าง “เอสเอ็มอีของไทย” กับ “เอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น” เพื่อจับคู่ธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละแห่ง โดยมี Tokyo SME Support Center ทำหน้าที่เป็นตัวกลางคัดสรรผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น มาเจรจาธุรกิจกับเอสเอ็มอีของไทยจำนวน 10 แห่ง ในวันอังคารที่ 17 - วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ชั้น 3 ห้องสุขุมวิท 7-11 ทั้งนี้ คาดว่าจะเกิดการเจรจาทางธุรกิจมากกว่า 70 คู่ค้า สำหรับธุรกิจไทยที่เข้าร่วมการจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ จำนวน 10 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท อินโนว่า ฟู้ด แอนด์ เบค จำกัด บริษัท ขนมไทยเก้าพี่น้อง จำกัด บริษัท มาลี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท พี.แสงอุดมเทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด ฟูดส์ อินดัสตรี้ จำกัด บริษัท เอเอ็มทีฟู้ด จำกัด บริษัท บุญทรี ฟู้ด จำกัด บริษัท โคฟี่ จำกัด บริษัท เค.แอล. อินเตอร์ ฟู้ด จำกัด และบริษัท ซิโน-ไทย ฟรีซแอนด์ดราย จำกัด ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีประมาณ 50 บริษัท ทั้งบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น และบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย Kimura กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมอาหาร ในปัจจุบันมีความหลากหลาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตสมัยใหม่ รวมถึงนวัตกรรมในการแปรรูปอาหารที่สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้ยาวนานขึ้น เช่น การควบคุมเชื้อแบคทีเรียในผลิตภัณฑ์ รักษารสสัมผัสของอาหาร บรรจุภัณฑ์แพ็คเดี่ยว ยืดอายุผลิตภัณฑ์ และอุณหภูมิที่สามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นต้องการขยายธุรกิจการให้บริการด้านต่างๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่มีการขยายพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ ที่ผ่านมา Tokyo SME Support Center ยังได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในทุกปี โดยมีการติดต่อสำรวจความต้องการจากผู้ประกอบการไทยอย่างละเอียดอยู่เสมอ ทั้งบริษัทและโรงงาน จำนวนกว่า 100 ครั้งต่อปี โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร อยู่ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ การติดตั้งเครื่องจักร , พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน และ การว่าจ้าง-รับจ้างผลิต OEM อ่านเพิ่มเติม: กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ประจำปี 2563

ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand