"เศรษฐีอเมริกัน" เข้าสู่ยุคร่ำรวยด้วย "ลำแข้ง" แล้ว - Forbes Thailand

"เศรษฐีอเมริกัน" เข้าสู่ยุคร่ำรวยด้วย "ลำแข้ง" แล้ว

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Oct 2014 | 12:49 PM
READ 3407
นับตั้งแต่ปี 1982 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดอันดับมหาเศรษฐีอเมริกัน Forbes 400  ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของการสั่งสมความมั่งคั่งในหมู่คนรวยของสหรัฐฯ ในแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มถอยห่างจากความร่ำรวยแบบ "คาบช่้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด" มาสู่ความร่ำรวยในแบบก่อร่างสร้างตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
การจัดทำทำเนียบ Forbes 400 ประจำปีนี้ มาพร้อมกับความพยายามที่จะอธิบายที่มาของความมั่งคั่งเป็นปีแรก โดย Forbes ได้เริ่มสร้างดัชนีชี้วัดตัวใหม่ที่เรียกว่า Self-made scores เพื่อบ่งชี้มหาเศรษฐีแต่ละรายด้วยระดับคะแนนตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 10  โดยระดับคะแนนที่ 1 จะเป็นผู้ร่ำรวยจากกองมรดก 100% โดยตัวเองไม่ได้มีส่วนสร้างความมั่งคั่งใดๆ เพิ่มเติม ในขณะที่ระดับ 10 จะเป็นอีกด้านที่ตรงกันข้าม นั่นคือ เป็นผู้ร่ำรวยด้วยตัวเองเพียงลำพัง 100% โดยไม่ได้มีต้นทุนใดๆ ในชีวิตเลย
 
ระดับคะแนนระหว่าง 1 ถึง 10 จะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปในแต่ละระดับ โดยรวมแล้วระดับคะแนน 1-5 จะมีฐานจากการสืบทอดมรดก ขณะที่ 6-10 จะมาจากการทำงานสร้างตัวเอง (อ่านรายละเอียดได้ในหมายเหตุ) และจากนี้ไป มหาเศรษฐีแต่ละรายใน Forbes 400 จะมีคะแนน Self-made score กำกับ เช่น Bill Gates มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ จะมีระดับ Self-made score อยู่ที่ 8  หมายความว่า เขาเป็นเศรษฐีที่สร้างความร่ำรวยด้วยตัวเอง โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ จากพื้นฐานชีวิตที่เป็นคนชั้นกลางหรือคนชั้นกลางระดับบน
 
ทั้งนี้ Forbes ได้ใช้ดัชนีดังกล่าว วิเคราะห์ข้อมูลมหาเศรษฐีใน Forbes 400 ย้อนหลังเป็นช่วง ช่วงละ 10 ปี ไปจนถึงปี 1984  จนทำให้พบความจริงที่ว่า มหาเศรษฐีอเมริกันผู้สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง จนเข้าสู่ทำเนียบ Forbes 400 มีแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่หากเทียบเคียงความมั่งคั่งในปีนี้กับปี 1984 จะเพิ่มถึง 1,075%  ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.1 แสนล้านเหรียญ ได้กลายเป็น 2.29 ล้านล้านเหรียญในปีนี้
 
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประจักษ์ชัดจากข้อมูลเชิงปริมาณ โดยปี 1984 ใน Forbes 400 มีมหาเศรษฐีถึงหนึ่งในสี่ที่ร่ำรวยจากการสืบทอดมรดกความร่ำรวยของครอบครัว โดยมิต้องออกแรงสร้างด้วยตนเองเลย หรือมีถึง 24.75% ที่อยู่ในระดับ 1s (ของ Self-made score)  ขณะที่มีเพียง 2.5% เท่านั้น ที่อยู่ในระดับ 10s (ของ Self-made score) ที่เป็นมหาเศรษฐีที่สร้างความร่ำรวยด้วยตนเอง โดยไม่ได้รับมรดกใดๆ 
 
มหาเศรษฐีใน Forbes 400 ที่จะถูกจัดอยู่ในระดับ 10 หรือร่ำรวยด้วยตัวเองเพียงลำพัง 100% นั้น จะต้องมีชีวิตที่ยากลำเค็ญพอตัว นับตั้งแต่เติบโตในครอบครัวที่ยากจน ไปจนถึงการเผชิญช่วงเวลาอันโหดร้ายของชีวิต ตัวอย่างเช่น Oprah Winfrey เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ George Soros ที่รอดชีวิตมาถึงสองครั้ง จากค่ายกักกันของนาซี และการยึดครองประเทศฮังการีโดยคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
 
เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ในปี 1984 มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ในทำเนียบ 57.25% คือผู้ร่ำรวยจากกองมรดก หรือผู้ต่อยอดความมั่งคั่งจากมรดกของตระกูลในรุ่นของตน (ระดับคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 5)  ในทางตรงกันข้าม มีส่วนน้อย 42.75% ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเองในระดับที่แตกต่างกัน (ระดับคะแนนตั้งแต่ 6 ถึง 10)
 

