เที่ยวบินหลงทาง - Forbes Thailand

เที่ยวบินหลงทาง

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Jul 2015 | 11:05 AM
READ 5735
เรื่อง: CHRISTOPHER เรียบเรียง: อิทธิพล จึงวัฒนาวงค์ 

(คลิ๊กเพื่ออ่านฉบับเต็ม "เที่ยวบินหลงทาง" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2015)


ในปี 2012 Delta Air Lines ทำเรื่องแปลก  ด้วยการซื้อโรงกลั่นน้ำมัน ไม่มีสายการบินใดเป็นเจ้าของโรงกลั่นแต่ผู้บริหารของ Delta นำโดย Richard Anderson CEO เชื่อว่าถึงเวลาต้องทำอะไรอย่างจริงจังกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่แสนเจ็บปวด ตอนนั้นราคาน้ำมันสูงอย่างน่าตกใจอยู่ที่กว่า 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนเครื่องบินของ Delta ก็เผาผลาญเชื้อเพลิงเฉลี่ย 260,000 บาร์เรลต่อวันซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของต้นทุนทั้งหมด

ตอนนั้น Delta ประเมินว่าบรรดาโรงกลั่นกวาดกำไรไป 2.2 พันล้านเหรียญ จากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของบริษัทปีละ 1.2 หมื่นล้านเหรียญ Anderson กับทีมงานของเขาประเมินว่าถ้า Delta ผลิตน้ำมันเครื่องบินจากโรงกลั่นของตัวเอง สายการบินจะสามารถเก็บตัวเลขกำไรบางส่วนเอาไว้ได้ เหตุนี้พวกเขาจึงทุ่มเงิน 180 ล้านเหรียญ ลงไปซื้อโรงกลั่นเก่า Phillips 66 ในเมือง Trainer ซึ่งอยู่ใกล้กับเมือง Philadelphia ในรัฐ Pennsylvania

สองปีครึ่งผ่านไป “การซื้อขายครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องโง่เง่ายิ่งกว่าเดิมเสียอีก” Ed Hirs นักเศรษฐศาสตร์พลังงานและอาจารย์มหาวิทยาลัย Houston กล่าว Delta สูญเงิน ไปแล้ว 420 ล้านเหรียญไปกับโรงกลั่นน้ำมันซึ่งการขาดทุนราว 100 ล้านเหรียญ แต่อย่างน้อยบริษัทก็มีต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงถูกลงไม่ใช่รึ เปล่าเลย ก่อนซื้อโรงกลั่น Delta ซื้อเชื้อเพลิงถูกกว่าสายการบินอื่นๆ  9 เซนต์ต่อแกลลอน  แม้เป็นเจ้าของโรงกลั่นแล้ว ส่วนต่างดังกล่าวก็ยังคงเดิม ขณะเดียวกันตรรกะของการเป็นเจ้าของโรงกลั่นเองก็แทบจะหายไปหมดเพราะราคาน้ำมันตกฮวบ ขณะที่ส่วนต่างกำไรของโรงกลั่นจากเชื้อเพลิงเครื่องบินก็ลดลงเช่นกัน

“ถึงแม้คุณจะดำเนินธุรกิจตัวนี้ได้ดีพอ ๆ กับคนอื่น  แต่ค่าเสียโอกาสของพลังงานเชื้อเพลิงก็ยังคงถูกกำหนดโดยตลาดโลกอยู่ดี” Richard Langlois ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Connecticut กล่าว “มันจะฟังดูเข้าท่าหากว่าคุณสามารถบริหารโรงกลั่นนี้ได้ดีกว่าเจ้าอื่น ๆ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้กับสายการบิน”

แล้วความผิดพลาดอยู่ตรงไหน คำตอบคือทุกอย่างเลย แต่ปัญหาใหญ่สุดคือการซื้อโรงกลั่นไม่ใช่วิธีป้องกันตัวเองจากราคาเชื้อเพลิงที่ผันผวน เพราะว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริงอยู่ที่น้ำมันไม่ใช่การกลั่น “นี่คือการตัดสินใจที่ผิดพลาดยิ่ง พอๆ กับ การซื้อร้านเบเกอรี่เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาขนมปังที่สูงขึ้นนั่นแหละ” Hirs กล่าว “หากว่าคุณต้องการป้องกันความเสี่ยงจากราคาขนมปัง คุณควรซื้อทุ่งข้าวสาลีแทน เช่นเดียวกัน หากคนพวกนี้อยากจะสู้กับราคาเชื้อเพลิงสิ่งที่พวกเขาควรทำคือซื้อบ่อน้ำมันที่ประกาศขายในราคาถูกอยู่ดาษดื่นตอนนี้”

