เมื่อ Jakarta ไม่ใช่เมืองเดียวที่กำลังจะจม - Forbes Thailand

เมื่อ Jakarta ไม่ใช่เมืองเดียวที่กำลังจะจม

หลังประธานาธิบดี Joko Widodo แห่งอินโดนีเซีย ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า อินโดนีเซียกำลังเตรียมย้ายเมืองหลวงจาก Jakarta ที่ตั้งอยู่บนเกาะชวา ไปยังพื้นที่บนเกาะบอร์เนียวแทน จากความกังวลเรื่องความแออัดของเมือง และการที่ Jakarta กำลังจมสู่ทะเลชวาอย่างรวดเร็ว

โดย World Economic Forum รายงานว่า Jakarta เป็นหนึ่งในเมืองที่กำลังจมอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการดึงน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป

แต่เมืองที่กำลังจะกลายเป็นอดีตเมืองหลวงของอินโดนีเซียแห่งนี้ไม่ใช่เมืองเดียวที่ประสบปัญหาดังกล่าว ลองไปดูเมืองเหล่านี้ที่กำลังประสบความเสี่ยงเดียวกับ Jakarta กัน

 

Houston

Houston คล้ายกับ Jakarta ตรงที่แผ่นดินของเมืองนี้เริ่มจมน้ำมาหลายทศวรรษแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการดึงน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป

โดย Houston Chronicle รายงานอ้างข้อมูลผลสำรวจของ US Geological Survey ระบุว่า หลายพื้นที่ใน Harris County ซึ่งรวมถึง Houston ด้วยนั้น จมลงระหว่าง 10-12 ฟุต (ราว 3 เมตร) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยพื้นที่ดังกล่าวจมลงอย่างต่อเนื่องสูงสุด 2 นิ้ว/ปี ซึ่งเป็นจำนวนที่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการสร้างเขตพิเศษที่จะมีการควบคุมการดึงน้ำบาดาลมาใช้ในปี 1975 แต่ก็พบปัญหาคือเอกชนยืนกรานในการเป็นเจ้าของบ่อ และซัพพลายเออร์น้ำก็ยังดึงน้ำออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง

 

Lagos

Photo Credit : AFP

เมือง Lagos ตั้งอยู่บนชายฝั่งของไนจีเรีย ซึ่งมีการก่อสร้างเมืองทั้งบริเวณพื้นที่แผ่นดินใหญ่และเกาะ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา

ทั้งนี้ ภูมิศาสตร์ของ Lagos ทำให้มันเป็นเมืองที่มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมและชายฝั่งถูกกัดเซาะอยู่แล้ว ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากสาเหตุภาวะโลกร้อนจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการจมของเมืองนี้ด้วย

การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2012 เผยให้เห็นว่า เนื่องจากชายฝั่งของไนจีเรียต่ำมาก ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพียง 3-9 ฟุต (ราว 1-3 เมตร) จะส่งผลร้ายต่อกิจกรรมของมนุษย์ในภูมิภาคเหล่านี้

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นในปีนี้พบว่าภายในศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลของโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 6 ฟุต (2 เมตร)

 

New Orleans

ในช่วงทศวรรษที่ 1930 พื้นที่หนึ่งในสามของ New Orleans ก็อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้ว และเมื่อพายุแคทรินาเข้าถล่ม New Orleans ในปี 2005 พื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลก็เพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่ง

เมืองนี้มีความเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพราะมันถูกสร้างขึ้นบนแผ่นดินที่การเกาะตัวของดินค่อนข้างหลวม และอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับชายฝั่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนพบว่าเมืองนี้จมลงในอัตรา 0.39 นิ้ว/ปี (1 เซนติเมตร/ปี)

 

Beijing

งานวิจัยในปี 2016 แสดงให้เห็นว่า บางพื้นที่ของ Beijing กำลังจมลงในอัตราที่สูงถึง 4 นิ้ว/ปี (10 เซนติเมตร/ปี)

ทั้งนี้ นักวิจัยหลายคนระบุว่า สาเหตุที่เมืองนี้กำลังจมนั้นมาจากการดึงน้ำบาดาลออกมาใช้ ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับ Jakarta และ Houston

โดย Beijing ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่ได้อยู่ในแนวชายฝั่ง อาศัยน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำหลักของเมือง ดังนั้น การดึงน้ำที่สะสมมาหลายปีออกไปใช้เป็นจำนวนมากจึงนำไปสู่การจมของเมืองนั่นเอง

 

Washington

Washington เป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกา และมันกำลังจมด้วย

โดยงานวิจัยในปี 2015 แสดงให้เห็นว่าเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจจะจมลงมากกว่า 6 นิ้ว (15 เซนติเมตร) ในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ต่างจาก Jakarta ตรงที่การจมของ Washington ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำบาดาลหรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่มาจากแผ่นน้ำแข็งในยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย

โดยแผ่นน้ำแข็งที่สูงเป็นไมล์นั้นดันดินแดนใต้อ่าว Chesapeake ให้สูงขึ้น และเมื่อแผ่นน้ำแข็งละลาย แผ่นดินนั้นก็จะตกลงมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวกำลังค่อยๆ จมลงจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กินเวลาหลายพันปี และตอนนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการละลายแล้ว

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำทะเลที่อ่าว Chesapeake ก็กำลังเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เมืองนี้กำลังจม

  ที่มา   แปลและเรียบเรียงโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine