เมื่อ Tesla กับ Vespa มาเจอกัน - Forbes Thailand

เมื่อ Tesla กับ Vespa มาเจอกัน

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Aug 2015 | 12:17 PM
READ 4411
เรื่อง: AARON TILLEY เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม

Horace Luke ต้องการเป็นคนแรกในไต้หวันที่ได้ครอบครองรถ Tesla Model S สุดยอดรถซีดานไฟฟ้าที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2012 Luke เป็นอดีตหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมของ HTC ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน เขาเป็นผู้ที่ลุ่มหลงในความสวยงามและฟังก์ชั่นของทุกสิ่ง แต่รถ Tesla ที่รักยิ่งของเขาไม่มีขายในไต้หวัน (และยังคงไม่มีในปัจจุบัน) เขาคิดจะสั่งเข้ามาแต่ถูกแฟนพูดจนล้มเลิกความคิด ด้วยความที่บ้านของเขาไม่มีโรงรถสำหรับชาร์จไฟ เขาคงต้องจอดไว้ที่ออฟฟิศและคงไม่ได้เอามาขับในช่วงสุดสัปดาห์
 
รถ Tesla และรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ อาจกำลังได้รับความนิยมในสหรัฐฯ ที่ซึ่งโรงรถขนาดใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน แต่เมืองที่กำลังขยายใหญ่ในเอเชียดูจะไม่เป็นมิตรกับความเปลี่ยนแปลงสู่รถยนต์พลังงานสะอาดสักเท่าไหร่ เพราะราคา “คุณจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ยังไงสำหรับคน 99%” Luke ตั้งคำถาม ชายร่างสันทัดวัย 44 ปี ผู้มาพร้อมผมทรงสกินเฮดและแว่นตากรอบดำ และมีเสียงหัวเราะให้ได้ยินอยู่ตลอด กล่าวต่อว่า “เราต้องมีผลิตภัณฑ์สำหรับพวกเขาเหล่านั้น”
 
นั่นเป็นแผนการของ Luke และ Matt Taylor อดีตเพื่อนร่วมงานของเขาที่ HTC เมื่อสี่ปีก่อน พวกเขาทิ้งโลกของบริษัทยักษ์ใหญ่และเปิดบริษัทเล็กๆ ชื่อ Gogoro ซึ่งใช้งานดีไซน์ เทคโนโลยี และประสบการณ์ทางการตลาด ซึ่งฝึกปรือมาจากทั้ง Nike และ Microsoft เพื่อผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีชื่อเรียกว่า Smartscooter จักรยานยนต์ไฟฟ้าของ Gogoro ซึ่งจะเปิดตัวที่ไต้หวันในฤดูร้อนปีนี้ เป็นผลิตผลของการจับคู่จักรยานยนต์ Vespa กับ iPhone มอเตอร์ไฟฟ้าเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด 125 cc. ทำให้เจ้าจักรยานยนต์คันนี้เร่งเครื่องได้ถึง 30 ไมล์ต่อชั่วโมงในเวลา 4.2 วินาที และสูงสุดที่ 60 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงลมอื้ออึงเมื่ออากาศเคลื่อนผ่าน คุณสามารถเปิดท้ายรถ ติดเครื่อง และเลือกจัดไฟหน้าได้ 129,600 แบบ ตลอดจนเสียงแตรที่ต้องการผ่านระบบบลูทูธจากแอ็พพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน Gogoro ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องราคา แต่ Luke บอกว่าจะอยู่ในราว 2,000-3,000 เหรียญสหรัฐเช่นเดียวกับจักรยานยนต์ Honda และ Yamaha ที่วิ่งกันดาษดื่นในเอเชีย
 
ด้วยฟังก์ชั่นพิเศษหลายอย่าง ทำให้เป็นไปได้ว่าจักรยานยนต์ของ Gogoro จะแพงกว่าทั่วไปเล็กน้อย แต่ Luke ทำให้สินค้าของเขามีราคาที่ซื้อหาได้ด้วยการใช้โมเดลธุรกิจที่มีลูกเล่นอย่างชาญฉลาด ผู้ขับขี่จะไม่ได้เป็นเจ้าของแบตเตอรี่ แต่พวกเขาจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่มากนักในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ถอดได้เมื่อถึงเวลา ที่เครือข่ายสถานีชาร์จไฟของ Gogoro แบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ราคาแพงในยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า Luke วางแผนที่จะผลิตจักรยานยนต์ที่ราคาถูกกว่านี้ วิธีหนึ่งที่เป็นไปได้คือขอเงินอุดหนุนด้านสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลไต้หวัน
 
แม้รูปแบบธุรกิจยานพาหนะ เคยผ่านการทดลองมาแล้วและล้มเหลวไม่เป็นท่า สูญเงินเกือบพันล้านเหรียญจากความพยายามในการก่อตั้งเครือข่ายตู้แบตเตอรี่หยอดเหรียญอัตโนมัติ  Luke ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Better Place อย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแบบนั้น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ GoStation ของเขา
 
“ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีอนาคตสดใส” Mao Chi-kuo นายกรัฐมนตรีไต้หวันกล่าว “ไม่เพียงแต่มันจะช่วยแก้ปัญหาด้านคมนาคมขนส่งในไต้หวัน ผมคิดว่ามันจะยังสามารถเจาะตลาดอื่นๆ ได้ด้วย”

ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Smartscooter ของ Gogoro ซึ่งดีไซน์เรียบง่ายมีสไตล์ ถูกนำไปเปรียบเทียบในเชิงบวกกับผลิตภัณฑ์ของ Apple ซึ่ง Luke ในคราบนักออกแบบอุตสาหกรรมมีความเห็นสอดคล้อง “สมัยก่อน อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์จำเป็นต้องมีปุ่มมากมายเพราะซอฟแวร์ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร แต่โลกของการออกแบบทุกวันนี้ต้องพึ่งพาซอฟแวร์” เขาให้ความเห็น “โลกถูกชี้นำด้วยซอฟแวร์มากขึ้น ทำให้อะไรๆ เรียบง่ายขึ้น” การขนส่งสะอาดก็อาจเริ่มต้นได้ด้วยการกดปุ่มเช่นกัน

อ่านฉบับเต็ม "เมื่อ Tesla กับ Vespa มาเจอกัน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2015