เมื่อเมฆหมอกวิกฤตมาเยือน AirAsia และ Fernandes - Forbes Thailand

เมื่อเมฆหมอกวิกฤตมาเยือน AirAsia และ Fernandes

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Dec 2014 | 09:16 AM
READ 3425
"ผมเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เดินทางบน QZ8501 นี่คือฝันร้ายที่สุดของ AirAsia" 
 
Tony Fernandes ร่วมแถลงข่าวกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Joko Widodo ในค่ำวันที่ 30 ธันวาคม หลังยืนยันแล้วว่าเครื่องบินของ AirAsia Indonesia  ตกในทะเลชวา
 


หลังจาก Airbus 320-200 เที่ยวบิน  QZ8501 ของ  AirAsia Indonesia  พาผู้โดยสาร 162 คน ขึ้นจาก Surabaya ในอินโดนีเซียมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ ขาดหายจากการติดต่อศูนย์ควบคุมการบิน ในเช้าวันอาทิตย์ 28 ธันวาคม หลังกัปตันขอเพิ่มระดับความสูงเพื่อเลี่ยงกลุ่มเมฆ ขณะกำลังเผชิญสภาพอากาศอันเลวร้าย
 
 
แม้ว่าเครื่องบินลำที่สูญหายจะเป็นอากาศยานสัญชาติอินโดนีเซียก็ตาม แต่ชื่อของ Tony Fernandes มหาเศรษฐีอันดับ 28 ของประเทศมาเลเซีย กลับมาเป็นที่จับจ้องของสาธารณะอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเทศบ้านเกิดของเขาเอง เนื่องจาก AirAsia Berhad ถือหุ้น AirAsia Indonesia รวม 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% เป็นของนักลงทุนอินโดนีเซีย
 
"มองโลกในแง่ดีไว้ และเข้มแข็งต่อไป" ทวิตของเขาช่วงเที่ยงวันจันทร์ 29 ธันวาคม ท่ามกลางความหวังอันแสนริบหรี่ หลังเครื่องบินสูญหายนานเกิน 24 ชั่วโมง 
 
หายนะครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดของ AirAsia ในรอบ 13 ปี ที่เขาเข้ามาบริหารงานสายการบินต้นทุนต่ำแห่งนี้ หลังซื้อกิจการจากรัฐบาลมาเลเซียมาพร้อมกับหนี้สินก้อนโต แต่ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่น  Fernandes สามารถบุกเบิกให้สายการบินราคาประหยัดที่ใครต่อใครเคยสบประมาท เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งจนทาบรัศมีธุรกิจสายการบินในแบบดั้งเดิม พร้อมกับประวัติที่ดีด้านความปลอดภัยทางการบิน เมื่อเทียบกับสายการบินท้องถิ่นรายอื่นๆ ของอินโดนีเซีย ซึ่งเคยถูกสหภาพยุโรปสั่งห้ามบินเข้าประเทศสมาชิกมาแล้ว  ปัจจุบัน AirAsia มีบริษัทในเครืออยู่ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ได้แก่ ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
 
ล่าสุดได้ AirAsia เริ่มเปิด AirAsia X สายการบินต้นทุนต่ำที่บินในระยะไกล ใช้เวลาบินระหว่าง 4-10 ชั่วโมง โดยจะประหยัดกว่าการเดินทางด้วยสายการบินปกติ 20-30%


Forbes Thailand ฉบับตุลาคม 2013 เรื่องปก "Thai AirAsia ใหญ่ไม่กลัวใคร" รายงานความสำเร็จของ Fernandes ไว้ว่า

 
"จุดกำเนิดของ AirAsia เริ่มในปี 1993 เมื่อหน่วยงาน DRB-Hicom ของรัฐบาลมาเลเซีย ต้องการทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และศึกษาลู่ทางการสร้างธุรกิจ กระทั่งสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 1996 แต่ต้องประสบกับสภาวะขาดทุนต่อเนื่องอย่างหนัก เพราะในช่วงนั้นสายการบินต้นทุนต่ำยังไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า
 
