การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่พร้อมให้การสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกให้กลุ่มบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ โดยบริจาคอุปกรณ์หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ
ส่วนเจ้าของ ธุรกิจโรงแรม ประกาศผ่านเพจของโรงแรมหรือเพจส่วนตัว เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์มาใช้บริการห้องพัก เพื่อพักผ่อน อาบน้ำ พักค้างคืน บางแห่งมีบริการอาหาร โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ครอบครัว “ครูเล็ก” ภัทราวดี มีชูธน ประกาศยกอะพาร์ตเมนต์ PSB1 ทั้งตึก ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ให้แพทย์และพยาบาลที่ไม่สามารถกลับบ้านได้พักผ่อนจนกว่าภารกิจจะสิ้นสุด
โรงแรมขนาดเล็กในกรุงเทพฯ หลายแห่งที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลรัฐ แจ้งความจำนงผ่านเพจ เช่น The Quarter Residence ย่านพญาไท, Rabbitat Hostel, Bless Residence Sukhumvit Soi 33 , YELLO ROOMS Hotel Victory Monument
โรงแรมใหญ่ในต่างจังหวัดหลายแห่งก็มาร่วมบุญด้วย อาทิ โรงแรมอิสติน ตัน โฮเทล เชียงใหม่ ของ ตัน ภาสกรนที ให้บริการห้องพัก อาหาร และบริการทำความสะอาดเสื้อผ้าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563
อรรถนพ พันธุกำเหนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด ประกาศยกโรงแรม นาใต้ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จำนวน 106 ห้อง ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตกค้างในประเทศไทยได้เข้าพัก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจและจุดคัดกรองป้องกันเชื้อไวรัส
กลุ่มบริษัทโอโย โฮเทลส์ แอนด์ โฮมส์ เชนรับบริหารโรงแรมจากประเทศอินเดีย เปิดโรงแรม โอโย 419 มาลีวัลย์ จอมเทียน พัทยา และโรงแรม ณ บางลำพู กรุงเทพฯ ให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ และพัทยา เข้าพักโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดเดือนเมษายน 2563
สมชัย ฉัตรพัฒนศิริ เจ้าของโรงแรมปัญจดารา จ.นครราชสีมา แจ้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ว่าพร้อมให้ใช้เป็นโรงพยาบาลภาคสนาม โดยแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 3 ส่วน คือ เป็นที่พักของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19, เป็นสถานที่กักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งต้องกักตัว 14 วัน และเป็นที่พักของผู้ป่วยที่ต้องนอนรอผลการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการ
ส่วนโรงแรมศรีพัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมเปิดห้องพัก 183 ห้องเพื่อดูแลผู้ป่วย
รวมทั้งโรงแรมเดอะ โบนันซ่า เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของ ไพวงษ์ เตชะณรงค์
โรงแรมอัศวรรณ อ.เมือง จ.หนองคาย เปิดให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เข้าพัก และว่าหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นก็พร้อมที่จะยกให้เป็นโรงพยาบาลสนาม (มีห้องพักทั้งหมด 119 ห้อง)
ผู้บริหารโรงแรม Grand Bella พัทยา พร้อมให้ใช้โรงแรมเป็นสถานที่ควบคุมกักกันผู้ติดเชื้อในเมืองพัทยา โดยจัดแบ่งพื้นที่ของอาคาร 3 จำนวน 140 ห้อง เพื่อจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยทั้งหมดเป็นลักษณะจิตอาสา
ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลการจัดทำแผนด้านการรักษา ได้เตรียมจัดหาสถานที่ไว้เช่นกัน เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานพยาบาลไม่เพียงพอ
กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารจัดการได้ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย จัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโดยปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 (Hospitel) และโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง (Hotel Isolation) รวมทั้งเตรียมทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการแยกกักตัวเองจากครอบครัว
โดยให้โรงแรมที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (www.hss.moph.go.th) พร้อมประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่กำหนด ข้อมูลจากเว็บไซต์ ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 มีโรงแรมที่สมัครและผ่านการประเมินตนเองแล้ว 280 แห่ง
ทั้งนี้ โรงแรมที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความเหมาะสมในการตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีอยู่ 5 หมวด เมื่อผ่านการประเมินตนเองครบทุกข้อแล้ว จะจัดทำ Shopping List ให้โรงพยาบาลจับคู่กับโรงพยาบาลสนามที่มีระยะการเดินทางใกล้กัน เพื่อนำผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยเข้าพักฟื้นในโรงพยาบาลสนามต่อไป โดยมีแพทย์และพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา หลังเลิกโครงการแล้วกระทรวงสาธารณสุขจะทำความสะอาดฆ่าเชื้อให้
ด้วยวิธีการเช่นนี้ถือว่า win-win ทุกฝ่าย กระทรวงสาธารณสุขมีสถานที่รองรับผู้ป่วยและคัดแยกตามอาการ ผู้ป่วยอาการหนักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มพักฟื้นหรือต้องเฝ้าระวัง ให้พักอยู่ในโรงพยาบาลภาคสนาม ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ ส่วนโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการก็มีรายได้จากการให้ใช้สถานที่