เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกันสู่อาเซียนที่เข้มแข็ง - Forbes Thailand

เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกันสู่อาเซียนที่เข้มแข็ง

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Apr 2018 | 08:20 PM
READ 4216

จากวันแรกที่ประชาคมอาเซียนเริ่มก่อร่างสร้างตัวในปี 1967 ท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองในบริบทของสงครามเย็น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้อาเซียนสามารถเดินหน้าสร้างประชาคมได้อย่างแข็งแกร่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

โอกาสที่จะเสริมสร้างความร่วมมือของประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่งมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นคือค่านิยมและแนวปฏิบัติร่วมกันของอาเซียนในด้านต่างๆ เวลานี้ หลายฝ่ายเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการบูรณาการอาเซียน ที่เน้นหลักการไม่แทรกแซงและลงมติเป็นเอกฉันท์ตั้งแต่ก่อตั้ง

เห็นได้ชัดว่าประชาคมอาเซียนมีพัฒนาการก้าวกระโดดซึ่งแปลงสภาพจากความเคลือบแคลงของหลายๆ สู่การเป็นประชาคมตัวอย่าง เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ภูมิภาคนี้ ประชาคมอาเซียนจึงจำเป็นเหลือเกินที่ต้องมุ่งมั่นพร้อมๆ ไปกับเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเจตนารมณ์เดิม

 

ยิ่งรวม ยิ่งรอด

อาเซียนเป็นภูมิภาคแห่งความแตกต่างหลากหลาย ทั้งภาษาวัฒนธรรม ระบอบการเมืองการปกครอง แต่เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว อาเซียนคือตลาดที่มีศักยภาพล้นเหลือ

 

ไร้รอยต่อ 

 เส้นทางสายไหม (Photo Credit: Web On China / sirijournal.org)

ในทางภูมิศาสตร์ อาเซียนเชื่อมกับตลาดหลักๆ เช่น จีน และอินเดีย ทั้งนี้บทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางการผลิตและขนส่งของโลกยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเมื่อมีการริเริ่มโครงการเส้นทางสายไหมของจีน (China’s Belt & Road Initiative) และความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมไปถึงเศรษฐกิจเกิดใหม่แนวลุ่มน้ำโขง

 

ตลาดใหญ่พร้อมกำลังซื้อจากคลื่นรุ่นใหม่

ด้วยจำนวนประชากรอาเซียนราว 640 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินเดีย เยาวชนที่มีกำลังขับเคลื่อนและกล้าได้กล้าเสียจะสนับสนุนฐานแรงงานและฐานผู้บริโภคในอาเซียนในช่วงหลายปีข้างหน้า

จำนวนครัวเรือนชนชั้นกลางในอาเซียนคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่า (ประมาณการจากปี พ.ศ.2556) เป็น 163 ล้านคนในปี พ.ศ.2573 ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันไม่เพียงแต่ความต้องการภายในประเทศ แต่หมายถึงการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค

 อาเซียนมีประชากร 640 ล้านคน เป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก

ผ่านร้อนผ่านหนาว พาแข็งแกร่ง

เศรษฐกิจอาเซียนเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกและคาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ 4 ในปี พ.ศ.2573 รองจากสหรัฐฯ จีนและอินเดีย การค้าระหว่างภูมิภาคเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และการค้าของอาเซียนช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าการรวมกลุ่มภายในอาเซียนยังคงแข็งแกร่ง โดยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้ง ภูมิภาคนี้มีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ การขยายตัวของเมืองจะกระตุ้นให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งคาดว่าจะเกินกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่อาเซียนเพิ่มขึ้น 2.6 เท่าในช่วง 6 ปี (จากปี พ.ศ.2552-2558) เป็น 1.26 แสนล้านเหรียญ

 

อยู่กับดิจิทัลอย่างเท่าทัน 

เทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนคำจำกัดความของโลกไร้พรมแดน ในขณะที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพในการกำหนดความได้เปรียบทางการแข่งขัน

เราต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจ การเตรียมพร้อมและการพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันอนาคตเช่นกัน อาทิ การใช้นโยบายและการริเริ่มที่ภาครัฐและเอกชนเป็นผู้นำในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การยกระดับทักษะอาชีพ

ทั้งนี้ แผนแม่บทด้านการเชื่อมต่ออาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint 2025) ซึ่งเริ่มใช้แล้วเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ.2559 จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพผ่านการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์นวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนกฎระเบียบและการเคลื่อนย้ายของประชาชน

จากเจตนามุ่งสู่การปฏิบัติ จงตีเหล็กเมื่อยังร้อน น่าจะเป็นสุภาษิตที่เหมาะกับภาวะในตอนนี้ของอาเซียน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประชาคมต้นแบบ ซึ่งทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมอาเซียนให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนร่วมกัน

ข้อมูลจากหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Advisory Unit) ธนาคารยูโอบี ระบุว่าในปี พ.ศ.2559 อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และสิงคโปร์ เป็นกลุ่มประเทศลำดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่องค์กรธุรกิจต่างๆ เล็งเห็นโอกาสในการลงทุน ซึ่งองค์กรธุรกิจที่ขยายการลงทุนภายในภูมิภาคนี้ ส่วนมากมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค การผลิตและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจก่อสร้าง 

อัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว และโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เป็นแรงผลักดันให้องค์กรต่างประเทศเห็นโอกาสการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน (Photo Credit: Bangkok Post)

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดที่มีศักยภาพในการลงทุนใหม่ๆ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว มีโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นมากมาย ประชากรมีรายได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรวมตัวกันของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงทำให้ภูมิภาคนี้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทต่างๆ จากทั่วโลก

ทั้งนี้ จากตัวเลขประมาณการของธนาคารยูโอบี มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านล้านเหรียญ เป็น 8.1 ล้านล้านเหรียญในปี พ.ศ.2573 ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีความยิ่งใหญ่เชิงเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก

 

มุ่งสู่อนาคตร่วมกัน

ในช่วงเวลาเช่นนี้ เพื่อตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของเรา ประชาคมอาเซียนต้องได้รับความร่วมมือการประสานงานและความมุ่งมั่นมากขึ้น ดังที่ขงจื้อกล่าวว่า “君子和而不同” - สุภาพบุรุษแสวงหาความสามัคคีแม้จะมีความแตกต่างและความหลากหลาย

 
Tan Choon Hin กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)