เมื่อพิจารณาจากเส้นทางของโครงการ Trainer จะพบว่าโครงการนี้ไม่ใช่แผนธุรกิจที่ดี ถ้าย้อนเวลาไปได้ สิ่งที่ Delta ควรทำคือรอให้ราคาน้ำมันตกลง แล้วทำสัญญาระยะยาวซื้อน้ำมันถูก ในตลาดล่วงหน้าดีกว่า แต่ในความเป็นจริงบริษัทยังผูกติดกับฝันร้ายราคาแพง โฆษกของ Delta กล่าวว่าบริษัทจะยังยึดมั่นกับโครงการ Trainer ต่อไป “โรงกลั่นนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับ Delta และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางพลังงานโดยรวมของเราในฐานะมาตรการเชิงรุกในเรื่องราคาพลังงานเชื้อเพลิงเครื่องบินมากกว่าที่เราจะยอมตกเป็นเหยื่อความผันผวนของตลาดพลังงานโลก”

โรงกลั่นนี้ทรุดโทรมมากจนต้องปิดตัวลงเมื่อขายให้ Delta ต่อมาถูกปรับปรุงให้ มีความสามารถกลั่นน้ำมันดิบที่ 185,000 บาร์เรลต่อวัน ทาง ConocoPhillips  ตัดสินใจโละโรงกลั่นนี้ทิ้งก่อนหน้าจะแยกธุรกิจโรงกลั่นออกเป็น Philips 66 เสียอีก เพราะพวกเขามีโรงกลั่นคุณภาพดีกว่าใน New Jersey แล้ว เมื่อตอนขออนุญาตผู้ถือหุ้นของสายการบินซื้อโรงกลั่นนี้ Delta อธิบายว่า ราคาขายที่ 180 ล้านเหรียญถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับเงินให้เปล่าที่ได้จากรัฐบาลมลรัฐ Pennsylvania 30 ล้านเหรียญ และมูลค่าของโรงกลั่นใหม่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญ อย่างไรก็ดีราคาประเมินดังกล่าวยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายต่อเนื่องด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งซ่อนอยู่ในดินใต้โรงกลั่นโดยทาง Delta ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลข

แผนซื้อโรงกลั่นเป็นความผิดพลาดก้าวใหญ่ที่หาได้ยากจากสายการบินที่มีการบริหารเยี่ยมที่สุดในอเมริกา หลังฟื้นตัวจากการล้มละลายในปี 2007 Delta ได้ลดงบดุล เพิ่มเงินปันผล ซื้อหุ้นคืน จัดการปัญหากับสหภาพแรงงานอย่างชะงัด และยังเดินหมากอย่างชาญฉลาด เช่น ซื้อหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ของ Virgin Atlantic คาดการณ์กำไรสุทธิของ Delta ในปี 2014 อยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญ ส่วนหุ้นก็ขึ้นไปถึง 400 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสามปีที่ผ่านมา “แผนโรงกลั่นคือการเดินหมากที่ทำเอาคนอ้าปากค้างเลย” Michael Derchin นักวิเคราะห์จาก CRT Capital Group กล่าวไว้

ตั้งแต่ปี 2012 Delta มีสายส่งบำรุงนำมันเครื่องบินพร้อมอยู่แล้ว มีคลังน้ำมัน เครือข่ายท่อส่งน้ำมันครบครัน และเทรดเดอร์น้ำมันมือดี ทางการสายการบินเห็นว่าการเปิดเดินเครื่องโรงกลั่นอีกครั้งคือการเพิ่มซัพพลายปริมาณน้ำมันเครื่องบินจำนวนมหาศาลเข้าไปในตลาด เป็นแผนการที่ชาญฉลาดในการลดราคาเชื้อเพลิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ “โรงกลั่นนี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นเครื่องจักรทำกำไรจริงๆ” Julie Yates นักวิเคราะห์แห่ง Credit Suisse กล่าว “ที่จริงแล้วจุดมุ่งหมายคือให้เป็นตัวช่วยด้านปริมาณน้ำมันในตลาด”

