“เยน” อ่อน กระเทือนส่งออกอาหารทะเลไทย - Forbes Thailand

“เยน” อ่อน กระเทือนส่งออกอาหารทะเลไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Nov 2014 | 09:43 AM
READ 3142
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกระทบค่าเงินเยน อ่อนตัวอย่างหนัก อาหารทะเลส่งออกโดนหนัก ควรหาตลาดอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนยานยนตร์รับประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าต่ำลง ขณะที่อุตสาหกรรมโลหะรับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิต

 
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ “การอ่อนตัวของค่าเงินเยน”  ว่า จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการผ่อนคลายทางการคลังและการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2012 โดยเฉพาะการประกาศมาตรการ Quantitative and Qualitative Easing (QQE)  ตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยขณะนี้ค่าเงินเยนลดลงมาอยู่ที่ 115 เยนต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงถึง 40% นับจากปี 2012 และ 12% นับจากเดือนสิงหาคมปีนี้  โดยอัตราเงินเยนต่อเงินบาท ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 เยนต่อ 1 บาท
 
ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าเงินเยนมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่มีนัยยะสำคัญมากนัก นอกเสียจากว่าจะมีมาตรการอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของตลาด มาเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนอีกครั้ง
 
การอ่อนตัวดังกล่าวกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทย เพราะญี่ปุ่นเป็นปลายทางการส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศ  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสี่ยงมากที่สุดจากการอ่อนตัวของค่าเงินเยน เนื่องด้วยปัจจัยสามประการ  หนึ่ง) มีอัตรากำไรส่วนเกินต่ำ ทำให้ไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าได้มากนัก หากต้องการรักษาปริมาณการส่งออกโดยรวม  สอง) สินค้ามีความอ่อนไหวต่อราคาในระดับสูง ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการลดลงของการส่งออก หากปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น (เนื่องจากมีความสัมพันธ์ของค่าเงินบาทและค่าเงินเยนสูง)  และสาม) พึ่งพารายได้จากการส่งออกไปญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ทำให้ค่าเงินเยนมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ
 
อาหารทะเลกระป๋องและอาหารทะเลแปรรูปของไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่นเป็นอันดับ 4 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2013 มีมูลค่ารวม 780 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของบริษัทอาหารทะเลหลายๆ บริษัท มีสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกโดยรวม การอ่อนตัวของค่าเงินเยนจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อธุรกิจอาหารทะเล โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นค่อนข้างสูง จึงควรต้องกระจายฐานการส่งออก เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดญี่ปุ่น
 


 

ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยน โฟรสเซ่น โปรดักส์ หรือ TUF บริษัทผลิตทูน่ากระป๋องรายใหญ่ ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่จากตัวเลขรายได้ล่าสุด พบสัดส่วนรายได้ในปี 2013 มาจากสหรัฐฯ ถึง 41% จากยุโรป 30% ส่วนญี่ปุ่นเป็นอันดับสามเพียง 7%  ธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอ  TUF เคยเผยว่า บริษัทมีการกระจายการผลิตไปยังต่างประเทศในสี่ทวีป ได้แก่ เอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาเหนือ ด้วยการซื้อกิจการแบรนด์ชั้นนำ รวมทั้งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนทางธุรกิจ
 
ขณะที่ศูนย์วิจัยฯ ระบุอีกว่า ภาคธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นรวม 2 พันล้านเหรียญ อาจได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีกำไรส่วนเกินสูง ทำให้ปรับลดราคาสินค้าได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมเนื้อไก่ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีกำไรส่วนเกินสูง และพึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างต่ำ
 
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการอ่อนตัวของค่าเงินเยนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากวัตถุดิบที่นำทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ 49% และแผ่นเหล็กรีดแบน  46%  จากญี่ปุ่นจะมีราคาถูกลง ทำให้ต้นทุนต่ำลงด้วย โดยมูลค่าส่วนต่างของต้นทุนที่ลดลงนั้น สูงกว่ามูลค่าส่วนต่างของรายได้จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่คาดว่าจะลดลงเนื่องจากราคาที่สูงขึ้น อีกทั้งกำลังผลิตยานยนต์ของไทยนั้นรองรับตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ส่งออกเพียง  46% ของการผลิต และเป็นการส่งออกไปญี่ปุ่นเพียง 1% เท่านั้น
 
ไทยจะยังได้ประโยชน์จากญี่ปุ่นในรูปของการลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มาลงทุนโดยตรงในไทยมากที่สุด คิดเป็น 52% ของการลงทุนทั้งหมดในปี 2013 ซึ่งเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และโลหะเสียส่วนใหญ่ การอ่อนตัวของค่าเงินเยนทำให้ต้นทุนการผลิตในญี่ปุ่นสูงขึ้น ส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ไทยพลอยได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย 
 
ภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากกระแสการลงทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมโลหะ และอุตสาหกรรมงานขึ้นรูปความเที่ยงตรงสูง เห็นได้จากแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ นิคมอุตสาหกรรม บริษัทผู้ให้บริการโกดังสินค้าและบริการระบบการจัดการขนส่งสินค้า ควรเริ่มเน้นหาลูกค้าที่เป็นบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมโลหะที่ได้รับประโยชน์โดยตรง