แต่ในเดือนตุลาคมปี 2001 Tony Fernandes นักธุรกิจชาวมาเลเซียวัย 37 มีโอกาสเข้าพบ Dr. Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น Mahathir แนะนำให้ Fernandes ซื้อกิจการสายการบิน AirAsia ที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มบริษัท Tune Air ของ Fernandes ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการดังกล่าวที่มีเครื่องบิน Boeing 737-300 เพียง 2 ลำ พร้อมมูลค่าหนี้อีก 11 ล้านเหรียญ
 
ให้หลังเพียงปีเดียว AirAsia ภายใต้การนำของ Fernandes ก็สามารถบริหารจัดการหนี้ได้หมด และสร้าง AirAsia ให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำครองใจนักท่องเที่ยวด้วยตั๋วราคาประหยัด สอดคล้องกับสโลแกนของสายการบินที่ว่า Now everyone can fly
 
ปัจจัยที่ทำให้ AirAsia ประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้น Fernandes วิเคราะห์ไว้ว่า ส่วนหนื่งเกิดจากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ที่ทำให้สายการบินทั่วโลกกำไรลดลง และเลิกจ้างพนักงานในส่วนต่างๆ ทำให้ AirAsia สามารถจ้างพนักงานที่มีทักษะและประสบการณ์จากสายการบินอื่นได้ทันที ในต้นทุนที่ต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินที่ราคาตั๋วไม่สูงเกินไปนัก ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
 
ปัจจุบัน AirAsia มีกว่า 140 เส้นทางบินในเกือบ 80 จุดหมายปลายทาง ในทวีปเอเชียและประเทศออสเตรเลีย"

ด้วยความโดดเด่นในการพลิกฟื้นคืนชีพ AirAsia ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงการบิน  Forbes Asia จึงยกย่องให้ Tony Fernandes เป็นนักธุรกิจแห่งปี 2010 
 

ในอดีต Fernandes คือผู้บริหารค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ Warner Music ดำรงตำแหน่งรองประธาน Warner Music Group ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี 1992 ถึง 2001 ชีวิตเขาถึงจุดหักเหสำคัญ เมื่อ Time Warner Inc. ประกาศควบรวมกิจการกับ America Online Inc.  ทำให้เขาตัดสินใจลาออก เพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจในฝันของตน นั่นคือสายการบินราคาประหยัด 
 
ในเดือนกันยายน 2001 Fernandes ซื้อกิจการ AirAsia ที่เวลานั้นขาดทุนอย่างหนักจากรัฐบาลมาเลเซีย พร้อมกับนั่งเก้าอี้ CEO  นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของเชนโรงแรม Tune Hotels และยังเป็นประธานสโมสรฟุตบอล Queens Park Rangers แห่งเกาะอังกฤษ 
 
ล่าสุดเขารุกคืบสู่ธุรกิจประกันภัย ภายในแบรนด์ Tune ซึ่ง Fernandes กล่าวกับ Forbes Thailand ในฉบับพฤศจิกายน 2014 ว่า ธุรกิจประกันนั้นเป็นผลพลอยได้จากธุรกิจสายการบิน AirAsia และไทยเป็นประเทศแรกที่จะขยายฐานจากบ้านเกิด โดยต้องการสร้างให้เป็นธุรกิจบริการที่น่าตื่นเต้น สนุกสนาน เข้าใจง่ายและเข้าถึงง่าน  ทั้งนี้ TIH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้เข้าซื้อหุ้น 49% ของบริษัทโอสถสภาประกันภัย จำกัด ของครอบครัวโอสถานุเคราะห์และกลุ่มโอสถสภา ซึ่งลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 26% ขณะที่เหลืออีก 25% เป็นของทอม เครือโสภณ CEO บมจ.ทูนประกันภัย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททูนประกันภัย จำกัด (มหาชน)