 

แนวโน้มนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงในปี 1994  ช่องว่างระหว่างจำนวนมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากมรดกและจากการสร้างตัวเองเริ่มบีบแคบลง โดยมหาเศรษฐีในระดับ 1s มี 17.75% ขณะที่ 10s มี 3%
 
เมื่อเข้าสู่ยุค 2000  สัดส่วนของคนรวยที่สร้างตัวเองเริ่มขยายเพิ่มมากขึ้น  ในปี 2004 มีเศรษฐีใน Forbes 400 ถึง 59% รวยด้วยตัวเอง ส่วนร่ำรวยจากมรดกเหลือ 41%  แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะผู้ที่อยู่สุดขั้ว (1s กับ 10s) จะพบว่าผู้ร่ำรวยจากกองมรดกโดยไม่ต้องขวนขวายหาเพิ่มเติม (1s) ยังคงมีถึงหนึ่งในสิบหรือ 40 คน ในขณะที่ผู้ที่ตั้งต้นจากศูนย์ แล้วปากกัดตีนถีบจนร่ำรวย (10s) มี 19 คน หรือ 4.75% เท่านั้น
 
แต่ในปีนี้เป็นปีแรกของ Forbes 400 ที่ได้เห็นคนที่ไม่มีอะไรเลย แต่ได้สร้างเนื้อสร้างตัวและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา สั่งสมความมั่งคั่งจนแซงหน้าผู้ร่ำรวยบนกองเงินกองทองของต้นตระกูล โดยมีมหาเศรษฐีถึง 34 รายอยู่ในระดับ 10s มากกว่าปี 1984 ถึงสามเท่า  ตรงกันข้ามกับผู้ร่ำรวยจากกองมรดกแต่อย่างเดียว (1s) ลดลงเหลือเพียง 7% หรือ 28 คนเท่านั้น นับว่าน้อยมากหากเทียบกับปี 1984 ที่มีถึง 99 คน
 
แม้ว่าดัชนี Self-made ที่สร้างขึ้น อาจจะยังไม่สามารถบอกอะไรได้มากนัก แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ชีวิตของผู้ก่อร่างสร้างตัวแต่ละรายนั้น มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เขาต้องทำงานและต่อสู้ชีวิตอย่างหนัก กว่าจะก้าวมาเป็นหนึ่งใน Forbes 400
 
และเป็นที่ทราบกันดีว่า คนรวยในลำดับต้นๆ มีบทบาทสำคัญต่อสถานะของประชาชาติ มากกว่าคนในระดับล่างๆ แนวโน้มการสั่งสมความมั่งคั่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง ณ เวลานี้ กำลังสะท้อนให้เห็นความจริงของการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมของคนในสหรัฐฯ อย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย

 
 
หมายเหตุ: คำอธิบายระดับคะแนน 1 ถึง 10 ของดัชนี Self-made scores
 
1: ร่ำรวยจากการรับมรดก โดยไม่ได้ใช้ความพยายามอื่นใดเพิ่มเติม เช่น Laurene Powell Jobs
 
2: ร่ำรวยจากการรับมรดก โดยตัวเองมีบทบาทเข้าไปบริหารจัดการ เช่น Forrest Mars Jr.
 
3: ร่ำรวยจากการรับมรดก โดยมีส่วนช่วยให้งอกเงยขึ้น เช่น  Penny Pritzker
 
4: ร่ำรวยจากการรับมรดก โดยมีส่วนช่วยให้มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น Henry Ross Perot Jr.
 
5: ร่ำรวยจากการรับมรดกทางธุรกิจเพิ่งบางส่วนเท่านั้น และสามารถสร้างตัวเลขความเติบโตได้ 10 หลัก เช่น Donald Trump
 
6: ได้รับการว่างจ้างหรือรับช่่วงต่อจากผู้อื่น โดยไม่ได้สร้างธุรกิจด้วยตนเอง เช่น Meg Whitman
 
7: สร้างความร่ำรวยด้วยตัวเอง  โดยตั้งต้นจากพ่อแม่ที่ร่ำรวย หรือมีทรัพย์สมบัติอยู่บ้างแล้ว เช่น Rupert Murdoch
 
8: สร้างความร่ำรวยด้วยตัวเอง โดยมีปูมหลังเป็นคนชั้นกลางหรือคนชั้นกลางระดับบน เช่น Mark Zuckerberg
 
9: สร้างความร่ำรวยด้วยตัวเอง โดยมีปูมหลังจากชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เช่น Eddie Lampert
 
10: สร้างความร่ำรวยด้วยตัวเอง จากชีวิตที่ยากจน และมีอุปสรรคชีวิตอันแสนโหดร้าย เช่น Oprah Winfrey