พิจารณาจากผลงานก็ต้องถือว่าแผนการนี้ใช้ได้ผลเพราะช่วยลดราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินได้บ้าง สำหรับ Delta และทุกสายการบินที่บินออกจาก New York และ Philadelphia ด้วย บางที Delta อาจจะอยากเรี่ยไรเงินทุนถึงได้เลือกเดินแผนการกุศลนี้ เหตุเพราะในปี 2012 Delta ลงทุนไป 180 ล้านเหรียญเพื่อปรับปรุงโรงกลั่นให้มีความทันสมัยส่งผลให้บริษัทขาดทุนไป 63 ล้านเหรียญ พอถึงปี 2013 บริษัทยังเพิ่มค่าใช้จ่ายอีก 52 ล้านเหรียญซึ่งมาพร้อมกับตัวเลขขาดทุน 116 ล้านเหรียญ ในปลายปีนั้น Ed Bastian กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสายการบิน (president) กล่าวว่าโรงกลั่นกำลังประสบกับ “อาการปวดจากการงอกของฟันซี่ใหม่”

อาการปวดดังกล่าวยังรวมถึงต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายตามระเบียบปฏิบัติของรัฐบาลกลางด้วย เนื่องจากโรงกลั่นใน Trainer ไม่สามารถผสม เอทานอลลงไปในนำมันเบนซินที่โรงกลั่นผลิตเอง ส่งผลให้ Delta ต้องจ่ายหลายล้านเหรียญต่อปีเพื่อซื้อสิ่งที่เรียกว่า blending credit จากรัฐบาล (Delta แพ้คดีทางกฎหมายต่อหน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อม EPA ในเรื่องนโยบายดังกล่าว)

พอถึงจุดนี้ Delta จึงหันไปเช่าเรือน้ำมันเพื่อขนส่งน้ำมันดิบจากอ่าวชายฝั่ง Texas ไปยัง Trainer และสั่งให้สร้างเรือขนส่งลำใหม่เพื่อช่วยกันทำภารกิจนี้ ทว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันดิ่งลงความแตกต่างทางราคาของน้ำมันดิบจากไนจีเรีย กับ Bakken กลับหายไป

Delta ยังพยายามแสร้งมีความหวังกับ Trainer ต่อไป หลังจากอัดเงินเข้าไปในโรงกลั่นอีก  40 ล้านเหรียญในปี 2014 Delta กล่าวว่าจากการแสดงตัวเลขในเดือนธันวาคมพบว่า Trainer สามารถทำกำไรได้ในไตรมาสที่สี่ของปีเพราะราคาเชื้อเพลิงไม่ได้ตกลงเร็วเท่ากับน้ำมันดิบ

แต่กำไรเล็กๆ นี้ก็ทำท่าจะระเหยไปในอากาศ  เพราะว่าบริษัทมีสต็อกจำนวนมากของผลิตภัณฑ์น้ำมันที่กลั่นแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันเครื่องบินกำลังตกลงไล่ตามราคาน้ำมันดิบ นักวิเคราะห์คาดว่าค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยในสหรัฐจะตกลงจากราว 17 เหรียญต่อบาร์เรลในไตรมาสแรกของปี 2014 มาอยู่ที่ 7.50 เหรียญต่อบาร์เรลในปีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น Delta คงต้องยอมสูญเงินออมอีก 1.5 พันล้านเหรียญไปกับ โครงการป้องกันความผันผวน (hedge) ของราคาเชื้อเพลิงส่วนที่เหลือ เราพบว่าบรรดานักค้าน้ำมันในตลาดล่วงหน้าของ Delta ทำสัญญาเมื่อปี 2014 ว่า จะลดความเจ็บปวดที่ Delta ได้รับหากว่าราคาพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นโดยยอมทิ้งผลประโยชน์บางส่วนที่ Delta อาจได้รับหากว่าราคาพลังงานตกลง

Paul Jacobson CFO ให้ความเห็นไว้ว่า Delta จะได้ประโยชน์จากการดิ่งลงของราคาน้ำมันเพียงสองในสามส่วน ดังนั้น ในปีนี้ Delta จะประหยัดค่าเชื้อเพลิงไปได้เพียง 2 พันล้านเหรียญ ทั้งที่ความจริงแล้วบริษัทสามารถประหยัดเงินได้ถึง 3.5 พันล้านเหรียญโดยไม่ต้องลงทุนประกันความเสี่ยงด้านราคาพลังงานเลย

ไม่ใช่ว่าทุกสายการบินจะเลือกความพยายามที่แสนทรมานแบบนี้เพื่อจัดการกับค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ในทางตรงข้าม American Airlines ไม่เฮดจ์ราคาเชื้อเพลิง ไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน และยังมีเรื่องปวดหัวน้อยกว่าด้วย บางทีคงถึงเวลาที่ Delta ต้องทำแบบเดียวกันแล้ว

คลิ๊กเพื่ออ่านฉบับเต็ม "เที่ยวบินหลงทาง" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2015