เผยงบการเงิน Starbucks และแผนธุรกิจของ Howard Schultz - Forbes Thailand

เผยงบการเงิน Starbucks และแผนธุรกิจของ Howard Schultz

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Sep 2022 | 02:25 PM
READ 3158

Howard Schultz ซีอีโอของ Starbucks เผยแผนธุรกิจเพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสัดส่วนกำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15-20 ภายในระยะเวลาสามปีข้างหน้า ตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่เป็นมากกว่าแฟรนไชส์ร้านกาแฟชื่อดัง

ภายใต้การบริหารของ Howard Schultz ซีอีโอคนปัจจุบัน แบรนด์กาแฟ Starbucks ได้กลายเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและเป็นเป้าหมายสำหรับนักลงทุนหลายคนในการลงทุนระยะยาว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ Schultz ได้ประกาศจะวางมือจากการบริหารเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นถึงอนาคตของผู้ถือหุ้นและทิศทางของ Starbucks ที่จะดำเนินต่อไป

ราคาหุ้นหลังประกาศข่าว

ในงาน Investor Day ที่ได้จัดขึ้นสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นของ Starbucks ได้รับข่าวดีถึง 2 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกคือ บริษัทคาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมต่อปีจะเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 7-9 ภายในระยะเวลาสามปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังกล่าวว่าธุรกิจในประเทศจีนอาจมีการเติบโตถึงร้อยละ 4-6 หลังจากที่รัฐบาลทำการปลดมาตรการล็อกดาวน์ ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในวันที่ 2 กันยายนเพิ่มขึ้นจาก 82.94 เหรียญสหรัฐฯ มาเป็น 91.31 เหรียญ ณ วันที่ 16 กันยายน ทางฝั่งนักวิเคราะห์หุ้นได้เฝ้ารอคอยแผนการบริหารบริษัทที่ Schultz ได้วางไว้ให้แก่ซีอีโอคนถัดไป นอกจากนี้ มีนักวิเคราะห์บางคนได้ประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทในอนาคตว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 103 เหรียญ ในไตรมาสที่กำลังจะถึงนี้

แถลงการณ์รายได้ของบริษัท

จากการประเมินล่าสุดในเดือนกันยายนนี้ ​Market Cap หรือมูลค่าตามราคาตลาดของ Starbucks อยู่ที่ 1.04 แสนล้านเหรียญ ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาร้อยละ 23.65 จากปีที่แล้วซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 1.37 แสนล้านเหรียญ ในขณะที่รายได้ล่าสุดของปี 2022 อยู่ที่ 2.38 หมื่นล้านเหรียญ โดยรายได้ของไตรมาสนี้อยู่ที่ 9.12 ล้านเหรียญ ลดลงมาจากปีที่แล้ว 1.15 พันล้านเหรียญ Starbucks ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาสสามของปีงบประมาณเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รายได้สุทธิของบริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 8.2 พันล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในขณะที่ตัวเลขยอดขายภายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 นอกจากนี้ Starbucks ยังเผยอัตราการเติบโตของสมาชิกในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนร้อยละ 13 จากสมาชิกทั้งหมดจำนวน 27.4 ล้านคน รายได้ของบริษัทนับแต่เวลาสิ้นสุดของไตรมาสสามในปีนี้อยู่ที่ 6.05 ล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากระยะเวลาเดียวกันในปี 2021 การเติบโตของตัวเลขดังกล่าวมีผลมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่ร้อยละ 8 และอัตราการเติบโตของสาขาใหม่อยู่ที่ร้อยละ 2 ตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา

เปิดงบดุลของ Starbucks

จากการประเมินหลังวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ​Starbucks มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดและเทียบเท่าเงินสดมูลค่า 3.18 พันล้านเหรียญ ลดลงมาจาก 3.91 พันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว บริษัทยังมีสินทรัพย์ในการลงทุนระยะสั้นมูลค่า 76 ล้านเหรียญ ลดลงมาจาก 82 ล้านเหรียญในไตรมาสสามของปีงบประมาณปี 2021 นอกจากนี้ บริษัทมียอดเงินรอรับชำระมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ พร้อมสินค้าคงเหลือจำนวน 2.1 พันล้านเหรียญ หนี้ระยะสั้นของบริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 1.19 พันล้านเหรียญและ 1.39 หมื่นล้านเหรียญสำหรับหนี้ระยะยาว  ปัจจุบัน Starbucks มีสินทรัพย์หมุนเวียนมูลค่า 7.07 พันล้านเหรียญ ในขณะที่สินทรัพย์ทั้งหมดมีจำนวน 2.81 หมื่นล้านเหรียญ

แผนธุรกิจของซีอีโอผู้ใกล้เกษียณ

Schultz ซีอีโอในวัย 69 ปี ได้วางแผนสำหรับการดำเนินกิจการสำหรับเวลาที่เขาเหลืออยู่ในบริษัทอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยหนึ่งในเป้าหมายที่เขาตั้งใจทำให้สำเร็จนั้นคือ การทำให้ธุรกิจ Starbucks ในประเทศจีนซึ่งจะมีการเพิ่มหน้าร้านใหม่จำนวน 3 พันสาขา สามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ แผนของ Schultz ยังรวมถึงการลงทุนเงินจำนวนหลายพันล้านเหรียญให้แก่การพัฒนาระบบร้านค้าและพนักงาน อีกทั้ง การให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น จำนวน 2 หมื่นล้านเหรียญในรูปของเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืน Schultz ยังได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มปัจจัยที่จะช่วยเร่งให้เกิดการเติบโตของบริษัทในอนาคตข้างหน้า โดยบริษัทกำลังลงทุนเงินจำนวน 450 ล้านเหรียญให้แก่สาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังแผนธุรกิจดังกล่าวนั้นคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในอดีต ลูกค้าที่มาซื้อกาแฟมักสั่งซื้อสินค้าและบริโภคที่หน้าร้าน ในขณะที่ปัจจุบัน ลูกค้าได้หันมาใช้บริการ drive-thru และสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การนำเงินไปลงทุนกับการพัฒนาระบบ operation จึงเป็นการช่วยร่นระยะเวลาของการให้บริการ นอกจากนี้ Starbucks ยังมีแผนในการพัฒนา “​Loyalty Program” โดยจะให้สิทธิสมาชิกในการสะสมแต้มหรือดาวเมื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ Starbucks ส่งผลให้ลูกค้าสามารถรวบรวมแต้มสะสมได้เร็วยิ่งขึ้น บริษัทจึงคาดว่าการเพิ่มกลยุทธ์เหล่านี้ในแผนธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10-12 เป็นร้อยละ 15-20 ภายในเวลาสามปีข้างหน้า นอกจากนี้ แผนในการซื้อหุ้นคืนของบริษัทยังส่งผลให้เหล่าผู้ลงทุนคาดหวังให้ราคาหุ้นนั้นสูงขึ้นอีกด้วย จากแผนธุรกิจของ Schultz จะเห็นได้ว่าอนาคตของ Starbucks ยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในสหรัฐฯ และจีน หากซีอีโอคนใหม่ของบริษัท Laxman Narasimhan สามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้ ผลตอบแทนของเหล่าผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นจึงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ Starbucks Stock: Starbucks’ Financial Performance Under Howard Schultz เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม:

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON