เศรษฐกิจไทยยังซึม รับมือเงินบาทอ่อน - Forbes Thailand

เศรษฐกิจไทยยังซึม รับมือเงินบาทอ่อน

เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยมีการบริโภคในประเทศและการส่งออกที่ยังไม่ขยับขยายเป็นตัวฉุดรั้ง ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียนและจีน โดยศักยภาพอ่อนด้อยในการผลิตสินค้าไฮเทคและการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภคต่างเป็นปัจจัยกีดขวางการเติบโตด้านส่งออกเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน
 
"เราจึงมองว่าการส่งออกของไทยอาจไม่สามารถขยายตัวได้เลยในปีนี้" คาดการณ์โดย กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนแห่งธนาคารกสิกรไทย ที่ให้ความเห็นอีกว่าการส่งออกของไทยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ยเพียง 1.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากการส่งออกจะขยายตัวได้ในปีนี้ต้องอยู่ที่เฉลี่ย 2.25 หมื่นล้านเหรียญ 
 
แม้การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงผลักสำคัญในหลายวัฏจักรที่ผ่านมา แต่ตัวแทนจากธนาคารกสิกรไทยมองว่าทั้งสองปัจจัยยังไม่แกร่งพอจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในครั้งนี้ ด้วยกำลังซื้อที่เบาบางและเม็ดเงินอัดฉีดจากโครงการภาครัฐที่ไม่พุ่งดังเดิม

 
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ของไทยและตัวเลขเศรษฐกิจ ที่อ่อนแอ ตามที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยระบุว่า ขยายตัวเพียง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

จนน่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี  2558 ในวันที่ 19 มิย.ที่จะถึงนี้ จาก 3.8% ลงมาใกล้กับ 2.8% ดังที่ใกล้ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ไว้

พร้อมกับมองว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.05% ตลอดปีนี้ หลังลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดต่อกันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จนมีส่วนต่างดอกเบี้ยไทยเทียบกับสหรัฐที่แคบลง (ปัจจุบันเฟดอยู่ที่ 0.25%) 
 
ทั้งนี้ย่อมส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงรวดเร็วถึง 4.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้า นอกจากนี้การเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแทรกแซงค่าเงินจะส่งผลถึงเศรษฐกิจจริงได้รวดเร็ว และเป็นวงกว้างกว่า ด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยสูงกว่าตลาดสินเชื่อถึง 17 เท่า
 
โดยธนาคารกสิกรไทยคาดว่าค่าเงินบาทในไตรมาสสี่ปี 2558 จะอยู่ที่ 34.25 บาท/เหรียญสหรัฐ และ อ่อนลงถึง 34.75 บาท/เหรียญสหรัฐช่วงปลายปี 2559 ขณะที่เห็นสัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติ 

โดยสังเกตได้จากปัจจัยที่เป็นพระเอกอย่างตัวเลขอัตราเติบโตค่าจ้างแรงงานที่ขยายขึ้นในแทบทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น สาธารณูปโภค, การท่องเที่ยวและโรงแรม, สถาบันการเงิน เป็นต้น ยกเว้นธุรกิจขนส่งที่ยังโตติดลบ ซึ่งเป็นผลจากภาวะต้นทุนราคาน้ำมัน "เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยภายในเดือนกันยายนนี้" ศิลปชัย ให้มุมมอง